เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’

เผยแพร่เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว

Residency Program: Overseas Creators Collaboration 

เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’


กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ (Homecoming Creators and Oversea Creators Collaboration In Residency program) คือ โครงการศิลปินพำนัก ที่ CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ Japan Foundation และ Taiwan Designers’ Web ยกระดับเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ผ่านการเชิญนักสร้างสรรค์งานเซรามิกจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน มาใช้ชีวิต เรียนรู้ และพัฒนาผลงานร่วมกันกับสตูดิโอท้องถิ่นที่เชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนด้วยกัน (สิงหาคม – กันยายน 2567) ภายใต้โจทย์เรื่อง ‘Start from the Rice ’


จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และมูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita)


นักสร้างสรรค์จากต่างแดนที่มาร่วมโครงการมีด้วยกัน 2 คน ได้แก่ มูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) ศิลปินเซรามิก และทายาทรุ่นที่ 6 ของ Iwashita Pottery แห่งเมืองมาชิโกะ (Mashiko) ประเทศญี่ปุ่น และ ลิเดีย (Chia, Hsun-Ning) ศิลปินเซรามิก และผู้จัดการ Nie Studio เมืองไทเป ไต้หวัน โดยทั้งสองได้พำนักที่ อินเคลย์ สตูดิโอ (In-Clay Pottery) ของ ชิ-จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และชามเริญ สตูดิโอ (Charm Learn Studio) ของ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ ตามลำดับ


Chia, Hsun-Ning และ ณัฐพล วรรณาภรณ์


พร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย เจ้าบ้านอย่างมิกและชิยังรับหน้าที่เป็นไกด์อาสา พาแขกรับเชิญเยี่ยมชมย่านสร้างสรรค์และแหล่งผลิตงานเซรามิกชั้นนำในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของเชียงใหม่ ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ หมู่บ้านเหมืองกุง แหล่งผลิตน้ำต้น-เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของคนในภาคเหนือ รวมถึงโรงงานเซรามิกชั้นนำอย่าง โรงงานธนบดี ในจังหวัดลำปาง Earth & Fire เชียงใหม่ และสตูดิโอของศิลปินอีกมากมายทั่วเมือง



ไม่เพียงเท่านั้น ในโปรแกรม Residency ครั้งนี้ พวกเขาทั้ง 4 ยังได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาชุดใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Start from the Rice’ ซึ่งจัดแสดงที่ Anantara Chiang Mai Resort เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา


เริ่มจาก มูเนอากิ ที่นำความประทับใจจาก ‘ห่อตอง’ (ห่อใบตอง) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมสำหรับใส่ข้าวเหนียวและอาหารอื่น ๆ ของคนภาคเหนือ มาพัฒนาเป็นงานเซรามิก ก่อนจะตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และประติมากรรมสมเสร็จ สัตว์ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าจะสามารถดูดกินฝันร้ายได้ โดยสมเสร็จยังเป็นซีรีส์งานปั้นที่ มูเนอากิได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับ Iwashita Pottery ที่บ้านเกิดของเขาอีกด้วย



“ผมเพิ่งเคยได้เห็นห่อใบตองเมื่อมาที่เมืองไทยนี่แหละ มันเป็นทั้งภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่น่าทึ่งไม่น้อย ผมรู้สึกประทับใจในฟังก์ชั่นอันเรียบง่าย และความชาญฉลาดของคนท้องถิ่นที่ประยุกต์วัสดุธรรมชาติมาเป็นภาชนะอย่างยั่งยืน จึงทดลองนำรูปทรงของมันมาใช้กับงานปั้น โดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นดั้งเดิมในการใส่อาหารได้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็อยากทำให้งานชิ้นนี้มันสามารถเป็นของที่ระลึกและของตบแต่งได้ด้วย จึงใส่สัญลักษณ์ของสัตว์จากเชียงใหม่และบ้านเกิดผมเข้ามา ซึ่งก็ช่วยลดทอนความทึบและหนาของชิ้นงานหลักได้ดี” Muneaki กล่าว



ขณะที่ ชิ-จิรวงษ์ ผู้เปิดอินเคลย์ สตูดิโอ ให้ Muneaki พำนัก เลือกนำเสนอชุดงานเซรามิกภายใต้แนวคิด Rice Grains: Farming, Cooking and Forming (กระบวนการผลิตข้าวแบบประเพณี การจัดสำรับในมื้ออาหารที่ประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย และรูปร่างของเมล็ดและจมูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน) ปรากฏในรูปของถ้วยชามรูปทรงเมล็ดข้าวแบบผ่าครึ่งหลากหลายขนาด ซึ่งใช้กระบวนการเคลือบพื้นผิวให้มีสีขาวนวลและมันวาวเฉกเช่นกับเมล็ดข้าวของจริง 


“ผมสนใจกระบวนการลงแขก เก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาที่สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจ และความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่น และนอกจากการจำลองรูปลักษณ์ของเมล็ดข้าว ผมยังเลือกที่จะทำภาชนะใส่อาหารหลายรูปทรง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันของคนไทยไปพร้อมกัน” ชิ กล่าว



ด้วยความประทับใจที่ได้เห็นตะกร้าพลาสติกสำหรับใส่ขนมจีน ในร้านขนมจีนริมทางที่กาดหลวง ลิเดีย นักสร้างสรรค์จากไต้หวันที่เข้าพักและผลิตผลงานที่ชามเริญ สตูดิโอ จึงนำรูปทรงดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับเทคนิคการทำเซรามิกสาน อันคล้ายคลึงกับผลงานสร้างชื่อของเธอเองอย่าง Fiber Ceramic ที่เธอนำเชือกมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานเครื่องปั้นดินเผา ไม่เพียงเท่านั้น ลิเดียยังนำเสนอซีรีส์งานประติมากรรมที่เกิดจากการทดลองนำเมล็ดข้าวมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานปั้น อาทิ ถ้วยชามที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวมาคลุกกับเนื้อดินก่อนขึ้นรูปและเข้าเตาเผา การนำเมล็ดข้าวมาประดับตกแต่งบนพื้นผิว และชุดงานประติมากรรมที่ใช้เมล็ดข้าวมาสร้างเลเยอร์ซ้อนทับ เป็นต้น 


“การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่เกือบหนึ่งเดือน ทำให้ฉันประทับใจเสน่ห์ที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ รวมถึงการผสมผสานความเก่า-ใหม่ คละเคล้ากันในชิ้นงานและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง และความที่ฉันสนใจในการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการผสมผสานวัสดุอยู่แล้ว การได้มาที่นี่ ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้นไปอีก” ลิเดีย กล่าว



ปิดท้ายที่มิก แห่ง ชามเริญ สตูดิโอ ที่นำความประทับใจจากวัฒนธรรมกินข้าวเหนียวด้วยมือของคนภาคเหนือ (และวัฒนธรรมร่วมของคนอาเซียน) มาผสานกับลูกเล่นสนุก ๆ ที่เขาประยุกต์มาจากเครื่องประดับสอดนิ้วสำหรับการฟ้อนเล็บของช่างฟ้อนล้านนา จนเกิดเป็นซีรีส์เซรามิก ‘เล่น-กิ๋น-แต้’ (Journey with Sticky Rice) ที่มิกนำเสนอชุดภาชนะสำหรับการรับประทานอาหารที่ชวนให้ผู้ใช้สอดนิ้วเข้าไป 


“จริง ๆ สตูดิโอของผมก็อยู่ริมทุ่งนาอยู่แล้ว แต่การได้ย้อนกลับมาสำรวจวิถีชีวิตและแวดวงศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่บ้านเกิดของผมเองอีกครั้งตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมกลับมามองวัฒนธรรมการกินข้าว โดยเฉพาะการกินข้าวเหนียวของคนเมืองในมุมใหม่ เลยอยากนำเสนอความสนุกจากการกิน และการประยุกต์รูปแบบการจัดอาหารท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับภาชนะในจินตนาการนี้” มิก นักออกแบบที่สร้างชื่อจากการนำแรงบันดาลใจในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย มาพัฒนาเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย กล่าว


เหล่านี้คือบางส่วนของผลลัพธ์จากนักสร้างสรรค์ 4 คน จาก 3 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ โดย CEA 


ซึ่งแน่นอน หาใช่การได้มาแค่ผลงานชุดใหม่ ที่นักออกแบบจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายต่อไป  (รวมถึงจะถูกนำไปจัดแสดงใน Chiang Mai Design Week 2024 เดือนธันวาคมนี้) หากการได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานร่วมกันตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็นับเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้พวกเขานำไปต่อยอดเป็นผลงานในโปรเจกต์ใหม่ ๆ ต่อไป 


ที่สำคัญและอย่างไม่อาจปฏิเสธ กิจกรรมครั้งนี้ยังเผยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์บ้านเรา ค้นพบที่ทางในการนำผลงานไปเฉิดฉาย และเข้าถึงตลาดสินค้าสร้างสรรค์ระดับนานาชาติต่อไป


ไม่เพียงเป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักสร้างสรรค์จากต่างแดนอย่างดี ล่าสุด ผลงานบางส่วนของอินเคลย์ สตูดิโอ และชามเริญ สตูดิโอ ยังได้รับการคัดเลือกโดย MUJI ประเทศไทย ไปพัฒนาเป็นสินค้าภายใต้โครงการ Found MUJI Thailand ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในร้านสาขาของ MUJI ที่ศูนย์การค้า One Siam กรุงเทพฯ และ MUJI Flagship Store ที่ Central Chiangmai Airport เชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้


แชร์