ทำตลาดชั่วคราวอย่างไรให้ยั่งยืน สำรวจแนวคิดธุรกิจหมุนเวียนใน POP MARKET
ไม่เพียงแค่นิทรรศการ เวิร์กช็อป และกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่นำเสนอแนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งเป็นธีมหลักในปีนี้ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ยังปรากฏในกิจกรรมออกร้านอย่าง POP Market ตลาดสุดชิคจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือ ในขณะที่ POP Market คือตลาดนัดที่จัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตลาดชั่วคราวนี้สอดรับไปกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงสินค้าที่จำหน่าย แต่ยังรวมถึงวัสดุตั้งร้าน การประหยัดพลังงาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะ รวมถึงส่งต่อแนวคิดดังกล่าวสู่ผู้มาร่วมงานอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับกลุ่มสมดุล เชียงใหม่ (Somdul Chiang Mai) จัดเวิร์กช็อป POP Market’s Vendor’s Training Program ชวนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกออกร้านใน Pop Market ปีนี้ กว่า 130 ราย (ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ แฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม) มาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กับ กมลนาถ องค์วรรณดี จาก นักออกแบบ วิทยากร และที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืนจาก CIRCO Circular Design Trainer และสิทธิชาติ สุขผลธรรม ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก CREAGY เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนตลาด POP Market ด้วยมิติของความยั่งยืนอย่างแท้จริง โปรแกรมแบ่งออกเป็น 2 วัน ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจในธุรกิจหมุนเวียนเชิงลึก โดยมีกมลนาถมาบรรยายในหัวข้อ ‘ความสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจสร้างสรรค์ และการสื่อสารคุณค่าด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค’ และส่วนที่ 2 ‘การบัญชีคาร์บอน / การคำนวณ Carbon Footprint เบื้องต้น’ ที่สิทธิชาติชวนผู้ร่วมงานเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีคาร์บอนเบื้องต้น และทดลองให้ผู้ร่วมงานคำนวนบัญชีคาร์บอนจากธุรกิจของตัวเอง กมลนาถเริ่มต้นบรรยายถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่มีทางจะหายไปง่าย ๆ แต่มันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความโดดเด่นและน่าดึงดูด รวมถึงสามารถรับมือกับการแข่งขันด้านราคากับสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในบ้านเราอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน “ปัจจุบันการนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าผ่าน storytelling เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้สินค้าเราแตกต่างจากท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่มาของวัสดุ ความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงกระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการหลังจากสินค้าถูกใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างคุณค่าแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเราได้” กมลนาถ กล่าว ขณะที่สิทธิชาติเล่าถึงความสำคัญของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หากความเข้าใจในเรื่องนี้ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถประหยัดต้นทุนการผลิต และมองเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์อย่างรอบด้าน “การคำนวณคาร์บอน คือการคำนวณพลังงานที่เราใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งอย่าลืมว่า พลังงานคือต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า หรือค่าแก๊สหุงต้ม ถ้าเรารู้ว่าเราใช้พลังงานไปมากน้อยอย่างไร คุณก็สามารถควบคุมต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ คือไม่ถึงกับต้องเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มันประหยัดพลังทั้งหมดก็ได้ แค่พิจารณาว่าในแต่ส่วนของธุรกิจเรามันมีตรงไหนที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุบ้าง แล้วค่อย ๆ ปรับแก้กันไป” สิทธิชาติ กล่าว กมลนาถยังเสริมอีกว่าในอนาคตองค์ความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการรายย่อยอีกต่อไป เพราะปัจจุบันกลไกของภาครัฐอย่าง การเก็บภาษีคาร์บอน หรือมาตรการ ESPR (ระเบียบว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป) เริ่มนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กต่อมาตามลำดับ “โลกกำลังต้องการวัตถุดิบ สินค้า และบริการที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือคาร์บอนต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะกับนโยบายจัดซื้อสีเขียวของภาครัฐ ที่จะมากระตุ้นอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน “ดังนั้นการปรับตัวนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในธุรกิจไว้ก่อนย่อมดีกว่าเพราะเมื่อโอกาสมาถึงเราจะพร้อม และยังสามารถใช้แนวทางการดำเนินกิจการด้วยความยั่งยืนเป็นแต้มต่อ ผ่านการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เป็นหัวใจของการประชาสัมพันธ์สินค้า ไปจนถึงการพาผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ตลาดสากลที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ได้ง่าย” กมลนาถ กล่าว ควบคู่ไปกับการแนะนำแบรนด์สินค้าและบริการขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของความยั่งยืนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จจากการหาช่องว่างทางการตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ กมลนาถยังยกตัวอย่างโมเดลของการทำตลาดนัดหรือตลาดชั่วคราวที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Bamboo Family Market (เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. บริเวณแยกหลุยส์ อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่) ผู้จัดตลาดฯ ที่พยายามปลูกฝังสำนึกด้านความยั่งยืนผ่านผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าท้องถิ่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ กลไกการลดขยะที่คิดแต่ต้นทาง โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมทั้งมีจุดล้างภาชนะ และการแยกขยะที่ชัดเจน และ Green Market (ภายในเทศกาล Cry Mate ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567) ที่ให้บริการ Ecocrew สำหรับให้ผู้ซื้อเช่าภาชนะบรรจุอาหาร เพียงลูกค้าจ่ายเงินมัดจำค่าภาชนะ 20 บาท และจ่ายค่าชาม/จานมาใช้ใส่อาหารในงานอีก 5 บาท โดยเมื่อลูกค้านำภาชนะเหล่านี้ไปซื้ออาหาร ทางร้านก็จะลดราคาให้ 5 บาท เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าเสียไปตอนต้น และเมื่อนำภาชนะกลับมาคืนที่จุดรับก็ได้เงินมัดจำ 20 บาทคืน ลูกค้าจึงไม่ต้องแบกต้นทุนค่าภาชนะ ขณะที่ โลกก็ไม่จำเป็นต้องแบกขยะที่ย่อยสลายได้ยากเพิ่มขึ้นอีกจากตลาดแห่งนี้ “เราว่าเชียงใหม่และหลาย ๆ เมืองในภาคเหนือมีรากฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำสินค้าหัตถกรรมจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียน การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชั้นนำ รวมถึงการเกื้อหนุนทรัพยากรภายในชุมชน เหล่านี้คือแต้มต่อที่ดีในการทำพื้นที่การขายให้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน“แม้ตัวอย่างของการบริหารจัดการวัสดุและขยะเหลือใช้ในตลาดสองแห่งที่ยกมาอาจฟังดูยุ่งยากทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้บริโภค แต่มันก็ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตลาดเหล่านี้อย่างมาก รวมถึงยังเป็นการส่งต่อสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้แก่ผู้ซื้อออกไปอีกเช่นกัน” กมลนาถ กล่าว นอกจากนี้ สิทธิชาติยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับจากการกำหนดทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับความยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ประกอบการตระหนักในเรื่องนี้ ธุรกิจจะไม่ได้จำกัดผู้เล่นเพียงแค่ ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ แต่ยังให้ความสำคัญปังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดด้วย สิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองของเจ้าของกิจการ ทำให้มองเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงข้อมูลและตัวแปรอีกมากมายสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของเรา “อย่าลืมว่าผู้ประกอบการรายย่อยและ ผู้บริโภค คือประชากรส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ ถ้าผู้ขายสามารถส่งต่อคุณค่าด้านความยั่งยืนให้กับผู้ซื้อได้ มันก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทุกคน ผมจึงคิดว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราเนี่ยแหละคือพลังสำคัญที่ทำให้โลกเราดีกว่านี้ได้” สิทธิชาติ กล่าวทิ้งท้าย เหล่านี้คือผลลัพธ์บางส่วนจากมุมมองของสองนักเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนของความคิดจะปรากฏเป็นรูปธรรมภายในงาน POP Market เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ แล้วมาพบกันที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 มาร่วมช้อปปิ้งสินค้าสร้างสรรค์ พร้อมกับส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกไปด้วยกัน
Basebox Theater และการค้นหาโอกาสใหม่ในพื้นที่การแสดงเชียงใหม่
เมื่อเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา โถงนิทรรศการบนชั้น 1 ของ TCDC เชียงใหม่ ถูกเนรมิตให้กลายเป็นโรงละครขนาด 100 ที่นั่ง ที่เปิดการแสดงโดยคณะละครศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ และศิลปินทัศนศิลป์ทั้งหมด 4 โชว์ (รวมทั้งสิ้น 13 รอบการแสดง) ฟังก์ชั่นของพื้นที่ที่หลายคนไม่คุ้นชินนี้ได้รับการรังสรรค์โดยกลุ่มนักการละครที่เกิดจากการรวมกันเฉพาะกิจในนาม Basebox Theater ซึ่งยังเป็นชื่อโปรเจกต์การแสดงในครั้งนี้ด้วย ไม่เพียงการเปลี่ยนโฉมชั่วคราวในครั้งนี้ จะทำให้คนเชียงใหม่มีโอกาสได้ชมโชว์สนุก ๆ ที่ครอบคลุมทั้งละครเวที ละครเพลง งานเฟอร์แมนซ์สื่อผสม และอื่น ๆ แต่โปรเจกต์นี้ยังชี้ชวนให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดเวทีการแสดง ซึ่งว่ากันตามตรง แม้เชียงใหม่จะครบพร้อมด้วยศิลปินการแสดงมากฝีมือในหลากสาขา และหลายคนก็มีชื่อเสียงบนเวทีระดับนานาชาติ หากเมือง… ไม่สิ หมายรวมถึงทั้งประเทศนี้ ก็กลับขาดพื้นที่ให้ศิลปินเหล่านั้นปล่อยของ และนั่นก็มีส่วนในการขวางกั้นโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในศาสตร์ด้านนี้ลงอย่างน่าเสียดายเรามีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงาน Baebox Theater ชัย-ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ เก่ง-อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ อ้อม-ศศิวิมล วงศ์จรินทร์ และ อ๊อด-สุธีระ ฟั่นแก้ว ถึงที่ไปที่มาของโครงการ และความคาดหวังในการขยายพื้นที่ให้ศิลปะการแสดงในเชียงใหม่ รวมถึงประเทศไทย ขับเคลื่อนแวดวงเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้เข้าถึงผู้ชมได้ครอบคลุม สนุก และยั่งยืนกว่าที่เป็น จาก “เล่นใหญ่” สู่กล่องสี่เหลี่ยม“โปรเจกต์นี้มันเป็นผลสะท้อนจากที่ผมและพี่เก่ง (อภิชัย เทียนวิไลรัตน์) ได้ทำโชว์ ‘เล่นใหญ่’ ในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีกที่ทำต่อเนื่องมา 2 ปี ซึ่งเราก็เห็นตรงกันกับผู้จัดเทศกาลอย่าง CEA ว่า ประเทศเราเนี่ย แม้จะมีทรัพยากรด้านศิลปะการแสดงที่หลากหลาย แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินได้ทำการแสดงเท่าที่ควร และมันก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมวัฒนธรรมการดูโชว์ในบ้านเราถึงไม่ค่อยได้รับความนิยมนักด้วย” ชัย-ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ กล่าวโปรเจกต์ ‘เล่นใหญ่’ ที่ชัยอ้างถึงคือ Len Yai : Performance Arts ที่เขาและเก่ง เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะในย่านช้างม่อยและราชวงศ์จัดการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ขนาดสั้นตลอด 9 วันในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ให้เป็นเวทีการแสดงชั่วคราว เพิ่มเติมสีสันให้เทศกาลด้วย Flash Show จากศิลปินหลากรุ่นอย่างสร้างสรรค์ จาก ‘เล่นใหญ่’ เก่งและชัยจึงชวน CEA คิดต่อกันว่า ถ้าหากเกิดโมเดลของโรงละครเวทีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปจัดวางตามพื้นที่ปิดต่าง ๆ ทั่วเมือง เช่น ห้องประชุมในโรงแรม ห้องอเนกประสงค์ในสำนักงาน ไปจนถึงห้องเรียนในสถาบันการศึกษา โมเดลนี้น่าจะจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่เพื่อการแสดงอีกมาก“พอ CEA เข้าใจข้อจำกัดที่แวดวงการแสดงในบ้านเราเผชิญอยู่ ก็เลยเห็นตรงกันว่า เรามาทำพื้นที่นำร่องด้วยกัน ผ่านการเปลี่ยนโถงแสดงนิทรรศการของ TCDC เชียงใหม่ที่เป็นห้องปิดอยู่แล้ว นั่นคือที่มาของโปรเจกต์ Basebox Theater ซึ่งก็ตั้งชื่อให้ล้อกับลักษณะของห้องที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมไปด้วย แล้วก็ทำโชว์ให้ผู้ที่สนใจจองเข้ามาชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ” ชัย กล่าวรวมพลคนละครจากความตั้งใจให้โปรเจกต์นี้เป็นการจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นไปได้ในพื้นที่ ทีมงานจึงมุ่งนำเสนอความหลากหลายของศิลปะการแสดง นั่นจึงนำมาสู่การคิวเรทโชว์ทั้ง 4 ที่มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์สื่อผสม ‘ไปต่อไป’ โดยกลุ่ม LittleShelter Box ละครเพลง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ โดยกลุ่ม Part Time Theater และงานนาฏศิลป์ร่วมสมัย ‘ทับซ้อนเวอร์ชั่นซ้อนทับ’ โดยกลุ่มละครมะขามป้อม รวมถึงงานเฟอร์ฟอร์แมนซ์กึ่งเวิร์กช็อป ‘สวมบทสวด’ ที่พวกเขาเชื้อเชิญศิลปินแขนงต่าง ๆ ในเชียงใหม่มาเข้าเวิร์กช็อปการแสดง และเปิดให้ผู้ชมเข้ามาสังเกตการณ์อย่างอิสระตลอด 5 ชั่วโมง ประหนึ่งงานเรียลลิตี้โชว์ “เราทำการแสดงทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน แต่ละสัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเรื่องกันไป โดยเลือกโชว์ที่ดูสนุกและเข้าใจง่ายเป็นหลัก เพื่อดึงดูดให้คนที่อาจไม่ได้ติดตามงานแขนงนี้มาก่อนได้เข้ามาร่วมสนุกด้วย” ชัย กล่าว“2 ใน 4 โชว์ที่ถูกเลือกมาจัดแสดง เป็นโชว์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (‘ไปต่อไป’ และ ‘สวมบทสวด’) ส่วนอีก 2 เรื่องที่ถูกทำไว้อยู่แล้ว เราก็มีการเสริมกิมมิกใหม่ ๆ ด้วยการชวนศิลปินนอกสาขาการละครมาพัฒนาตัวเรื่องไปด้วยกัน เราจึงมองว่านอกจากจะชี้ชวนให้คนดูเห็นโอกาสในพื้นที่ และได้สนุกกับโชว์ เราว่ามันยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ให้กับคนทำงานศิลปะไปพร้อมกัน” อ้อม-ศศิวิมล วงศ์จรินทร์ กล่าวนอกจากรับหน้าที่ประสานงาน และดูแลด้านการประชาสัมพันธ์งานในโปรเจกต์ชั่วคราวนี้ อ้อมยังเป็นผู้ก่อตั้ง Studio 88 Artist Residency ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมศิลปินจากต่างประเทศให้มาพำนัก เรียนรู้ และพัฒนาผลงานในเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้ อ้อมจึงชวนโจนาธาน อาร์มัวร์ (Jonathan Armour) ศิลปินทัศนศิลป์และดิจิทัลชาวไอริชที่เคยมาร่วมโปรเจกต์ศิลปินพำนักกับอ้อม มาเป็นแขกรับเชิญ และประยุกต์ผลงานของเขาร่วมกับโชว์ต่าง ๆ ไปพร้อมกัน “ไม่เพียงแค่การแชร์ศิลปิน พื้นที่ซ้อมการแสดงในโชว์นี้ก็ยังเป็นการแชร์ข้ามโปรเจกต์ที่ลงตัวพอดี เพราะนอกจาก Studio 88 Artist Residency เราจะร่วมโปรเจกต์ Upper Floor อีกหนึ่งโครงการของ CEA ที่มีเป้าหมายในการจุดประกายการใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารพาณิชย์ในย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ (อ้อมไปเปิดแกลเลอรี่แสดงผลงานบนชั้น 2 ของ The Goodcery – ผู้เขียน) โดยผู้เข้าร่วมโครงการของ Upper Floor อีกกลุ่มอย่าง Base Performing Arts ไม่เพียงจะทำโชว์มาแสดงใน Basebox Theater แต่พวกเขายังเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักแสดงจากโชว์อื่น ๆ ไปซ้อมพร้อมกัน นี่จึงเป็นการทำงานข้ามโปรเจกต์ที่เกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของทั้งพื้นที่การแสดงและพื้นที่ซ้อมการแสดง ซึ่งทั้งสองพื้นที่ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อกิจกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น” อ้อม กล่าว จุดประกายละครโรงเล็กในส่วนของผลตอบรับของการแสดงทั้ง 4 โชว์ 13 รอบการแสดง (เริ่มต้นวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม และสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567) ทีมงานได้สะท้อนแง่มุมที่คาดไม่ถึงหลายเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้“จริงอยู่มันเป็นโชว์สั้น ๆ ในเวลาที่จำกัด แต่ผมรู้สึกว่าโปร์เจกต์นี้หรือโมเดลการแสดงรูปแบบนี้มันสามารถถูกกระจายไปเซ็ทอัพยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือ จากที่ศิลปินหลายคนติดภาพว่า TCDC เขามีพื้นที่สำหรับห้องสมุด และการจัดแสดงงานออกแบบแค่นั้น ทุกคนก็ได้เห็นมิติใหม่ ๆ ในการใช้พื้นที่ของที่นี่อย่างน่าสนใจ “ขณะเดียวกัน พอเรามาจัดการแสดงในพื้นที่แบบนี้ ก็มีส่วนทำให้ศิลปินการแสดงได้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งในทางกลับกัน ด้วยผลตอบรับของผู้ชมที่เข้าชมเกือบเต็มทุกรอบ มันก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้ มีคนสนใจค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมา เขาไม่รู้จะติดตามยังไง หรือไปดูที่ไหนในเชียงใหม่” ชัย กล่าวในขณะที่อ้อมให้มุมมองที่น่าสนใจว่า นอกจากพื้นที่การจัดแสดง การมีคนตรงกลางที่เป็นตัวเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันก็เป็นสิ่งสำคัญ หากอยากทำให้วัฒนธรรมการชมการแสดงในบ้านเรายั่งยืน“เรามองว่าหลาย ๆ พื้นที่ เขาก็อยากเปิดให้มีการแสดงแบบนี้อย่างต่อเนื่องแหละ เพียงแต่เจ้าของพื้นที่เหล่านั้นไม่รู้จะเริ่มยังไง จะเชื่อมกลุ่มคนทำงาน และผู้ชมเข้าถึงกันได้อย่างไร จริงอยู่ว่าโปรเจกต์นี้ เราได้รับการสนับสนุนจาก CEA แต่ผลของมันก็ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา วงการการแสดงบ้านเรามันขาดอะไรบ้าง เช่น เงินทุน พื้นที่ การเข้าถึงผู้ชม การประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญคือคนกลางที่เป็นนักจัดการ เพราะมันไม่ใช่แค่โปรดักชั่น แต่มันคือการผลักดันให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาทำงานร่วมกัน รวมถึงการสร้างบทสนทนาต่อยอดหลังการแสดง เพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ ทั้งในเชิงศิลปะและการจัดการ” อ้อม กล่าวทั้งนี้ ภายในงาน อ้อมยังเก็บสถิติและความเห็นจากผู้ชม โดยทำสติ๊กเกอร์เรทราคาต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้แปะไว้บนเก้าอี้ เพื่อจะได้ทราบว่าในความเป็นจริง ผู้ชมพร้อมจะจ่ายค่าบัตรเข้าชมการแสดงเท่าไหร่ “เราตั้งไว้ต่ำสุดที่ 200 บาท และสูงสุด 800 บาท เชื่อไหม ในหลายรอบการแสดงมีคนแปะสติ๊กเกอร์ราคา 800 บาทไม่น้อย และหลังดูจบ หลายคนก็บอกเราว่า ทำไมไม่มีเรท 1,000 หรือ 1,200 บาทด้วยล่ะ ซึ่งก็ทำให้เราเห็นว่า จริง ๆ มีผู้ชมทั้งคนไทย นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อดูโชว์แบบนี้อยู่ไม่น้อย รวมถึงมีผู้ใหญ่หลายคนฟีดแบ็คว่าน่าจะมีโชว์สำหรับผู้ชมที่เป็นเด็ก ๆ ด้วย เพราะเขาก็อยากให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรมแบบนี้บ้าง นั่นทำให้เราเห็นโอกาสว่าถ้าจะมีโรงละครขนาดเล็กที่จัดการแสดงอย่างต่อเนื่อง มันก็อาจเป็นไปได้” อ้อม กล่าว ก่อนจากกันไป เราได้ตั้งคำถามกับทีมงานว่า แล้วเราจะได้เห็นโชว์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม? “จริง ๆ ผมอยากให้มันมีเทศกาลประจำปีด้วยซ้ำ ผมคิดว่าโมเดลแบบนี้ต่อไปมันจะไม่ใช่เงื่อนไขเรื่องพื้นที่ แต่เป็นการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนให้การแสดงและกลุ่มละครต่าง ๆ สามารถทำงานต่อไป โดยไม่ต้องขอทุนจากองค์กรหรือต่างประเทศอย่างเดียว เพราะมันทำให้เห็นแล้วว่า ขอแค่มีพื้นที่ เราก็สามารถเซ็ทอัพเวที แสง สี เสียง และที่นั่งชมได้ โจทย์หลังจากนี้คือเราจะทำอย่างไรให้การแสดงมันรันไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงสร้างวัฒนธรรมการชมละครให้ชุมชนและผู้คนในเมือง แต่นั่นล่ะ ผมมั่นใจว่าถ้าเราเซ็ทระบบนิเวศเหล่านี้ขึ้นมาได้ เราจะได้เห็นศิลปินสาขาการแสดงเก่ง ๆ ในบ้านเราเกิดขึ้นอีกเยอะ” ชัย ทิ้งท้าย โปรเจกต์ ‘เล่นใหญ่’ Len Yai : Performance Arts กำลังจะกลับมาอีกครั้งในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) โดยปีนี้ นักสร้างสรรค์และคนทำงานศิลปะการแสดงทั้งจาก เชียงใหม่ และต่างประเทศ ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมสร้างสรรค์การแสดง เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเมืองแห่งเทศกาลและงานสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ โดยมีการแสดงตลอด 8 วัน จัดแสดง ณ ตึกมัทนา ย่านช้างม่อย พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนจะเป็น "วานเกิด" เบื้องหลังหนังสั้นจาก Film Space x CEA Chiang Mai
‘วานเกิด’ คือภาพยนตร์สั้นขนาดยาว ความยาว 42 นาที บอกเล่าถึงชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวในเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต และไม่อาจสลัดหลุดจากความห่วงหาอาวรณ์ต่อลูกที่เพิ่งจากไปได้ ก่อนจะมาพบว่าพิธีกรรมเก่าแก่ของล้านนาที่ชื่อว่า ‘วานเกิด’ อาจเป็นทางออกของปัญหาที่เธอเผชิญอยู่วานเกิด เป็นภาพยนตร์จากกลุ่ม Film Space ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง CEA เชียงใหม่ คณะสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Boarders Foundation) กำกับภาพยนตร์โดย เชวง ไชยวรรณ ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล เขียนบทโดย ณัฐธัญ กรุงศรี และอำนวยการผลิตโดย กริ่งกาญจน์ เจริญกุล รวมถึงได้ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ล้านนาคนสำคัญ รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาบท และร่วมแสดงความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เพียงเป็นการแท็กทีมของเหล่ามือฉมังทั้งสายฟิล์ม สายวิชาการ และสายล้านนาคัลเจอร์อย่างพร้อมพรั่ง หากส่วนหนึ่งของทีมผู้ผลิตยังมาจากกลุ่มเยาวชนในเชียงใหม่ที่แทบไม่เคยเรียนการทำหนังมาก่อนเลยด้วยซ้ำ นอกจากจะเป็นหนังสั้นที่ถูกสร้างอย่างเอาจริงเอาจัง นี่ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของน้อง ๆ เยาวชน กลุ่มนักเรียน และนักศึกษา (ที่ไม่ได้เรียนฟิล์มมาก่อน) ในเชียงใหม่ ที่มีใจริลองอยากทำหนัง และ CEA เชียงใหม่ ก็ช่วยสานฝัน ผ่านโครงการ Film Lab (กิจกรรมบ่มเพาะศักยภาพเยาวชนในภาคเหนือด้านการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์) ที่เปิดให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก 15 คน ได้มีโอกาสประกบกับทีมงานมืออาชีพ เพื่อผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น เราได้คุยกับ ผศ.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล รองคณบดีคณะสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ และผู้ขับเคลื่อนโครงการ Film Lab ถึงเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ “โครงการ Film Lab เป็นโครงการที่เราทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ร่วมกับ CEA เชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ และเยาวชน ๆ ในภาคเหนือที่สนใจในอุตสาหกรรมการทำภาพยนตร์ ได้มาเรียนรู้กระบวนการทำหนังจากเหล่ามืออาชีพ โดยปีนี้ เราทดลองชวนน้อง ๆ มาร่วมทำหนังจริงกับพวกเราเลย จะได้เข้าใจในทุกขั้นตอนการผลิต” อาจารย์กริ่งกาญจน์ เล่าจากใบสมัครของน้อง ๆ เกือบ 100 คน ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร โครงการจึงจำเป็นต้องคัดเลือกให้เหลือเยาวชนเพียง 15 คน โดยพิจารณาจากตำแหน่งในกองถ่ายที่น้อง ๆ สนใจอยากเรียนรู้ ทัศนคติ และความสะดวกในการร่วมออกกอง ก่อนที่ทีมงานจะชวนน้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ และออกกองถ่ายทำจริงในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาPhoto Credit: Film Space “มีน้อง ๆ มาร่วมถ่ายหนังกับเราจาก 9 สถาบัน เด็กสุดน่าจะเรียนอยู่ชั้น ม.5 ซึ่งน้องที่มาร่วมโครงการก็มีเกือบทุกตำแหน่งเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ผู้ช่วยกล้อง คอนทินิว ไปจนถึงแผนกคอสตูม“เราดีใจนะที่เห็นพวกเขากระตือรือร้นที่ได้เรียนรู้และร่วมงานกับเรามาก เห็นได้ชัดคือ เราจะให้น้องออกกองแค่ 2 วันจากทั้งหมด 3 วัน และให้เลิกงานก่อนตอน 4 โมงเย็น แต่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ยอมกลับบ้าน อยู่ช่วยงานกองต่อจนค่ำ และบางคนก็มาร่วมงานต่อวันที่ 3 ด้วย เราพบว่าพวกเขาไม่ใช่แค่อยากเรียนรู้ว่ากองถ่ายหนังเขาทำงานกันยังไง แต่เขาอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตหนังเรื่องนี้ออกมาจริง ๆ” อาจารย์กริ่งกาญจน์ เล่าต่อ Photo Credit: Film Spaceเพื่อให้เห็นภาพ เราจึงชวนตัวแทนน้อง ๆ เยาวชนที่ร่วมโครงการคุยต่อถึงเรื่องนี้ เริ่มจาก ที-ธีรพงศ์ วังงอน นักศึกษาคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ที่รับตำแหน่งผู้ช่วยกล้อง “ผมสนใจในเรื่องการถ่ายวีดิโออยู่แล้ว แต่การได้มาออกกอง ทำให้ผมพบว่ามันไม่ใช่แค่การทำงานเชิงเทคนิค แต่เป็นการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนต้องประสานหน้าที่กันให้ลงตัวที่สุด รวมถึงการทำงานภายใต้ความกดดัน เพราะการออกกองแต่ละครั้งมีเวลาจำกัด เราจึงต้องรู้จักรักษาเวลา และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นี่จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผมได้เรียนรู้ และรู้สึกสนุกไปกับมัน” ที กล่าว เกรซ-ปรียาภรณ์ ชูเกียรติงาม นักเรียนจากโรงเรียนสันทรายวิทยาคม ซึ่งรับตำแหน่ง Continue หรือการดูแลความต่อเนื่องในกองถ่ายนี้ “หนูเพิ่งได้ทราบว่ากองถ่ายหนึ่งกองมันไม่ใช่แค่ผู้กำกับ หรือตากล้อง แต่ยังต้องอาศัยทีมงานหลากหลายมาก อย่างตำแหน่งคอนทินิวที่หนูรับผิดชอบ ก็มีความสำคัญในการทำให้การถ่ายทำมีความต่อเนื่อง และราบรื่น ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าตำแหน่งอื่น ๆ เหมือนกัน รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้เรียนรู้งานนี้ค่ะ” เกรซ เล่าเช่นเดียวกับ ข้าวจ้าว-ทิพย์วิมล สุวรรณคร ที่รับตำแหน่ง Costume and Make Up ดูแลเสื้อผ้า-หน้าผมให้เหล่านักแสดง “นอกจากได้เรียนรู้ว่ากองถ่ายหนึ่งกองต้องมีใครคอยทำอะไรบ้าง หนูยังได้เรียนรู้อีกว่าการถ่ายหนังมันคือการผสานองค์ประกอบของทุกอย่างตั้งแต่แสง บรรยากาศ การแสดง รวมถึงการแต่งหน้า และเครื่องแต่งกายของนักแสดงให้มันสอดคล้องกันไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันสำคัญต่อการเล่าเรื่องหมด หนูดีใจที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานนี้ และตั้งตารอตอนที่หนังเรื่องนี้ถูกฉายค่ะ” ข้าวจ้าว กล่าวทั้งนี้ อาจารย์กริ่งกาญจน์ ยังได้สะท้อนสิ่งที่เธอพบจากโครงการครั้งนี้อย่างน่าสนใจ “เวลาพูดถึงการทำหนัง เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับผู้กำกับ ช่างกล้อง หรือคนเขียนบท แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่นั้น โครงการครั้งนี้จึงเป็นการเปิดให้น้อง ๆ เยาวชน ได้เรียนรู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นหนังแต่ละเรื่อง ทีมงานทุกฝ่ายมีความสำคัญไม่แพ้กัน และน้อง ๆ สามารถต่อยอดสิ่งที่เรียนรู้ไปเป็นอาชีพจริง ๆ ได้ทั้งหมด เราไม่จำเป็นต้องเรียนฟิล์ม เพื่อจบออกมาเป็นผู้กำกับอย่างเดียว บ้านเรายังต้องการคนหาโลเคชั่น คนทำคอนทินิว หรือผู้ช่วยผู้กำกับที่เก่ง ๆ อีกมาก เราหวังว่านอกจากน้อง ๆ จะได้เรียนรู้การทำหนัง โครงการอาจช่วยจุดประกายความสนใจเฉพาะด้านของน้อง ๆ แต่ละคน รวมถึงความสำคัญ และความสนุกจากการได้ทำงานเป็นทีม” อาจารย์กริ่งกาญจน์ ทิ้งท้าย“วานเกิด” จะกลับมาฉายอีกครั้งในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคาร TCDC เชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 22.00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
ย่านสร้างสรรค์ = พื้นที่ของทุกคน
Upper Floor Project และ Green Garden เชียงใหม่ เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ หากก็กำลังประสบกับปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาไม่น้อย อาทิ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (gentrification) การขาดแคลนของพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจ ในปีนี้ CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนโครงการในย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองอย่าง ‘ช้างม่อย – ราชวงศ์’ เริ่มจากโครงการ Upper Floor ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนิทรรศการชื่อเดียวกันในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เมื่อปีก่อน โครงการชี้ชวนให้คนในย่านกลับมาสำรวจพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ของตัวเอง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่ทางธุรกิจ รวมถึงการสำรวจความต้องการถึงรูปร่างหน้าตาหรือรูปแบบของกิจการสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แนวตั้ง รวมถึงพื้นที่ว่างในย่านที่หลายคนอาจมองข้าม จึงนำมาสู่การเปิดพื้นที่ Upper Floor 2 แห่งใหม่ (ต่อจากอาคารมัทนาที่ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการเมื่อปีที่แล้ว) ได้แก่ ‘บ้าน 2 ชั้น บนถนนช้างม่อยเก่า’ และ ‘The Goodcery Chiang Mai’ บนถนนราชวงศ์ พร้อมทั้งได้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ 4 กลุ่มที่นำร่องเข้ามาใช้พื้นที่ทั้งสอง ได้แก่ กลุ่มศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ Basement Performance Arts และแบรนด์เสื้อผ้า Longgoy Studio (ใช้พื้นที่บ้าน 2 ชั้น) กลุ่มศิลปินพำนัก 888 Studio Residency และแบรนด์เสื้อผ้า Thee (ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของ The Goodcery Chiang Mai) ซึ่งต่างเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ดั้งเดิมให้กลายเป็น สตูดิโอซ้อมการแสดง แกลเลอรีศิลปะ และโชว์รูมจำหน่ายสินค้าตามลำดับ ทั้งนี้ นักสร้างสรรค์ทั้ง 4 กลุ่มยังได้ทำเวิร์กช็อปร่วมกับผู้คนในย่านทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนในพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับการทำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับทุกคนอีกด้วย ไม่เพียงแค่สร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุน ในย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ ยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจอย่าง Green Garden หรือโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนผักสำหรับคนในย่าน สวนแนวตั้ง และการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมทางให้มีความร่มรื่นส่งเสริมการเดินเท้ามากขึ้น ส่งเสริมภูมิทัศน์และบรรยากาศย่านให้น่าอยู่ตามมาอีกด้วย
ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น: สนทนากับ พิชิต วีรังคบุตร
แม้จะผ่านไปเพียงครึ่งปี หากกล่าวได้ว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มีความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงการประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ หรือ New TCDC เพิ่มอีกถึง 10 จังหวัดทั่วประเทศ CEA ยังมีส่วนสนับสนุนให้เกิดเทศกาลสร้างสรรค์จากเหนือจรดใต้ ทั้งในเชียงราย ขอนแก่น และสงขลา รวมถึงเพิ่งประกาศธีมหลักสำหรับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดที่เชียงใหม่เดือนธันวาคมนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เท่านั้นยังไม่พอ CEA ยังได้จับมือกับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองผ่านเครื่องมือ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ในโครงการ ‘เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย’ (Thailand Creative District Network : TCDN) ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนใน 5 จังหวัดในภาคเหนือ (เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และพิษณุโลก) ไปแล้ว “หนึ่งในภารกิจหลักของ CEA คือการกระจายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ส่วนภูมิภาค เราตั้งใจจะสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับท้องถิ่น กิจกรรมอันหลากหลายที่ใช้กระตุ้นองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดจึงต้องเกิดขึ้นด้วย” พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ CEA หนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนที่ว่า กล่าวSCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่เพิ่งประกาศธีมในการจัดงานในชื่อ SCALING LOCAL : Creativity, Technology and Sustainability พร้อมรายชื่อของเหล่านักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ไป ในฐานะที่พิชิตคือหนึ่งในกรรมการคัดสรร และผู้ร่วมร่างแนวคิดหลักของเทศกาลในปีนี้ เราจึงชวนเขาพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังและความคาดหวังที่จะได้เห็นเทศกาลใหญ่ในปลายปีนี้ “ตามชื่อของธีมเลยครับ SCALING LOCAL คือแนวคิดที่เราอยากเทียบสเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่ามีผลงานของนักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในภาคเหนือไม่ใช่น้อยที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่นเดียวกับการเห็นแนวโน้มศักยภาพของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้ “ส่วนคำว่า Creativity, Technology และ Sustainability ผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ดีไซน์วีกก็ได้ใช้องค์ประกอบนี้ในการจัดงานมาตลอด เพียงแต่ครั้งนี้ เรานำ 3 คำนี้มาไฮไลท์ให้เด่นชัดขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณากับบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราจะยึดโยงอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือต้นทุนของความเป็นเมืองหัตถกรรมของภาคเหนืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี (Technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า รวมถึงการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานสร้างสรรค์ที่ผสานกับเทคโนโลยีแล้วให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม และโมเดลของการทำธุรกิจ” พิชิต เล่า “ในอีกแง่มุม ผมมองว่า Scaling Local มันคือการทำห้องทดลองด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะอันที่จริง การคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในเทศกาลฯ เราไม่ได้มองว่าผลงานทั้งหมดคือผลสำเร็จของนักออกแบบหรือผู้ประกอบการ แต่เป็นการทำให้ผู้ชมได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างทางที่ชวนให้ทุกคนนำไปคิดต่อยอดหรือเป็นแรงบันดาลใจ บางผลงานที่ได้จัดแสดงอาจอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เราก็อาจช่วยเขาคิดต่อ รวมถึงการได้จัดแสดงในเทศกาลฯ ผ่านสายตาของผู้ชมที่หลากหลาย เหล่านี้มันมีผลต่อการยกระดับงานออกแบบของผู้เข้าร่วมงานอย่างเห็นได้ชัด “ซึ่งสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญ เราไม่ได้จัดดีไซน์วีกขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความสวยงามของเมือง หรือแค่ทำนิทรรศการเท่ ๆ หรือวางประติมากรรมสวย ๆ ไว้ตามจุดต่าง แต่มันเป็นการทดลองความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผู้ที่มาร่วมแสดงงาน อย่างที่คุยเมื่อกี้ เครื่องยนต์อะไรที่มันทำงานอยู่แล้วในเมือง ก็ให้ทำงานต่อไปเถอะ หน้าที่ของเทศกาลฯ คือการเชื่อมหรือสร้างให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้มาช่วยขับเคลื่อนเมือง “อย่าลืมว่าเทศกาลมันมีแค่ 9 วัน สิ่งสำคัญคือหลังจากนั้นต่างหากว่ามันจะไปตั้งคำถามหรือเปิดประเด็นอะไรต่อให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง แต่ระหว่าง 9 วันนั้น เราก็จำเป็นต้องเปิดศักยภาพของเมืองให้เต็มที่ ให้เห็นว่าย่านไหน ซอยไหน หรือพื้นที่ไหนมันสามารถไปต่อยอดเศรษฐกิจของเมืองได้ “ยกตัวอย่างนิทรรศการ Upper Floor ปีที่แล้ว ที่ช่วยจุดประกายการรับรู้การใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ในย่านการค้า ซึ่งมันอาจมารับมือความท้าทายเรื่องค่าเช่าที่นับวันจะสูงขึ้นทุกทีในย่านการค้าซึ่งเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก เพราะความสำคัญของเทศกาลคือเรื่องนี้ การสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และหาวิธีหนุนเสริมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ให้ความเป็นไปได้นั้นสามารถแก้ปัญหาของเมือง หรือทำให้ผู้คนในเมืองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันจึงต้องดูทำกันต่อไป และคิดกับมันต่อไป” พิชิต กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี
เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี: สนทนากับ ชา – สุพิชา เทศดรุณ Chiang Mai Originalตลอดเวลาหลายสิบปีที่แวดวงดนตรีอินดี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ๆ แล้วเกิดขึ้นมาจากการมีชายผมยาวคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ชา-สุพิชา เทศดรุณ หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า “ชา ฮาโม” เป็นสมญาที่มาจากชื่อวงเก่าของเขาอย่าง Harmonica Sunriseชา เป็นชายหนุ่มที่มีใจรักในเสียงเพลงจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ย้ายเข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ผลิตผลงานเพลงของตนเองออกสู่สายตาผู้ฟังทั้งในนามวง Harmonica Sunrise วงคณะสุเทพการบันเทิง และผลงานเดี่ยวในนาม ChaHarmo นอกจากการสร้างผลงานของตนเอง ชายังคอยเป็นคนกลางประสานจัดงานดนตรีต่าง ๆ ภายในจังหวัด และล่าสุดกับการเคลื่อนไหวในนาม Chiang Mai Original ที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้วงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีโอกาสแสดงผลงานให้คนรู้จักการคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีมาเป็นเวลานาน และมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานดนตรีในต่างประเทศ ทำให้ชาได้เห็นตัวอย่างว่า ที่ต่างประเทศเขาสามารถใช้ดนตรีเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้ และสิ่งที่เขาเห็นนี้กลายเป็นความฝันที่เขาตั้งใจว่าจะกลับมาทำกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ดนตรีนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งเกิดเป็นงาน High HO Chiang Mai (ไฮโฮะ เชียงใหม่) ที่เขาและเพื่อน ๆ ตั้งใจจะใช้ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วงหน้าฝนที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของจังหวัด โดยนำวงดนตรีเชียงใหม่กระจายไปเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อชักชวนให้คนได้มาเที่ยวเชียงใหม่และรับชมดนตรีไปในตัว โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึง วันที่ 30 ตุลาคม 2567“ไอเดียการทำเทศกาล High Ho Chiang Mai จริง ๆ มันเริ่มต้นมาจากการที่เราเคยทํางานดนตรีเพื่ออย่างอื่นมาเยอะแล้ว คราวนี้เราอยากจะลองทําดนตรีเพื่อดนตรีดูบ้าง มันเป็นความคิดที่อยู่ในใจเรามานานแล้ว คือ ที่เชียงใหม่เรามีวงดนตรีเจ๋ง ๆ เยอะมากเลย แต่กว่าที่ผลงานของพวกเขาจะดังได้ปรากฏว่าวงพวกนี้ต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ตลอดเลยถึงจะมีโอกาส แต่เราก็จะเห็นว่า หลาย ๆ คนก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ ประกอบกับปัจจุบันเราเห็นว่ามีวงดนตรีเกิดขึ้นในเชียงใหม่จำนวนมากเลย งั้นเราจะทำยังไงได้บ้างถึงจะทำให้วงดนตรีเหล่านี้สามารถผลิตผลงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้ เราก็เลยก่อตั้ง Chiang Mai Original ขึ้นมาChiang Mai Original ที่ชาก่อตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่สนับสนุนให้ธุรกิจดนตรีในเชียงใหม่เกิดความเป็นยั่งยืน โดยเข้าไปสนับสนุนและช่วยนำเสนอผลงานของนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานของตนเอง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้าไปประสานงานให้เกิดงานที่เปิดเวทีให้ศิลปินที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีที่ได้นำเสนอผลงานของพวกเขา เช่น งาน CHIANG MAI SECRET ของ One Nimman ที่จัดเป็นประจำช่วงปลายปี ที่ชาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดแสดงดนตรีเปิดเวทีให้ศิลปินเชียงใหม่ได้นำเสนอผลงานตนเองภายในงาน, เทศกาลดนตรี Chiangmai Ho! Fest. ที่ Chiang Mai Original รวบรวมวงดนตรีจำนวนมากจากเชียงใหม่มาแสดง ซึ่งจัดขึ้นมา 4 ปีแล้ว นอกจากนั้นชายังมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันในงานเทศกาลดนตรีเปิดหมวกโลก 2024 GWANGJU BUSKING WORLDCUP FESTIVAL ที่ทางเมืองกวางจูประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นเพื่อใช้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมืองเขาทั้งนี้ การได้ไปร่วมและเห็นประโยชน์ของงานเทศกาลเปิดหมวกนี้ทำให้เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ชาได้ร่วมมือกับทำทาง CEA Chiangmai (Creative Economy Agency) จัดงาน Chiang Mai Busking หรือ ‘เทศกาลเชียงใหม่เปิดหมวก’ ที่พานักดนตรีกระจายไปเล่นตามสถานที่ในย่านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากให้นักดนตรีได้มีที่แสดงผลงานแล้วยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนได้มีโอกาสไปเที่ยวในย่านต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้นนอกจากการจัดงานต่าง ๆ ไม่นานมานี้ชากับกลุ่มพี่น้องนักดนตรียังได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ ขึ้นมา โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีเชียงใหม่ โดยประชุมกันในวาระต่าง ๆ ของแต่ละเดือนเพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาดูว่า อุตสาหกรรมดนตรีเชียงใหม่ตอนนี้แต่ละฝ่ายกำลังเจอปัญหาอะไร และจะสามารถร่วมกันผลักดันดนตรีเชียงใหม่ให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร ทั้งความเป็นอยู่ของศิลปิน คุณภาพงานของศิลปิน สถานที่จัดแสดงต่าง ๆ และเมื่อคนดนตรีเชียงใหม่แข็งแรงแล้ว ก็จะนำไปสู่การใช้ดนตรีช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ต่อไปได้การเกิดขึ้นของ เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ นี้ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการจัดทำฐานข้อมูลศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ที่แต่ละวงสามารถเข้าไปลงทะเบียนและฝั่งผู้จัดสามารถเข้าไปดูข้อมูลของศิลปินได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ Chiang Mai Original“ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ มีการประชุมหารือกันว่า ในช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นของเชียงใหม่นั้น เราพบว่าเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่มันซบเซา คนมาเที่ยวใช้จ่ายกันน้อย ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อตัวแวดวงดนตรีโดยตรงด้วย และช่วงฤดูฝนก็มักจะไม่ค่อยมีงานเทศกาลอะไรจัดให้นักดนตรีได้ไปเล่น ทุกคนก็ขาดรายได้ เราก็เลยคิดร่วมกันขึ้นมาว่า น่าจะลองใช้เทศกาลดนตรีเป็นตัวกระตุ้นชวนคนให้มาเที่ยวเชียงใหม่กันในฤดูกาลนี้ดูนะ ก็เลยตั้งชื่องานนี้ว่า High Ho Chiang Mai“โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนของ High Ho Chiang Mai จะมีงานดนตรีกระจายกันไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้ดนตรีเป็นแสงช่วยส่องให้ผู้คนได้ลองไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันนักดนตรีเชียงใหม่ก็จะได้มีงานเล่นกันในช่วงหน้าฝนนี้ด้วย“เราว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นะ และเชียงใหม่เองก็มีชื่อเสียงจากวงดนตรีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในจังหวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราว่ามันเป็นจุดขายหนึ่งของจังหวัดได้เลย ถ้าเราช่วยกันทำให้ดนตรีเชียงใหม่แข็งแรง คนเชียงใหม่เป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ กันเอง เราเชื่อว่าดนตรีจะช่วยดึงดูดให้คนมาที่เชียงใหม่ได้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วมากมายจากต่างประเทศ และเราเชื่อว่าเชียงใหม่เองมีความเป็นไปได้ เราฝันอยากจะเห็นภาพนั้นกับที่นี่” ชา กล่าวสำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารของ Chiang Mai Original สามารถติดตามได้ที่เพจ Chiang Mai Original (https://www.facebook.com/cnx.og.live) หรือ https://chiangmaioriginal.com/ และสำหรับคนที่สนใจอยากมาร่วมเทศกาลดนตรี High Ho Chiang Mai ในช่วงหน้าฝนสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://linktr.ee/highhofest
งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567
งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงาน (Exhibitors seminar) เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 สร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ จัดงานสัมมนาสุดพิเศษสำหรับผู้ร่วมจัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปลดล็อคพลังสร้างสรรค์: รู้ลึกกฎหมายสำหรับนักออกแบบ โดย ทีม EasyLaw” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักออกแบบที่ต้องการพัฒนาผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังมีบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Exhibition Tips and Tricks โดย คุณอมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ A.M.O Intergroup” ที่จะช่วยให้นักออกแบบทุกคนสามารถนำเสนอผลงานของตนได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567: ฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นเตรียมพบกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7-15 ธันวาคม 2567 ณ อาคาร TCDC เชียงใหม่ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษกับผลงานสร้างสรรค์จากนักออกแบบ นักศิลปะ และชุมชนท้องถิ่น พบกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการ งานเวิร์กช็อป การแสดง ดนตรี ศิลปะ ตลาด POP Marketติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:เว็บไซต์: https://www.chiangmaidesignweek.comเฟซบุ๊ก: Chiang Mai Design Week#ChiangMaiDesignWeek2024 #CMDW2024 #ScalingLocal
สิหมะ วัตถุดิบรสเปรี้ยวแห่งความยั่งยืนจากชนเผ่าอาข่า
สิหมะ คือ ผลไม้ออกผลเป็นพวงลูกเล็ก ๆ ที่ให้รสเปรี้ยวเฉพาะตัว เป็นพืชยืนต้นที่ขึ้นอยู่บนดอยสูง และเป็นพืชสำคัญทางวัฒนธรรมของ อาข่า ที่ มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก เจ้าของโปรเจกต์ Sansaicisco และหนึ่งในสมาชิกเครือข่าย Slow Food ที่ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม มะเป้งมีโอกาสไปค้นพบ สิหมะ ในหมู่บ้านอาข่า จากการไปเที่ยวหาเพื่อนของเขาอย่าง ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟชื่อดัง Akha Ama และทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผลไม้จากดอยสูง จากข้อมูลที่มะเป้งได้รับจากเพื่อนชาวอเมริกาใต้ในเครือข่าย Slow Food เขาพบว่าตอนนี้ที่อเมริกาใต้กำลังมีการเรียกร้องทวงคืนแม่น้ำขึ้น เนื่องจากเกิดการรณรงค์ให้ปลูกอะโวคาโด ขึ้นจำนวนมากเพื่อตอบรับกับกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลอะโวคาโด ถือเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการปลูกเยอะมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่า มะนาว หรือ ข้าวโพด ด้วยซ้ำ การที่อยู่ดี ๆ มีการสนับสนุนให้เกิดการปลูกอะโวคาโด ขึ้นเป็นจำนวนมากจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ปลูก และกลายเป็นปัญหาอย่างมากที่อเมริกาใต้ ซึ่งต่อมาทางประเทศไทยเองก็ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้เกิดการปลูกผลไม้ชนิดนี้ขึ้น ซึ่งมะเป้งกลัวว่าปัญหาที่เขาได้รับรู้จากเครือข่าย Slow Food กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศของเขาด้วยเช่นกัน มะเป้งจึงอยากที่จะลองมองหาทางเลือกอื่น ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงความเป็นอยู่ของผู้ปลูกได้ จนได้มาเจอกับ สิหมะ เข้า‘สิหมะ’ เป็นพืชท้องถิ่นของชาวอาข่า ที่สามารถเติบโตได้ง่ายในพื้นที่หมู่บ้านอาข่าบนดอยสูง ทุก ๆ บ้านของชาวอาข่าต่างก็มีต้นสิหมะขึ้นแทรกอยู่ร่วมกับต้นพืชผลอื่นๆ ในไร่ และเป็นพืชยืนต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวและไม่ต้องโค่นทิ้งได้ วัฒนธรรมของชาวอาข่าเองก็ผูกพันกับสิหมะอย่างแนบชิด “ผมพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เขาจะมีความเชี่ยวชาญในพืชทำกินตามระดับความสูงที่เขาอยู่ ปกาเกอะญอ เขาถนัดปลูกพืชไร่ อย่าง ข้าว เป็นต้น เขาก็จะอยู่ในระดับความสูงที่ไม่เกิน 900 เมตร ส่วนอาข่าสาเหตุที่เขาเชี่ยวชาญด้านกาแฟก็เพราะว่า เขาจะอยู่อาศัยกันที่ระดับความสูง 1,000 – 1,500 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ต้นกาแฟสามารถเติบโตและให้ผลคุณภาพดี ทีนี้เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเขาอยู่ในระดับความสูงที่เขาต้องการ คำตอบก็คือ สิหมะ เพราะสิหมะเป็นต้นที่เติบโตได้ดีในระดับความสูงเดียวกันนี้ ดังนั้น ชาวอาข่าอาศัยอยู่ที่ไหนตรงนั้นต้องสามารถปลูกต้นสิหมะได้ สิหมะจึงทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสูงของอาข่า และบรรพบุรุษของพวกเขายังได้ผูกสิหมะไว้กับวัฒนธรรมของอาข่าด้วย“เวลาคู่แต่งงานอาข่าจะไปสร้างเรือนหอของตนเอง เขาจะต้องนำสิหมะไปปลูกก่อน ถ้าสิหมะโตได้เขาจึงจะสามารถปลูกเรือนหอที่ตรงนี้ต่อไปได้ เพราะว่าเมื่อพวกเขามีลูก เขาจะต้องเด็ดใบสิหมะมาต้มน้ำและนำลูกไปอาบในน้ำต้มสิหมะ เด็กคนนั้นจึงจะถือว่าเป็นชาวอาข่าโดยสมบูรณ์ เวลามีใครป่วยไข้ในอดีตชาวอาข่าก็มีความเชื่อว่าให้เด็ดกิ่งสิหมะมาปัดตามตัวผู้ป่วย จะสามารถไล่โรคร้ายออกไปได้ นอกจากความสำคัญทางวัฒนธรรม สิหมะยังเป็นวัตถุดิบที่อาข่านำมาใช้ปรุงอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะนำมาหมักกับปลาก่อนนำไปห่อใบตองย่างไฟ เป็นต้น”ความผูกพันของอาข่ากับสิหมะที่อยู่คู่กันมาช้านาน ทำให้อาข่ามีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับต้นสิหมะ และทุกบ้านก็มีต้นสิหมะของตนเองอยู่แล้ว นอกจากนั้นกระบวนการเก็บเกี่ยวสิหมะของอาข่า เขาจะนำสิหมะมาตากให้แห้งใต้ถุนบ้านก่อนนำมาใช้ ทำให้สิหมะนั้นไม่เสียง่ายเหมือนพืชผลอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา และทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบเวลาไปต่อรองขายกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสิหมะไม่มีปัญหาทางด้านเวลาตรงนี้เพราะสามารถเก็บไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน ชาวอาข่าเองก็มีความพร้อมมากอยู่แล้วถ้ามีการเข้าไปส่งเสริมให้ สิหมะเป็นที่รู้จักและถูกคนในเมืองนำไปใช้ปรุงอาหารของตนเอง ดีกว่านำพืชต่างถิ่นเข้าไปสนับสนุนและชาวบ้านต้องไถต้นไม้พืชผลเดิมของพวกเขาทิ้งเพื่อปลูก ด้วยเหตุนี้สองปีที่แล้ว มะเป้งเลยตัดสินใจเข้ามาช่วยผลักดันให้สิหมะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นมะเป้งเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมชวนผู้คนในเมืองเดินทางไปเรียนรู้เรื่องสิหมะจากผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็คือชาวอาข่าบนดอย และเชิญเชฟลองนำสิหมะมาทดลองทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของวัตถุดิบชนิดนี้ ก่อนที่ต่อมาเขาจะนำสิหมะไปเข้าห้องทดลองด้าน Sensory กับ ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถอดส่วนประกอบของสิหมะออกมาว่า ให้ความเปรี้ยวแบบไหน และเหมาะที่จะนำไปปรุงกับอะไร ในอุณหภูมิเท่าไรบ้าง เพื่อที่มะเป้งจะได้นำข้อมูลชุดนี้มาทำเป็นไกด์บุ๊กเบื้องต้นสำหรับการใช้สิหมะเป็นวัตถุดิบ เพื่อที่เขาจะได้สามารถแนะนำให้กับผู้คนต่างๆ ที่สนใจจะใช้สิหมะประกอบอาหารได้ต่อมา CEA ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนร่วมกับมะเป้งในการผลักดันสิหมะให้กลายเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถสร้างเป็นมูลค่าของเชียงใหม่ได้ จนเกิดเป็นกิจกรรมชวนผู้ประกอบการด้านอาหารร้านต่าง ๆ ลองนำสิหมะไปสร้างสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ และนำมาวางขายในช่วงเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiangmai Design Week 2023) เพื่อให้คนทั่วไปได้ลองชิมและทำความรู้จักกับวัตถุดิบนี้ให้มากขึ้น เช่นร้าน Madae Slow Fish ร้านที่สนับสนุนปลาจากชาวประมงท้องถิ่น ได้ลองนำสิหมะมาผสมกับเกลือทาลงบนตัวปลาล่อปัดขณะย่าง ปลาที่พวกเขาได้มาจากชาวประมงท้องถิ่นที่ปัตตานีร่วมกับวัตถุดิบจากท้องถิ่นเชียงใหม่ร้าน Helo Cola ที่ทำคราฟต์โคล่า ได้ลองนำสิหมะไปใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบร่วมกับการทำโคล่าจนได้โคล่ากลิ่นหอมจากสิหมะ ที่มีรสและกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่มาจากวัตถุดิบท้องถิ่นภาคเหนือ ไม่ได้ด้อยไปกว่าโค้กกลิ่นซากุระ ที่เป็นโค้กพิเศษที่ญี่ปุ่นจะผลิตขึ้นในช่วงดอกซากุระบานร้าน Adirak Pizza ที่เชี่ยวชาญได้การชูวัตุดิบผ่านเมนูพิซซ่าและชีส ได้ลองนำสิหมะมาทำเป็นเมนู Age Fresh Cheese ที่คลุกผิวนอกด้วยสิหมะเสิร์ฟพร้อมน้ำผึ้งป่าบาร์แจ๊ส อย่าง Noir ที่ได้แรงบันดาลใจขนมของชาวอาข่า นำสิหมะมาผสมผสานกับน้ำผึ้ง น้ำกะทิ และไข่ขาวทำเป็นเมนูม็อกเทล ชื่อ Ja-Rare และอีกเมนูค็อกเทลที่ลองนำ สิหมะมา Infuse กับจิน (Gin) เป็นหนึ่งในส่วนผสม เป็นเมนู Long islayBar.san ที่ลองนำสิหมะมา infuse กับโซดาก่อนผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำเป็นเมนู High Ball ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวชื่อ San-Maภายหลังจากการลองนำสิหมะไปให้ร้านต่าง ๆ ได้ลองนำไปทดลองประกอบเป็นเมนูที่ทางร้านเชี่ยวชาญ ก็ได้มีการนัดประชุมกันที่ TCDC Chiang Mai เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้และปัญหาของวัตถุดิบสิหมะ เพื่อที่จะหาแนวทางดำเนินการส่งเสริมต่อไปทุกคนมองเห็นความเป็นไปได้และมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมวัตถุดิบท้องถิ่นชนิดนี้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของชาวอาข่าในท้องถิ่นได้อีกด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปมะเป้งจะเชิญนักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์หาราคากลางของ สิหมะ ดูว่าควรจะตั้งในราคาเท่าไหร่ โดยมะเป้งตั้งใจที่จะให้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้มากที่สุด ไม่ใช่การทำให้มันเป็นวัตถุดิบหายาก ที่ถูกใช้เฉพาะในร้านอาหารแพง ๆ เท่านั้น“ผมมีความฝันว่าสิหมะจะกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เป็นกระปุกอยู่ในครัวของผู้คน เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่คุณก็สามารถใช้ได้นะ และมันมาจากท้องถิ่นของเราด้วย ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ซึ่งผมตั้งใจว่าโปรเจกต์การส่งเสริมนี้ ผมจะไม่เป็นคนขาย ผมตั้งใจส่งเสริมมันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าใครสนใจติดต่อมา ผมจะทำหน้าที่เป็นคนบอกแหล่งซื้อให้ ทุกคนจะได้ไปซื้อไปสนับสนุนกับชุมชนอาข่า เป็นประโยชน์กับพวกเขาโดยตรงได้เลย ผมแค่อยากเห็นพืชท้องถิ่นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และสักวันหนึ่งถ้าเกิดพืชท้องถิ่นที่ชาวปลูกกันอยู่ในสวนอยู่แล้วสัก 10 ตัว มีคนสนับสนุน ชาวบ้านที่ปลูกก็จะมีรายได้จากพืชท้องถิ่น ชีวิตพวกเขาก็จะมั่นคงขึ้น ไม่ต้องไปไถต้นไม้เดิมๆ เพื่อเอาพืชต่างถิ่นมาปลูก ซึ่งจะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนั้นที่เป็นป่าต้นน้ำด้วย อีกอย่างถ้าพืชท้องถิ่นนั้นอยู่ในวัฒนธรรมของเขา พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเขา เมื่อมีคนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขามี ผมเชื่อว่า สิหมะ จะเป็นแบบนั้นได้” มะเป้ง กล่าวทิ้งท้าย