เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

สำรวจแนวคิด Chiang Mai Design Week 2024 ผ่านมุมมองของ 4 นักสร้างสรรค์ชั้นนำ

SCALING LOCAL: Creativity, Technology, Sustainability คือแนวคิดหลักในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ เทศกาลที่ชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจศักยภาพของท้องถิ่นในภาคเหนือที่เรามี ก่อนจะหาวิธีต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อทำให้ระบบนิเวศสร้างสรรค์ในบ้านเรามีความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมให้ผลงานจากผู้คนในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสในการเฉิดฉายบนเวทีโลกทั้งนี้ CMDW มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าคณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้ง 4 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักออกแบบและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทย ไปดูมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับแนวคิด SCALING LOCAL ทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภาคเหนือ และภาพรวมในผลงานที่มาร่วมแสดงในเทศกาลปีนี้ไปพร้อมกันงานสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบและเทคโนโลยีก็ไม่ใช่แค่คนในแวดวง ITวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ผู้ก่อตั้ง Asiatides Paris และเจ้าของ Wit’s Collection“ในฐานะที่ผมทำ Asiatides ที่เป็นตัวกลางสรรหาสินค้าออกแบบระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในเอเชียและยุโรปมาหลายสิบปี ผมตระหนักดีว่างานออกแบบของนักสร้างสรรค์ในภาคเหนือเรามีความประณีตและงดงามมาก รวมถึงงานของคนรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืองานหลายชิ้นอาจจะยังไปไม่ถึงผู้ซื้อ ซึ่งอาจด้วยกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างทำได้จำกัด การตลาด หรือขาดตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงสินค้าถึงผู้ซื้อ แต่นั่นล่ะ เพราะมันไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ เราจะขายผลงานของเราออกไปในวงกว้างยังไง …“ในส่วนของภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมคิดว่าเราได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่จะดีมาก ๆ ถ้าสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลงานมาร่วมแสดงมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำบอร์ดโครงงาน แต่เป็นการนำไอเดียมาผลิตเป็นผลงานตัวอย่างจริง ๆ ให้ชม สิ่งนี้มันช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ ที่มาดูงานได้เยอะ เพราะเอาเข้าจริง ในเทศกาลฯ เรามีโปรแกรมพวกโชว์เคสของมืออาชีพ เวิร์กช็อป หรือ Business Matching ที่พอสนับสนุนผู้คนในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีพื้นที่แสดงผลงานจากสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้ เทศกาลฯ จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใช่เฉพาะแค่นักศึกษาในภาควิชาออกแบบให้มาสนใจได้ …“ผมว่าหลายคนยังติดภาพว่าเทศกาลออกแบบมันเป็นเรื่องของคนในแวดวงงานออกแบบหรือศิลปะ ขณะที่ดีไซน์วีกในต่างประเทศ เราจะเห็นคนที่มาร่วมแสดงงานมาจากสายวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักออกแบบไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอื่น ๆ จริงอยู่ที่ชื่อมันคือ Design Week แต่ Design ในที่นี้มันไม่ใช่แค่ Designer แต่เป็นการดีไซน์อะไรก็ตาม ที่มันช่วยให้เราสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น มีสุนทรียะขึ้น ไปจนถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเราได้ เพราะงานสร้างสรรค์มันไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เป็นแนวคิดของเทศกาลในปีนี้ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในแวดวง IT แต่มันหมายถึงสิ่งที่แวดล้อมวิถีชีวิตของเราทุกคน”งานคราฟต์ + เทคโนโลยี = ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอมรเทพ คัชชานนท์ผู้ก่อตั้ง AmoArte และที่ปรึกษา The Design & Objects Association (D&O)“เท่าที่ดูภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมเห็นว่าทิศทางของงานสร้างสรรค์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงการอธิบายที่มาที่ไปของการใช้วัสดุซึ่งสอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากธีมของเทศกาลปีนี้ ประเด็นด้านเทคโนโลยีอาจยังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าใดนัก อาจจะเพราะงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ในภาคเหนือจะเป็นงานคราฟต์ นักออกแบบเลยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก …“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ถ้าเรานำมิติด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ อาจไม่ต้องถึงกับเทคโนโลยีขั้นสูงหรือจักรกลโรงงานอะไร แค่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ผมว่าสิ่งนี้มันช่วยยกระดับงานคราฟต์ที่มีได้มากเลยนะ ที่พูดแบบนี้ต้องออกตัวว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการผลิตผลงานด้วยมือในทุกกระบวนการแบบ 100% นะ นี่คือเสน่ห์ของงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่และภาคเหนืออย่างไม่อาจปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมองถึงแง่มุมความยั่งยืนด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ ผมว่าการเปิดรับเทคโนโลยีให้มาช่วยด้วยเป็นเรื่องจำเป็น”นวัตกรรมสร้างตัวตนปิยนันท์ มหานุภาพที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX)“หลายปีหลังมานี้งานออกแบบที่พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ หรืองานสร้างสรรค์แนวมัลติมีเดียได้รับความนิยมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองมากไปกว่านั้น ถ้าเราสนใจในกระบวนการคิดและผลิตเชิงนวัตกรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ อาทิ เทคโนโลยีเส้นใยผ้า หรือการนำวัสดุธรรมชาติมาผสานกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า เหล่านี้มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานสร้างสรรค์ของเรามีความยูนีคไม่เหมือนใคร และทำให้แบรนด์ของเรามีตัวตนที่ชัดเจน …“ผมยกตัวอย่างแบรนด์หนึ่งที่เขานำเศษใบไม้มาต่อยอดเพื่อการผลิตเป็นวัสดุทดแทนหนัง ขณะเดียวกันเขาก็ได้นำนวัตกรรมนี้ไปจดสิทธิบัตร และนำมาผลิตเป็นสินค้า โดยชูเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ ตรงนี้แหละคือปลายทางของความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนมันไม่ใช่เพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการที่แบรนด์ของคุณต้องอยู่ให้ได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือแบรนด์คุณต้องมีความโดดเด่น และมีทิศทางที่สอดรับไปกับกระแสของโลก มันอาจจะเริ่มจากแนวคิดเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่ถ้าธุรกิจคุณอยู่ได้ แบรนด์คุณก็จะเติบโต และถ้าแบรนด์คุณเติบโตโดยมีรากฐานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือหัวใจของความสำเร็จ”อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่การได้เห็นพัฒนาการระหว่างทางคือสิ่งสำคัญสุเมธ ยอดแก้วเจ้าของค่ายเพลง Minimal Records และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่“ดีไซน์วีกปีนี้ผมดูสองส่วน คือเป็นคณะกรรมการพิจารณางานโชว์เคส กับเป็นผู้จัดงาน LABBfest. ที่เป็นอีเวนท์ด้านดนตรีของศิลปินในภาคเหนือ พูดถึงเรื่องแรกก่อน ปีนี้ ผมเห็นว่ามีผู้เข้าทำโชว์เคสหลายรายที่เคยมาร่วมแสดงกับเทศกาลในปีก่อน ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงการนำเสนอ การทำแบรนด์ดิ้ง ไปจนถึงวิธีคิดในการต่อยอดในเชิงธุรกิจ งานโชว์เคสหลายชิ้นมีกระบวนความคิดในเชิงงานวิจัยทางศิลปะที่เล่นล้อไปกับช่วงเวลา ฤดูกาล บริบทของพื้นที่ หรือความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงผู้ชมให้ไปคิดต่อได้ อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาในมิติด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของเทศกาล อาจจะต้องมีการนำเสนอหรือต่อยอดให้มากกว่านี้ …“แต่นั่นล่ะ ผมมองว่าดีไซน์วีกหรือเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ มันไม่ใช่แค่การนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการได้เห็นพัฒนาการหรือกระบวนการทำงานของนักสร้างสรรค์แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน เพื่อเป็นบทเรียนหรือเป็นแรงบันดาลใจ การที่เราได้เห็นนักสร้างสรรค์หน้าเดิม ซึ่งมีผลงานที่มีแนวคิดต่างไปจากเดิม หรือมีพัฒนาการกว่าเดิม หรือกระทั่งจุดด้อยที่ถ้ามีการปรับแก้ หรือต้องอาศัยประสบการณ์มากกว่านี้ถึงจะสมบูรณ์ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของเทศกาลฯ …“ขณะที่งาน LABBfest. ก็เช่นกัน นอกจากในปีนี้ที่เราจะขยายสเกลให้มากขึ้น รวมถึงมีการชักชวนผู้จัดเทศกาลดนตรีในญี่ปุ่นมาดูงานแสดงของศิลปินท้องถิ่น ควบคู่ไปกับโปรโมเตอร์จากค่ายเพลงที่เราเชิญมาอยู่แล้วในงาน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็หวังว่านี่มันจะเป็นโอกาสให้ศิลปินในบ้านเราได้มีช่องทางเพิ่มมากขึ้น …“ผมว่าทั้งแวดวงนักสร้างสรรค์และวงการดนตรีของเชียงใหม่มีความคล้าย ๆ กันอยู่ ตรงที่เรามีระบบนิเวศด้านพื้นที่และโอกาสค่อนข้างมาก มีคนทำงานฝีมือดี ๆ เยอะแยะ แต่สิ่งที่ขาดคือคาแรกเตอร์หรือความเฉพาะตัวที่ทำให้ผลงานของพวกเขาโดดเด่นหรือแตกต่างกว่าคนอื่น ๆ สิ่งนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์และการขัดเกลา และการได้เห็นผลงานของคนอื่น ๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลหรืออีเวนท์ประมาณนี้เยอะ ๆ จะช่วยได้มาก”

Sustainability Pavilion เบื้องหลังพาวิลเลียน Chiang Mai Design Week 2024

งานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567 หรือ Chiang Mai Design Week 2024 ครั้งนี้ นำเสนอผลงานที่เน้นการออกแบบเพื่อความยั่งยืนเป็นหลัก โดยพาวิลเลียนของเทศกาลในปีนี้ได้รับการออกแบบโดยสองนักออกแบบชื่อดัง คือ รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ หรือ “อบ” และ ระพีพัฒน์ แก้วทิพย์ หรือ “ปูน” สองนักออกแบบที่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างสรรค์ผลงานที่ไม่เพียงสวยงาม แต่ยังคำนึงถึงการใช้งานและความคุ้มค่าของทรัพยากรในระยะยาว พาวิลเลียนในครั้งนี้สะท้อนถึงแนวคิดที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การใช้วัสดุธรรมชาติหรือรีไซเคิล แต่ยังเน้นการออกแบบที่ง่ายต่อการประกอบ การจัดเก็บ และการนำกลับมาใช้ซ้ำในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหัวใจของการออกแบบอย่างยั่งยืนอบ-รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ มีพื้นฐานมาจากการเป็นนักออกแบบนิทรรศการและที่ปรึกษาด้านการออกแบบในกรุงเทพฯ แต่ได้ย้ายมาทำงานที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2019 โดยมีผลงานที่ได้รับความสนใจในระดับประเทศ เขามีความเชี่ยวชาญในการออกแบบนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ที่มุ่งเน้นความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้วัสดุใหม่ๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนปูน-ระพีพัฒน์ แก้วทิพย์ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่โดยกำเนิด เป็นสถาปนิกที่จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปูนได้ก่อตั้งสตูดิโอของตัวเองในชื่อ “มือจา” ที่ออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมุ่งเน้นการใช้งานที่คุ้มค่าและการผลิตที่สอดคล้องกับหลักการออกแบบเพื่อความยั่งยืนด้วยความร่วมมือและความเข้าใจในแนวคิดที่สอดคล้องกัน การออกแบบพาวิลเลียนสำหรับเทศกาลในปีนี้เป็นความท้าทายใหม่สำหรับทั้งอบและปูน ทั้งสองได้ร่วมกันพัฒนาแนวคิดที่ไม่เพียงคำนึงถึงความสวยงามหรือความเป็นศิลปะ แต่ยังเน้นไปที่การใช้งานจริงของโครงสร้างที่สามารถประกอบและจัดเก็บได้ง่าย เหมือนกับการตั้งแผงขายของในตลาด พาวิลเลียนถูกออกแบบให้สามารถขนย้ายและประกอบได้โดยใช้แรงงานท้องถิ่นทั่วไป ไม่จำเป็นต้องใช้ทีมช่างผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนี่ถือเป็นความพยายามในการลดต้นทุนการประกอบและการบำรุงรักษาในระยะยาวในด้านวัสดุที่ใช้ อบและปูนได้คำนึงถึงการนำวัสดุที่เหลือจากงานเทศกาลปีก่อนๆ มาใช้ใหม่ เช่น แผ่นโพลีคาร์บอเนต และแผ่นไม้อัดที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ดี นอกจากนี้ ยังมีการนำโครงสร้างเก่าจากเทศกาลที่ผ่านมามาปรับใช้ในรูปแบบของ info board เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากวัสดุที่มีอยู่ แนวคิดในการเลือกใช้วัสดุเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะในระยะยาว โดยทั้งอบและปูนมีเป้าหมายให้พาวิลเลียนในปีนี้เป็นต้นแบบของการออกแบบที่สามารถนำไปใช้ต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศได้ ไม่จำกัดเพียงแค่ในเชียงใหม่เท่านั้นแม้ว่าพาวิลเลียนในปีนี้จะเน้นไปที่ความยั่งยืนในด้านการใช้งานและการจัดการวัสดุ แต่งานนี้ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงแค่การใช้วัสดุธรรมชาติในการตกแต่ง พวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้วัสดุธรรมชาติที่มีอายุการใช้งานสั้นและไม่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ง่าย แต่กลับเน้นไปที่ระบบการจัดเก็บและขนย้ายที่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่แสดงถึง “ความเขียว” อย่างผิวเผิน พาวิลเลียนถูกออกแบบมาให้สามารถใช้งานได้จริงและง่ายต่อการดูแลรักษา ซึ่งเป็นการตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนในระยะยาวอย่างแท้จริงอีกหนึ่งความโดดเด่นของพาวิลเลียนในปีนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาตกแต่งหรือปรับเปลี่ยนพาวิลเลียนได้เองตามความต้องการ โดยโครงสร้างพื้นฐานของพาวิลเลียนที่อบและปูนออกแบบไว้นั้นมีความเรียบง่ายและยืดหยุ่นพอที่จะรองรับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงนิทรรศการ การแสดงสด หรือแม้กระทั่งงานเปิดตัวต่าง ๆ การออกแบบที่คำนึงถึงการใช้งานหลากหลายนี้ไม่เพียงแต่เพิ่มคุณค่าให้กับพาวิลเลียน แต่ยังสะท้อนถึงความตั้งใจของนักออกแบบที่ต้องการให้โครงสร้างนี้เป็นมากกว่าเพียงสถานที่จัดแสดง แต่เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานแนวคิดเรื่องความยั่งยืนที่อบและปูนนำมาใช้ในการออกแบบพาวิลเลียนครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการออกแบบที่มุ่งเน้นการใช้งานระยะยาวและการจัดการวัสดุอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสของโลกในปัจจุบัน แต่เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการออกแบบที่คิดถึงอนาคตในทุกมิติ

ย่านสร้างสรรค์ = พื้นที่ของทุกคน

Upper Floor Project และ Green Garden  เชียงใหม่ เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ หากก็กำลังประสบกับปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาไม่น้อย อาทิ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (gentrification) การขาดแคลนของพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจ ในปีนี้ CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนโครงการในย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองอย่าง ‘ช้างม่อย – ราชวงศ์’ เริ่มจากโครงการ Upper Floor ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนิทรรศการชื่อเดียวกันในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เมื่อปีก่อน โครงการชี้ชวนให้คนในย่านกลับมาสำรวจพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ของตัวเอง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่ทางธุรกิจ รวมถึงการสำรวจความต้องการถึงรูปร่างหน้าตาหรือรูปแบบของกิจการสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แนวตั้ง รวมถึงพื้นที่ว่างในย่านที่หลายคนอาจมองข้าม จึงนำมาสู่การเปิดพื้นที่ Upper Floor 2 แห่งใหม่ (ต่อจากอาคารมัทนาที่ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการเมื่อปีที่แล้ว) ได้แก่ ‘บ้าน 2 ชั้น บนถนนช้างม่อยเก่า’ และ ‘The Goodcery Chiang Mai’ บนถนนราชวงศ์ พร้อมทั้งได้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ 4 กลุ่มที่นำร่องเข้ามาใช้พื้นที่ทั้งสอง ได้แก่ กลุ่มศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ Basement Performance Arts และแบรนด์เสื้อผ้า Longgoy Studio (ใช้พื้นที่บ้าน 2 ชั้น) กลุ่มศิลปินพำนัก 888 Studio Residency และแบรนด์เสื้อผ้า Thee (ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของ The Goodcery Chiang Mai) ซึ่งต่างเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ดั้งเดิมให้กลายเป็น สตูดิโอซ้อมการแสดง แกลเลอรีศิลปะ และโชว์รูมจำหน่ายสินค้าตามลำดับ ทั้งนี้ นักสร้างสรรค์ทั้ง 4 กลุ่มยังได้ทำเวิร์กช็อปร่วมกับผู้คนในย่านทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนในพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับการทำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับทุกคนอีกด้วย ไม่เพียงแค่สร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุน ในย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ ยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจอย่าง Green Garden หรือโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนผักสำหรับคนในย่าน สวนแนวตั้ง และการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมทางให้มีความร่มรื่นส่งเสริมการเดินเท้ามากขึ้น ส่งเสริมภูมิทัศน์และบรรยากาศย่านให้น่าอยู่ตามมาอีกด้วย

ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น: สนทนากับ พิชิต วีรังคบุตร

แม้จะผ่านไปเพียงครึ่งปี หากกล่าวได้ว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มีความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงการประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ หรือ New TCDC เพิ่มอีกถึง 10 จังหวัดทั่วประเทศ CEA ยังมีส่วนสนับสนุนให้เกิดเทศกาลสร้างสรรค์จากเหนือจรดใต้ ทั้งในเชียงราย ขอนแก่น และสงขลา รวมถึงเพิ่งประกาศธีมหลักสำหรับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดที่เชียงใหม่เดือนธันวาคมนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เท่านั้นยังไม่พอ CEA ยังได้จับมือกับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองผ่านเครื่องมือ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ในโครงการ ‘เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย’ (Thailand Creative District Network : TCDN) ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนใน 5 จังหวัดในภาคเหนือ (เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และพิษณุโลก) ไปแล้ว  “หนึ่งในภารกิจหลักของ CEA คือการกระจายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ส่วนภูมิภาค เราตั้งใจจะสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับท้องถิ่น กิจกรรมอันหลากหลายที่ใช้กระตุ้นองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดจึงต้องเกิดขึ้นด้วย” พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ CEA หนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนที่ว่า กล่าวSCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่เพิ่งประกาศธีมในการจัดงานในชื่อ SCALING LOCAL : Creativity, Technology and Sustainability พร้อมรายชื่อของเหล่านักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ไป ในฐานะที่พิชิตคือหนึ่งในกรรมการคัดสรร และผู้ร่วมร่างแนวคิดหลักของเทศกาลในปีนี้ เราจึงชวนเขาพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังและความคาดหวังที่จะได้เห็นเทศกาลใหญ่ในปลายปีนี้  “ตามชื่อของธีมเลยครับ SCALING LOCAL คือแนวคิดที่เราอยากเทียบสเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่ามีผลงานของนักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในภาคเหนือไม่ใช่น้อยที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่นเดียวกับการเห็นแนวโน้มศักยภาพของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้  “ส่วนคำว่า Creativity, Technology และ Sustainability ผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ดีไซน์วีกก็ได้ใช้องค์ประกอบนี้ในการจัดงานมาตลอด เพียงแต่ครั้งนี้ เรานำ 3 คำนี้มาไฮไลท์ให้เด่นชัดขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณากับบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราจะยึดโยงอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือต้นทุนของความเป็นเมืองหัตถกรรมของภาคเหนืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี (Technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า รวมถึงการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานสร้างสรรค์ที่ผสานกับเทคโนโลยีแล้วให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม และโมเดลของการทำธุรกิจ” พิชิต เล่า “ในอีกแง่มุม ผมมองว่า Scaling Local มันคือการทำห้องทดลองด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะอันที่จริง การคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในเทศกาลฯ เราไม่ได้มองว่าผลงานทั้งหมดคือผลสำเร็จของนักออกแบบหรือผู้ประกอบการ แต่เป็นการทำให้ผู้ชมได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างทางที่ชวนให้ทุกคนนำไปคิดต่อยอดหรือเป็นแรงบันดาลใจ บางผลงานที่ได้จัดแสดงอาจอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เราก็อาจช่วยเขาคิดต่อ รวมถึงการได้จัดแสดงในเทศกาลฯ ผ่านสายตาของผู้ชมที่หลากหลาย เหล่านี้มันมีผลต่อการยกระดับงานออกแบบของผู้เข้าร่วมงานอย่างเห็นได้ชัด “ซึ่งสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญ เราไม่ได้จัดดีไซน์วีกขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความสวยงามของเมือง หรือแค่ทำนิทรรศการเท่ ๆ หรือวางประติมากรรมสวย ๆ ไว้ตามจุดต่าง แต่มันเป็นการทดลองความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผู้ที่มาร่วมแสดงงาน อย่างที่คุยเมื่อกี้ เครื่องยนต์อะไรที่มันทำงานอยู่แล้วในเมือง ก็ให้ทำงานต่อไปเถอะ หน้าที่ของเทศกาลฯ คือการเชื่อมหรือสร้างให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้มาช่วยขับเคลื่อนเมือง “อย่าลืมว่าเทศกาลมันมีแค่ 9 วัน สิ่งสำคัญคือหลังจากนั้นต่างหากว่ามันจะไปตั้งคำถามหรือเปิดประเด็นอะไรต่อให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง แต่ระหว่าง 9 วันนั้น เราก็จำเป็นต้องเปิดศักยภาพของเมืองให้เต็มที่ ให้เห็นว่าย่านไหน ซอยไหน หรือพื้นที่ไหนมันสามารถไปต่อยอดเศรษฐกิจของเมืองได้ “ยกตัวอย่างนิทรรศการ Upper Floor ปีที่แล้ว ที่ช่วยจุดประกายการรับรู้การใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ในย่านการค้า ซึ่งมันอาจมารับมือความท้าทายเรื่องค่าเช่าที่นับวันจะสูงขึ้นทุกทีในย่านการค้าซึ่งเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก เพราะความสำคัญของเทศกาลคือเรื่องนี้ การสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และหาวิธีหนุนเสริมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ให้ความเป็นไปได้นั้นสามารถแก้ปัญหาของเมือง หรือทำให้ผู้คนในเมืองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันจึงต้องดูทำกันต่อไป และคิดกับมันต่อไป” พิชิต กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี

เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี: สนทนากับ ชา – สุพิชา เทศดรุณ Chiang Mai Originalตลอดเวลาหลายสิบปีที่แวดวงดนตรีอินดี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ๆ แล้วเกิดขึ้นมาจากการมีชายผมยาวคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ชา-สุพิชา เทศดรุณ หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า “ชา ฮาโม” เป็นสมญาที่มาจากชื่อวงเก่าของเขาอย่าง Harmonica Sunriseชา เป็นชายหนุ่มที่มีใจรักในเสียงเพลงจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ย้ายเข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ผลิตผลงานเพลงของตนเองออกสู่สายตาผู้ฟังทั้งในนามวง Harmonica Sunrise วงคณะสุเทพการบันเทิง และผลงานเดี่ยวในนาม ChaHarmo นอกจากการสร้างผลงานของตนเอง ชายังคอยเป็นคนกลางประสานจัดงานดนตรีต่าง ๆ ภายในจังหวัด และล่าสุดกับการเคลื่อนไหวในนาม Chiang Mai Original ที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้วงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีโอกาสแสดงผลงานให้คนรู้จักการคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีมาเป็นเวลานาน และมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานดนตรีในต่างประเทศ ทำให้ชาได้เห็นตัวอย่างว่า ที่ต่างประเทศเขาสามารถใช้ดนตรีเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้ และสิ่งที่เขาเห็นนี้กลายเป็นความฝันที่เขาตั้งใจว่าจะกลับมาทำกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ดนตรีนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งเกิดเป็นงาน High HO Chiang Mai (ไฮโฮะ เชียงใหม่) ที่เขาและเพื่อน ๆ ตั้งใจจะใช้ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วงหน้าฝนที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของจังหวัด โดยนำวงดนตรีเชียงใหม่กระจายไปเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อชักชวนให้คนได้มาเที่ยวเชียงใหม่และรับชมดนตรีไปในตัว โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึง วันที่ 30 ตุลาคม 2567“ไอเดียการทำเทศกาล High Ho Chiang Mai จริง ๆ มันเริ่มต้นมาจากการที่เราเคยทํางานดนตรีเพื่ออย่างอื่นมาเยอะแล้ว คราวนี้เราอยากจะลองทําดนตรีเพื่อดนตรีดูบ้าง มันเป็นความคิดที่อยู่ในใจเรามานานแล้ว คือ ที่เชียงใหม่เรามีวงดนตรีเจ๋ง ๆ เยอะมากเลย แต่กว่าที่ผลงานของพวกเขาจะดังได้ปรากฏว่าวงพวกนี้ต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ตลอดเลยถึงจะมีโอกาส แต่เราก็จะเห็นว่า หลาย ๆ คนก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ ประกอบกับปัจจุบันเราเห็นว่ามีวงดนตรีเกิดขึ้นในเชียงใหม่จำนวนมากเลย งั้นเราจะทำยังไงได้บ้างถึงจะทำให้วงดนตรีเหล่านี้สามารถผลิตผลงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้ เราก็เลยก่อตั้ง Chiang Mai Original ขึ้นมาChiang Mai Original ที่ชาก่อตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่สนับสนุนให้ธุรกิจดนตรีในเชียงใหม่เกิดความเป็นยั่งยืน โดยเข้าไปสนับสนุนและช่วยนำเสนอผลงานของนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานของตนเอง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้าไปประสานงานให้เกิดงานที่เปิดเวทีให้ศิลปินที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีที่ได้นำเสนอผลงานของพวกเขา เช่น งาน CHIANG MAI SECRET ของ One Nimman ที่จัดเป็นประจำช่วงปลายปี ที่ชาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดแสดงดนตรีเปิดเวทีให้ศิลปินเชียงใหม่ได้นำเสนอผลงานตนเองภายในงาน, เทศกาลดนตรี Chiangmai Ho! Fest. ที่ Chiang Mai Original รวบรวมวงดนตรีจำนวนมากจากเชียงใหม่มาแสดง ซึ่งจัดขึ้นมา 4 ปีแล้ว นอกจากนั้นชายังมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันในงานเทศกาลดนตรีเปิดหมวกโลก 2024 GWANGJU BUSKING WORLDCUP FESTIVAL ที่ทางเมืองกวางจูประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นเพื่อใช้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมืองเขาทั้งนี้ การได้ไปร่วมและเห็นประโยชน์ของงานเทศกาลเปิดหมวกนี้ทำให้เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ชาได้ร่วมมือกับทำทาง CEA Chiangmai (Creative Economy Agency) จัดงาน Chiang Mai Busking หรือ ‘เทศกาลเชียงใหม่เปิดหมวก’ ที่พานักดนตรีกระจายไปเล่นตามสถานที่ในย่านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากให้นักดนตรีได้มีที่แสดงผลงานแล้วยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนได้มีโอกาสไปเที่ยวในย่านต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้นนอกจากการจัดงานต่าง ๆ ไม่นานมานี้ชากับกลุ่มพี่น้องนักดนตรียังได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ ขึ้นมา โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีเชียงใหม่ โดยประชุมกันในวาระต่าง ๆ ของแต่ละเดือนเพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาดูว่า อุตสาหกรรมดนตรีเชียงใหม่ตอนนี้แต่ละฝ่ายกำลังเจอปัญหาอะไร และจะสามารถร่วมกันผลักดันดนตรีเชียงใหม่ให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร ทั้งความเป็นอยู่ของศิลปิน คุณภาพงานของศิลปิน สถานที่จัดแสดงต่าง ๆ และเมื่อคนดนตรีเชียงใหม่แข็งแรงแล้ว ก็จะนำไปสู่การใช้ดนตรีช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ต่อไปได้การเกิดขึ้นของ เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ นี้ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการจัดทำฐานข้อมูลศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ที่แต่ละวงสามารถเข้าไปลงทะเบียนและฝั่งผู้จัดสามารถเข้าไปดูข้อมูลของศิลปินได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ Chiang Mai Original“ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ มีการประชุมหารือกันว่า ในช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นของเชียงใหม่นั้น เราพบว่าเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่มันซบเซา คนมาเที่ยวใช้จ่ายกันน้อย ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อตัวแวดวงดนตรีโดยตรงด้วย และช่วงฤดูฝนก็มักจะไม่ค่อยมีงานเทศกาลอะไรจัดให้นักดนตรีได้ไปเล่น ทุกคนก็ขาดรายได้ เราก็เลยคิดร่วมกันขึ้นมาว่า น่าจะลองใช้เทศกาลดนตรีเป็นตัวกระตุ้นชวนคนให้มาเที่ยวเชียงใหม่กันในฤดูกาลนี้ดูนะ ก็เลยตั้งชื่องานนี้ว่า High Ho Chiang Mai“โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนของ High Ho Chiang Mai จะมีงานดนตรีกระจายกันไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้ดนตรีเป็นแสงช่วยส่องให้ผู้คนได้ลองไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันนักดนตรีเชียงใหม่ก็จะได้มีงานเล่นกันในช่วงหน้าฝนนี้ด้วย“เราว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นะ และเชียงใหม่เองก็มีชื่อเสียงจากวงดนตรีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในจังหวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราว่ามันเป็นจุดขายหนึ่งของจังหวัดได้เลย ถ้าเราช่วยกันทำให้ดนตรีเชียงใหม่แข็งแรง คนเชียงใหม่เป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ กันเอง เราเชื่อว่าดนตรีจะช่วยดึงดูดให้คนมาที่เชียงใหม่ได้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วมากมายจากต่างประเทศ และเราเชื่อว่าเชียงใหม่เองมีความเป็นไปได้ เราฝันอยากจะเห็นภาพนั้นกับที่นี่” ชา กล่าวสำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารของ Chiang Mai Original สามารถติดตามได้ที่เพจ Chiang Mai Original (https://www.facebook.com/cnx.og.live) หรือ https://chiangmaioriginal.com/ และสำหรับคนที่สนใจอยากมาร่วมเทศกาลดนตรี High Ho Chiang Mai ในช่วงหน้าฝนสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://linktr.ee/highhofest

งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567

งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงาน (Exhibitors seminar) เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 สร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ จัดงานสัมมนาสุดพิเศษสำหรับผู้ร่วมจัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปลดล็อคพลังสร้างสรรค์: รู้ลึกกฎหมายสำหรับนักออกแบบ โดย ทีม EasyLaw” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักออกแบบที่ต้องการพัฒนาผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังมีบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Exhibition Tips and Tricks โดย คุณอมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ A.M.O Intergroup” ที่จะช่วยให้นักออกแบบทุกคนสามารถนำเสนอผลงานของตนได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567: ฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นเตรียมพบกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7-15 ธันวาคม 2567 ณ อาคาร TCDC เชียงใหม่ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษกับผลงานสร้างสรรค์จากนักออกแบบ นักศิลปะ และชุมชนท้องถิ่น พบกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการ งานเวิร์กช็อป การแสดง ดนตรี ศิลปะ  ตลาด POP Marketติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:เว็บไซต์: https://www.chiangmaidesignweek.comเฟซบุ๊ก: Chiang Mai Design Week#ChiangMaiDesignWeek2024 #CMDW2024 #ScalingLocal

สิหมะ วัตถุดิบรสเปรี้ยวแห่งความยั่งยืนจากชนเผ่าอาข่า

สิหมะ คือ ผลไม้ออกผลเป็นพวงลูกเล็ก ๆ ที่ให้รสเปรี้ยวเฉพาะตัว เป็นพืชยืนต้นที่ขึ้นอยู่บนดอยสูง และเป็นพืชสำคัญทางวัฒนธรรมของ อาข่า ที่ มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก เจ้าของโปรเจกต์ Sansaicisco และหนึ่งในสมาชิกเครือข่าย Slow Food ที่ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม มะเป้งมีโอกาสไปค้นพบ สิหมะ ในหมู่บ้านอาข่า จากการไปเที่ยวหาเพื่อนของเขาอย่าง ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟชื่อดัง Akha Ama และทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผลไม้จากดอยสูง จากข้อมูลที่มะเป้งได้รับจากเพื่อนชาวอเมริกาใต้ในเครือข่าย Slow Food เขาพบว่าตอนนี้ที่อเมริกาใต้กำลังมีการเรียกร้องทวงคืนแม่น้ำขึ้น เนื่องจากเกิดการรณรงค์ให้ปลูกอะโวคาโด ขึ้นจำนวนมากเพื่อตอบรับกับกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลอะโวคาโด ถือเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการปลูกเยอะมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่า มะนาว หรือ ข้าวโพด ด้วยซ้ำ การที่อยู่ดี ๆ มีการสนับสนุนให้เกิดการปลูกอะโวคาโด ขึ้นเป็นจำนวนมากจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ปลูก และกลายเป็นปัญหาอย่างมากที่อเมริกาใต้ ซึ่งต่อมาทางประเทศไทยเองก็ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้เกิดการปลูกผลไม้ชนิดนี้ขึ้น ซึ่งมะเป้งกลัวว่าปัญหาที่เขาได้รับรู้จากเครือข่าย Slow Food กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศของเขาด้วยเช่นกัน มะเป้งจึงอยากที่จะลองมองหาทางเลือกอื่น ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงความเป็นอยู่ของผู้ปลูกได้ จนได้มาเจอกับ สิหมะ เข้า‘สิหมะ’ เป็นพืชท้องถิ่นของชาวอาข่า ที่สามารถเติบโตได้ง่ายในพื้นที่หมู่บ้านอาข่าบนดอยสูง ทุก ๆ บ้านของชาวอาข่าต่างก็มีต้นสิหมะขึ้นแทรกอยู่ร่วมกับต้นพืชผลอื่นๆ ในไร่ และเป็นพืชยืนต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวและไม่ต้องโค่นทิ้งได้ วัฒนธรรมของชาวอาข่าเองก็ผูกพันกับสิหมะอย่างแนบชิด “ผมพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เขาจะมีความเชี่ยวชาญในพืชทำกินตามระดับความสูงที่เขาอยู่ ปกาเกอะญอ เขาถนัดปลูกพืชไร่ อย่าง ข้าว เป็นต้น เขาก็จะอยู่ในระดับความสูงที่ไม่เกิน 900 เมตร ส่วนอาข่าสาเหตุที่เขาเชี่ยวชาญด้านกาแฟก็เพราะว่า เขาจะอยู่อาศัยกันที่ระดับความสูง 1,000 – 1,500 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ต้นกาแฟสามารถเติบโตและให้ผลคุณภาพดี ทีนี้เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเขาอยู่ในระดับความสูงที่เขาต้องการ คำตอบก็คือ สิหมะ เพราะสิหมะเป็นต้นที่เติบโตได้ดีในระดับความสูงเดียวกันนี้ ดังนั้น ชาวอาข่าอาศัยอยู่ที่ไหนตรงนั้นต้องสามารถปลูกต้นสิหมะได้ สิหมะจึงทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสูงของอาข่า และบรรพบุรุษของพวกเขายังได้ผูกสิหมะไว้กับวัฒนธรรมของอาข่าด้วย“เวลาคู่แต่งงานอาข่าจะไปสร้างเรือนหอของตนเอง เขาจะต้องนำสิหมะไปปลูกก่อน ถ้าสิหมะโตได้เขาจึงจะสามารถปลูกเรือนหอที่ตรงนี้ต่อไปได้ เพราะว่าเมื่อพวกเขามีลูก เขาจะต้องเด็ดใบสิหมะมาต้มน้ำและนำลูกไปอาบในน้ำต้มสิหมะ เด็กคนนั้นจึงจะถือว่าเป็นชาวอาข่าโดยสมบูรณ์ เวลามีใครป่วยไข้ในอดีตชาวอาข่าก็มีความเชื่อว่าให้เด็ดกิ่งสิหมะมาปัดตามตัวผู้ป่วย จะสามารถไล่โรคร้ายออกไปได้ นอกจากความสำคัญทางวัฒนธรรม สิหมะยังเป็นวัตถุดิบที่อาข่านำมาใช้ปรุงอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะนำมาหมักกับปลาก่อนนำไปห่อใบตองย่างไฟ เป็นต้น”ความผูกพันของอาข่ากับสิหมะที่อยู่คู่กันมาช้านาน ทำให้อาข่ามีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับต้นสิหมะ และทุกบ้านก็มีต้นสิหมะของตนเองอยู่แล้ว นอกจากนั้นกระบวนการเก็บเกี่ยวสิหมะของอาข่า เขาจะนำสิหมะมาตากให้แห้งใต้ถุนบ้านก่อนนำมาใช้ ทำให้สิหมะนั้นไม่เสียง่ายเหมือนพืชผลอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา และทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบเวลาไปต่อรองขายกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสิหมะไม่มีปัญหาทางด้านเวลาตรงนี้เพราะสามารถเก็บไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน ชาวอาข่าเองก็มีความพร้อมมากอยู่แล้วถ้ามีการเข้าไปส่งเสริมให้ สิหมะเป็นที่รู้จักและถูกคนในเมืองนำไปใช้ปรุงอาหารของตนเอง ดีกว่านำพืชต่างถิ่นเข้าไปสนับสนุนและชาวบ้านต้องไถต้นไม้พืชผลเดิมของพวกเขาทิ้งเพื่อปลูก ด้วยเหตุนี้สองปีที่แล้ว มะเป้งเลยตัดสินใจเข้ามาช่วยผลักดันให้สิหมะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นมะเป้งเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมชวนผู้คนในเมืองเดินทางไปเรียนรู้เรื่องสิหมะจากผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็คือชาวอาข่าบนดอย และเชิญเชฟลองนำสิหมะมาทดลองทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของวัตถุดิบชนิดนี้ ก่อนที่ต่อมาเขาจะนำสิหมะไปเข้าห้องทดลองด้าน Sensory กับ ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถอดส่วนประกอบของสิหมะออกมาว่า ให้ความเปรี้ยวแบบไหน และเหมาะที่จะนำไปปรุงกับอะไร ในอุณหภูมิเท่าไรบ้าง เพื่อที่มะเป้งจะได้นำข้อมูลชุดนี้มาทำเป็นไกด์บุ๊กเบื้องต้นสำหรับการใช้สิหมะเป็นวัตถุดิบ เพื่อที่เขาจะได้สามารถแนะนำให้กับผู้คนต่างๆ ที่สนใจจะใช้สิหมะประกอบอาหารได้ต่อมา CEA ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนร่วมกับมะเป้งในการผลักดันสิหมะให้กลายเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถสร้างเป็นมูลค่าของเชียงใหม่ได้ จนเกิดเป็นกิจกรรมชวนผู้ประกอบการด้านอาหารร้านต่าง ๆ ลองนำสิหมะไปสร้างสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ และนำมาวางขายในช่วงเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiangmai Design Week 2023) เพื่อให้คนทั่วไปได้ลองชิมและทำความรู้จักกับวัตถุดิบนี้ให้มากขึ้น เช่นร้าน Madae Slow Fish ร้านที่สนับสนุนปลาจากชาวประมงท้องถิ่น ได้ลองนำสิหมะมาผสมกับเกลือทาลงบนตัวปลาล่อปัดขณะย่าง ปลาที่พวกเขาได้มาจากชาวประมงท้องถิ่นที่ปัตตานีร่วมกับวัตถุดิบจากท้องถิ่นเชียงใหม่ร้าน Helo Cola ที่ทำคราฟต์โคล่า ได้ลองนำสิหมะไปใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบร่วมกับการทำโคล่าจนได้โคล่ากลิ่นหอมจากสิหมะ ที่มีรสและกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่มาจากวัตถุดิบท้องถิ่นภาคเหนือ ไม่ได้ด้อยไปกว่าโค้กกลิ่นซากุระ ที่เป็นโค้กพิเศษที่ญี่ปุ่นจะผลิตขึ้นในช่วงดอกซากุระบานร้าน Adirak Pizza ที่เชี่ยวชาญได้การชูวัตุดิบผ่านเมนูพิซซ่าและชีส ได้ลองนำสิหมะมาทำเป็นเมนู Age Fresh Cheese ที่คลุกผิวนอกด้วยสิหมะเสิร์ฟพร้อมน้ำผึ้งป่าบาร์แจ๊ส อย่าง Noir ที่ได้แรงบันดาลใจขนมของชาวอาข่า นำสิหมะมาผสมผสานกับน้ำผึ้ง น้ำกะทิ และไข่ขาวทำเป็นเมนูม็อกเทล ชื่อ Ja-Rare และอีกเมนูค็อกเทลที่ลองนำ สิหมะมา Infuse กับจิน (Gin) เป็นหนึ่งในส่วนผสม เป็นเมนู Long islayBar.san ที่ลองนำสิหมะมา infuse กับโซดาก่อนผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำเป็นเมนู High Ball ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวชื่อ San-Maภายหลังจากการลองนำสิหมะไปให้ร้านต่าง ๆ ได้ลองนำไปทดลองประกอบเป็นเมนูที่ทางร้านเชี่ยวชาญ ก็ได้มีการนัดประชุมกันที่ TCDC Chiang Mai เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้และปัญหาของวัตถุดิบสิหมะ เพื่อที่จะหาแนวทางดำเนินการส่งเสริมต่อไปทุกคนมองเห็นความเป็นไปได้และมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมวัตถุดิบท้องถิ่นชนิดนี้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของชาวอาข่าในท้องถิ่นได้อีกด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปมะเป้งจะเชิญนักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์หาราคากลางของ สิหมะ ดูว่าควรจะตั้งในราคาเท่าไหร่ โดยมะเป้งตั้งใจที่จะให้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้มากที่สุด ไม่ใช่การทำให้มันเป็นวัตถุดิบหายาก ที่ถูกใช้เฉพาะในร้านอาหารแพง ๆ เท่านั้น“ผมมีความฝันว่าสิหมะจะกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เป็นกระปุกอยู่ในครัวของผู้คน เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่คุณก็สามารถใช้ได้นะ และมันมาจากท้องถิ่นของเราด้วย ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ซึ่งผมตั้งใจว่าโปรเจกต์การส่งเสริมนี้ ผมจะไม่เป็นคนขาย ผมตั้งใจส่งเสริมมันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าใครสนใจติดต่อมา ผมจะทำหน้าที่เป็นคนบอกแหล่งซื้อให้ ทุกคนจะได้ไปซื้อไปสนับสนุนกับชุมชนอาข่า เป็นประโยชน์กับพวกเขาโดยตรงได้เลย ผมแค่อยากเห็นพืชท้องถิ่นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และสักวันหนึ่งถ้าเกิดพืชท้องถิ่นที่ชาวปลูกกันอยู่ในสวนอยู่แล้วสัก 10 ตัว มีคนสนับสนุน ชาวบ้านที่ปลูกก็จะมีรายได้จากพืชท้องถิ่น ชีวิตพวกเขาก็จะมั่นคงขึ้น ไม่ต้องไปไถต้นไม้เดิมๆ เพื่อเอาพืชต่างถิ่นมาปลูก ซึ่งจะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนั้นที่เป็นป่าต้นน้ำด้วย อีกอย่างถ้าพืชท้องถิ่นนั้นอยู่ในวัฒนธรรมของเขา พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเขา เมื่อมีคนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขามี ผมเชื่อว่า สิหมะ จะเป็นแบบนั้นได้” มะเป้ง กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’

Residency Program: Overseas Creators Collaboration เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ (Homecoming Creators and Oversea Creators Collaboration In Residency program) คือ โครงการศิลปินพำนัก ที่ CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ Japan Foundation และ Taiwan Designers’ Web ยกระดับเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ผ่านการเชิญนักสร้างสรรค์งานเซรามิกจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน มาใช้ชีวิต เรียนรู้ และพัฒนาผลงานร่วมกันกับสตูดิโอท้องถิ่นที่เชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนด้วยกัน (สิงหาคม – กันยายน 2567) ภายใต้โจทย์เรื่อง ‘Start from the Rice ’ จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และมูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) นักสร้างสรรค์จากต่างแดนที่มาร่วมโครงการมีด้วยกัน 2 คน ได้แก่ มูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) ศิลปินเซรามิก และทายาทรุ่นที่ 6 ของ Iwashita Pottery แห่งเมืองมาชิโกะ (Mashiko) ประเทศญี่ปุ่น และ ลิเดีย (Chia, Hsun-Ning) ศิลปินเซรามิก และผู้จัดการ Nie Studio เมืองไทเป ไต้หวัน โดยทั้งสองได้พำนักที่ อินเคลย์ สตูดิโอ (In-Clay Pottery) ของ ชิ-จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และชามเริญ สตูดิโอ (Charm Learn Studio) ของ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ ตามลำดับ Chia, Hsun-Ning และ ณัฐพล วรรณาภรณ์พร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย เจ้าบ้านอย่างมิกและชิยังรับหน้าที่เป็นไกด์อาสา พาแขกรับเชิญเยี่ยมชมย่านสร้างสรรค์และแหล่งผลิตงานเซรามิกชั้นนำในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของเชียงใหม่ ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ หมู่บ้านเหมืองกุง แหล่งผลิตน้ำต้น-เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของคนในภาคเหนือ รวมถึงโรงงานเซรามิกชั้นนำอย่าง โรงงานธนบดี ในจังหวัดลำปาง Earth & Fire เชียงใหม่ และสตูดิโอของศิลปินอีกมากมายทั่วเมืองไม่เพียงเท่านั้น ในโปรแกรม Residency ครั้งนี้ พวกเขาทั้ง 4 ยังได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาชุดใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Start from the Rice’ ซึ่งจัดแสดงที่ Anantara Chiang Mai Resort เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาเริ่มจาก มูเนอากิ ที่นำความประทับใจจาก ‘ห่อตอง’ (ห่อใบตอง) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมสำหรับใส่ข้าวเหนียวและอาหารอื่น ๆ ของคนภาคเหนือ มาพัฒนาเป็นงานเซรามิก ก่อนจะตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และประติมากรรมสมเสร็จ สัตว์ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าจะสามารถดูดกินฝันร้ายได้ โดยสมเสร็จยังเป็นซีรีส์งานปั้นที่ มูเนอากิได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับ Iwashita Pottery ที่บ้านเกิดของเขาอีกด้วย “ผมเพิ่งเคยได้เห็นห่อใบตองเมื่อมาที่เมืองไทยนี่แหละ มันเป็นทั้งภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่น่าทึ่งไม่น้อย ผมรู้สึกประทับใจในฟังก์ชั่นอันเรียบง่าย และความชาญฉลาดของคนท้องถิ่นที่ประยุกต์วัสดุธรรมชาติมาเป็นภาชนะอย่างยั่งยืน จึงทดลองนำรูปทรงของมันมาใช้กับงานปั้น โดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นดั้งเดิมในการใส่อาหารได้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็อยากทำให้งานชิ้นนี้มันสามารถเป็นของที่ระลึกและของตบแต่งได้ด้วย จึงใส่สัญลักษณ์ของสัตว์จากเชียงใหม่และบ้านเกิดผมเข้ามา ซึ่งก็ช่วยลดทอนความทึบและหนาของชิ้นงานหลักได้ดี” Muneaki กล่าวขณะที่ ชิ-จิรวงษ์ ผู้เปิดอินเคลย์ สตูดิโอ ให้ Muneaki พำนัก เลือกนำเสนอชุดงานเซรามิกภายใต้แนวคิด Rice Grains: Farming, Cooking and Forming (กระบวนการผลิตข้าวแบบประเพณี การจัดสำรับในมื้ออาหารที่ประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย และรูปร่างของเมล็ดและจมูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน) ปรากฏในรูปของถ้วยชามรูปทรงเมล็ดข้าวแบบผ่าครึ่งหลากหลายขนาด ซึ่งใช้กระบวนการเคลือบพื้นผิวให้มีสีขาวนวลและมันวาวเฉกเช่นกับเมล็ดข้าวของจริง  “ผมสนใจกระบวนการลงแขก เก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาที่สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจ และความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่น และนอกจากการจำลองรูปลักษณ์ของเมล็ดข้าว ผมยังเลือกที่จะทำภาชนะใส่อาหารหลายรูปทรง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันของคนไทยไปพร้อมกัน” ชิ กล่าวด้วยความประทับใจที่ได้เห็นตะกร้าพลาสติกสำหรับใส่ขนมจีน ในร้านขนมจีนริมทางที่กาดหลวง ลิเดีย นักสร้างสรรค์จากไต้หวันที่เข้าพักและผลิตผลงานที่ชามเริญ สตูดิโอ จึงนำรูปทรงดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับเทคนิคการทำเซรามิกสาน อันคล้ายคลึงกับผลงานสร้างชื่อของเธอเองอย่าง Fiber Ceramic ที่เธอนำเชือกมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานเครื่องปั้นดินเผา ไม่เพียงเท่านั้น ลิเดียยังนำเสนอซีรีส์งานประติมากรรมที่เกิดจากการทดลองนำเมล็ดข้าวมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานปั้น อาทิ ถ้วยชามที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวมาคลุกกับเนื้อดินก่อนขึ้นรูปและเข้าเตาเผา การนำเมล็ดข้าวมาประดับตกแต่งบนพื้นผิว และชุดงานประติมากรรมที่ใช้เมล็ดข้าวมาสร้างเลเยอร์ซ้อนทับ เป็นต้น  “การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่เกือบหนึ่งเดือน ทำให้ฉันประทับใจเสน่ห์ที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ รวมถึงการผสมผสานความเก่า-ใหม่ คละเคล้ากันในชิ้นงานและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง และความที่ฉันสนใจในการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการผสมผสานวัสดุอยู่แล้ว การได้มาที่นี่ ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้นไปอีก” ลิเดีย กล่าวปิดท้ายที่มิก แห่ง ชามเริญ สตูดิโอ ที่นำความประทับใจจากวัฒนธรรมกินข้าวเหนียวด้วยมือของคนภาคเหนือ (และวัฒนธรรมร่วมของคนอาเซียน) มาผสานกับลูกเล่นสนุก ๆ ที่เขาประยุกต์มาจากเครื่องประดับสอดนิ้วสำหรับการฟ้อนเล็บของช่างฟ้อนล้านนา จนเกิดเป็นซีรีส์เซรามิก ‘เล่น-กิ๋น-แต้’ (Journey with Sticky Rice) ที่มิกนำเสนอชุดภาชนะสำหรับการรับประทานอาหารที่ชวนให้ผู้ใช้สอดนิ้วเข้าไป “จริง ๆ สตูดิโอของผมก็อยู่ริมทุ่งนาอยู่แล้ว แต่การได้ย้อนกลับมาสำรวจวิถีชีวิตและแวดวงศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่บ้านเกิดของผมเองอีกครั้งตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมกลับมามองวัฒนธรรมการกินข้าว โดยเฉพาะการกินข้าวเหนียวของคนเมืองในมุมใหม่ เลยอยากนำเสนอความสนุกจากการกิน และการประยุกต์รูปแบบการจัดอาหารท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับภาชนะในจินตนาการนี้” มิก นักออกแบบที่สร้างชื่อจากการนำแรงบันดาลใจในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย มาพัฒนาเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย กล่าวเหล่านี้คือบางส่วนของผลลัพธ์จากนักสร้างสรรค์ 4 คน จาก 3 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ โดย CEA ซึ่งแน่นอน หาใช่การได้มาแค่ผลงานชุดใหม่ ที่นักออกแบบจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายต่อไป  (รวมถึงจะถูกนำไปจัดแสดงใน Chiang Mai Design Week 2024 เดือนธันวาคมนี้) หากการได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานร่วมกันตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็นับเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้พวกเขานำไปต่อยอดเป็นผลงานในโปรเจกต์ใหม่ ๆ ต่อไป ที่สำคัญและอย่างไม่อาจปฏิเสธ กิจกรรมครั้งนี้ยังเผยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์บ้านเรา ค้นพบที่ทางในการนำผลงานไปเฉิดฉาย และเข้าถึงตลาดสินค้าสร้างสรรค์ระดับนานาชาติต่อไปไม่เพียงเป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักสร้างสรรค์จากต่างแดนอย่างดี ล่าสุด ผลงานบางส่วนของอินเคลย์ สตูดิโอ และชามเริญ สตูดิโอ ยังได้รับการคัดเลือกโดย MUJI ประเทศไทย ไปพัฒนาเป็นสินค้าภายใต้โครงการ Found MUJI Thailand ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในร้านสาขาของ MUJI ที่ศูนย์การค้า One Siam กรุงเทพฯ และ MUJI Flagship Store ที่ Central Chiangmai Airport เชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้