เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

Basebox Theater และการค้นหาโอกาสใหม่ในพื้นที่การแสดงเชียงใหม่

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

เมื่อเดือนสิงหาคม – ต้นเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา โถงนิทรรศการบนชั้น 1 ของ TCDC เชียงใหม่ ถูกเนรมิตให้กลายเป็นโรงละครขนาด 100 ที่นั่ง ที่เปิดการแสดงโดยคณะละครศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ และศิลปินทัศนศิลป์ทั้งหมด 4 โชว์ (รวมทั้งสิ้น 13 รอบการแสดง) ฟังก์ชั่นของพื้นที่ที่หลายคนไม่คุ้นชินนี้ได้รับการรังสรรค์โดยกลุ่มนักการละครที่เกิดจากการรวมกันเฉพาะกิจในนาม Basebox Theater ซึ่งยังเป็นชื่อโปรเจกต์การแสดงในครั้งนี้ด้วย


ไม่เพียงการเปลี่ยนโฉมชั่วคราวในครั้งนี้ จะทำให้คนเชียงใหม่มีโอกาสได้ชมโชว์สนุก ๆ ที่ครอบคลุมทั้งละครเวที ละครเพลง งานเฟอร์แมนซ์สื่อผสม และอื่น ๆ แต่โปรเจกต์นี้ยังชี้ชวนให้เราได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการจัดเวทีการแสดง ซึ่งว่ากันตามตรง แม้เชียงใหม่จะครบพร้อมด้วยศิลปินการแสดงมากฝีมือในหลากสาขา และหลายคนก็มีชื่อเสียงบนเวทีระดับนานาชาติ หากเมือง… ไม่สิ หมายรวมถึงทั้งประเทศนี้ ก็กลับขาดพื้นที่ให้ศิลปินเหล่านั้นปล่อยของ และนั่นก็มีส่วนในการขวางกั้นโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในศาสตร์ด้านนี้ลงอย่างน่าเสียดาย


เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทีมงาน Baebox Theater ชัย-ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ เก่ง-อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ อ้อม-ศศิวิมล วงศ์จรินทร์ และ อ๊อด-สุธีระ ฟั่นแก้ว ถึงที่ไปที่มาของโครงการ และความคาดหวังในการขยายพื้นที่ให้ศิลปะการแสดงในเชียงใหม่ รวมถึงประเทศไทย ขับเคลื่อนแวดวงเพอร์ฟอร์แมนซ์ให้เข้าถึงผู้ชมได้ครอบคลุม สนุก และยั่งยืนกว่าที่เป็น 



จาก “เล่นใหญ่” สู่กล่องสี่เหลี่ยม


“โปรเจกต์นี้มันเป็นผลสะท้อนจากที่ผมและพี่เก่ง (อภิชัย เทียนวิไลรัตน์) ได้ทำโชว์ ‘เล่นใหญ่’ ในงานเชียงใหม่ดีไซน์วีกที่ทำต่อเนื่องมา 2 ปี ซึ่งเราก็เห็นตรงกันกับผู้จัดเทศกาลอย่าง CEA ว่า ประเทศเราเนี่ย แม้จะมีทรัพยากรด้านศิลปะการแสดงที่หลากหลาย แต่กลับไม่มีพื้นที่ให้ศิลปินได้ทำการแสดงเท่าที่ควร และมันก็เป็นเหตุผลหนึ่งว่าทำไมวัฒนธรรมการดูโชว์ในบ้านเราถึงไม่ค่อยได้รับความนิยมนักด้วย” ชัย-ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ กล่าว


โปรเจกต์ ‘เล่นใหญ่’ ที่ชัยอ้างถึงคือ Len Yai : Performance Arts ที่เขาและเก่ง เปลี่ยนพื้นที่สาธารณะในย่านช้างม่อยและราชวงศ์จัดการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ขนาดสั้นตลอด 9 วันในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ให้เป็นเวทีการแสดงชั่วคราว เพิ่มเติมสีสันให้เทศกาลด้วย Flash Show จากศิลปินหลากรุ่นอย่างสร้างสรรค์  


จาก ‘เล่นใหญ่’ เก่งและชัยจึงชวน CEA คิดต่อกันว่า ถ้าหากเกิดโมเดลของโรงละครเวทีขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำไปจัดวางตามพื้นที่ปิดต่าง ๆ ทั่วเมือง เช่น ห้องประชุมในโรงแรม ห้องอเนกประสงค์ในสำนักงาน ไปจนถึงห้องเรียนในสถาบันการศึกษา โมเดลนี้น่าจะจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่เพื่อการแสดงอีกมาก



“พอ CEA เข้าใจข้อจำกัดที่แวดวงการแสดงในบ้านเราเผชิญอยู่ ก็เลยเห็นตรงกันว่า เรามาทำพื้นที่นำร่องด้วยกัน ผ่านการเปลี่ยนโถงแสดงนิทรรศการของ TCDC เชียงใหม่ที่เป็นห้องปิดอยู่แล้ว นั่นคือที่มาของโปรเจกต์ Basebox Theater ซึ่งก็ตั้งชื่อให้ล้อกับลักษณะของห้องที่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมไปด้วย แล้วก็ทำโชว์ให้ผู้ที่สนใจจองเข้ามาชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ” ชัย กล่าว


รวมพลคนละคร


จากความตั้งใจให้โปรเจกต์นี้เป็นการจุดประกายให้ผู้คนเห็นถึงความเป็นไปได้ในพื้นที่ ทีมงานจึงมุ่งนำเสนอความหลากหลายของศิลปะการแสดง นั่นจึงนำมาสู่การคิวเรทโชว์ทั้ง 4 ที่มีรูปแบบแตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นงานเพอร์ฟอร์แมนซ์สื่อผสม ‘ไปต่อไป’ โดยกลุ่ม LittleShelter Box ละครเพลง ‘จดหมายรักจากเมียเช่า’ โดยกลุ่ม Part Time Theater และงานนาฏศิลป์ร่วมสมัย ‘ทับซ้อนเวอร์ชั่นซ้อนทับ’ โดยกลุ่มละครมะขามป้อม รวมถึงงานเฟอร์ฟอร์แมนซ์กึ่งเวิร์กช็อป ‘สวมบทสวด’ ที่พวกเขาเชื้อเชิญศิลปินแขนงต่าง ๆ ในเชียงใหม่มาเข้าเวิร์กช็อปการแสดง และเปิดให้ผู้ชมเข้ามาสังเกตการณ์อย่างอิสระตลอด 5 ชั่วโมง ประหนึ่งงานเรียลลิตี้โชว์  


“เราทำการแสดงทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน แต่ละสัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเรื่องกันไป โดยเลือกโชว์ที่ดูสนุกและเข้าใจง่ายเป็นหลัก เพื่อดึงดูดให้คนที่อาจไม่ได้ติดตามงานแขนงนี้มาก่อนได้เข้ามาร่วมสนุกด้วย” ชัย กล่าว


“2 ใน 4 โชว์ที่ถูกเลือกมาจัดแสดง เป็นโชว์ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ (‘ไปต่อไป’ และ ‘สวมบทสวด’) ส่วนอีก 2 เรื่องที่ถูกทำไว้อยู่แล้ว เราก็มีการเสริมกิมมิกใหม่ ๆ ด้วยการชวนศิลปินนอกสาขาการละครมาพัฒนาตัวเรื่องไปด้วยกัน เราจึงมองว่านอกจากจะชี้ชวนให้คนดูเห็นโอกาสในพื้นที่ และได้สนุกกับโชว์ เราว่ามันยังเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ให้กับคนทำงานศิลปะไปพร้อมกัน” อ้อม-ศศิวิมล วงศ์จรินทร์ กล่าว


นอกจากรับหน้าที่ประสานงาน และดูแลด้านการประชาสัมพันธ์งานในโปรเจกต์ชั่วคราวนี้ อ้อมยังเป็นผู้ก่อตั้ง Studio 88 Artist Residency ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อมศิลปินจากต่างประเทศให้มาพำนัก เรียนรู้ และพัฒนาผลงานในเชียงใหม่ ด้วยเหตุนี้ อ้อมจึงชวนโจนาธาน อาร์มัวร์ (Jonathan Armour) ศิลปินทัศนศิลป์และดิจิทัลชาวไอริชที่เคยมาร่วมโปรเจกต์ศิลปินพำนักกับอ้อม มาเป็นแขกรับเชิญ และประยุกต์ผลงานของเขาร่วมกับโชว์ต่าง ๆ ไปพร้อมกัน  


“ไม่เพียงแค่การแชร์ศิลปิน พื้นที่ซ้อมการแสดงในโชว์นี้ก็ยังเป็นการแชร์ข้ามโปรเจกต์ที่ลงตัวพอดี เพราะนอกจาก Studio 88 Artist Residency เราจะร่วมโปรเจกต์ Upper Floor อีกหนึ่งโครงการของ CEA ที่มีเป้าหมายในการจุดประกายการใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารพาณิชย์ในย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ (อ้อมไปเปิดแกลเลอรี่แสดงผลงานบนชั้น 2 ของ The Goodcery – ผู้เขียน) โดยผู้เข้าร่วมโครงการของ Upper Floor อีกกลุ่มอย่าง Base Performing Arts ไม่เพียงจะทำโชว์มาแสดงใน Basebox Theater แต่พวกเขายังเปิดพื้นที่ให้กลุ่มนักแสดงจากโชว์อื่น ๆ ไปซ้อมพร้อมกัน นี่จึงเป็นการทำงานข้ามโปรเจกต์ที่เกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของทั้งพื้นที่การแสดงและพื้นที่ซ้อมการแสดง ซึ่งทั้งสองพื้นที่ ไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อกิจกรรมเหล่านี้มาตั้งแต่ต้น” อ้อม กล่าว 


จุดประกายละครโรงเล็ก


ในส่วนของผลตอบรับของการแสดงทั้ง 4 โชว์ 13 รอบการแสดง (เริ่มต้นวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม และสิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2567) ทีมงานได้สะท้อนแง่มุมที่คาดไม่ถึงหลายเรื่องไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้


“จริงอยู่มันเป็นโชว์สั้น ๆ ในเวลาที่จำกัด แต่ผมรู้สึกว่าโปร์เจกต์นี้หรือโมเดลการแสดงรูปแบบนี้มันสามารถถูกกระจายไปเซ็ทอัพยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ ที่สำคัญคือ จากที่ศิลปินหลายคนติดภาพว่า TCDC เขามีพื้นที่สำหรับห้องสมุด และการจัดแสดงงานออกแบบแค่นั้น ทุกคนก็ได้เห็นมิติใหม่ ๆ ในการใช้พื้นที่ของที่นี่อย่างน่าสนใจ


“ขณะเดียวกัน พอเรามาจัดการแสดงในพื้นที่แบบนี้ ก็มีส่วนทำให้ศิลปินการแสดงได้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งในทางกลับกัน ด้วยผลตอบรับของผู้ชมที่เข้าชมเกือบเต็มทุกรอบ มันก็เป็นสัญญาณที่ดีว่า จริง ๆ ศิลปะประเภทนี้ มีคนสนใจค่อนข้างมาก แต่ที่ผ่านมา เขาไม่รู้จะติดตามยังไง หรือไปดูที่ไหนในเชียงใหม่” ชัย กล่าว


ในขณะที่อ้อมให้มุมมองที่น่าสนใจว่า นอกจากพื้นที่การจัดแสดง การมีคนตรงกลางที่เป็นตัวเชื่อมโยงการทำงานเข้าด้วยกันก็เป็นสิ่งสำคัญ หากอยากทำให้วัฒนธรรมการชมการแสดงในบ้านเรายั่งยืน



“เรามองว่าหลาย ๆ พื้นที่ เขาก็อยากเปิดให้มีการแสดงแบบนี้อย่างต่อเนื่องแหละ เพียงแต่เจ้าของพื้นที่เหล่านั้นไม่รู้จะเริ่มยังไง จะเชื่อมกลุ่มคนทำงาน และผู้ชมเข้าถึงกันได้อย่างไร จริงอยู่ว่าโปรเจกต์นี้ เราได้รับการสนับสนุนจาก CEA แต่ผลของมันก็ทำให้เราเห็นว่าที่ผ่านมา วงการการแสดงบ้านเรามันขาดอะไรบ้าง เช่น เงินทุน พื้นที่ การเข้าถึงผู้ชม การประชาสัมพันธ์ และที่สำคัญคือคนกลางที่เป็นนักจัดการ เพราะมันไม่ใช่แค่โปรดักชั่น แต่มันคือการผลักดันให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาทำงานร่วมกัน รวมถึงการสร้างบทสนทนาต่อยอดหลังการแสดง เพื่อค้นหาแนวคิดใหม่ ๆ ทั้งในเชิงศิลปะและการจัดการ” อ้อม กล่าว


ทั้งนี้ ภายในงาน อ้อมยังเก็บสถิติและความเห็นจากผู้ชม โดยทำสติ๊กเกอร์เรทราคาต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้แปะไว้บนเก้าอี้ เพื่อจะได้ทราบว่าในความเป็นจริง ผู้ชมพร้อมจะจ่ายค่าบัตรเข้าชมการแสดงเท่าไหร่


“เราตั้งไว้ต่ำสุดที่ 200 บาท และสูงสุด 800 บาท เชื่อไหม ในหลายรอบการแสดงมีคนแปะสติ๊กเกอร์ราคา 800 บาทไม่น้อย และหลังดูจบ หลายคนก็บอกเราว่า ทำไมไม่มีเรท 1,000 หรือ 1,200 บาทด้วยล่ะ  ซึ่งก็ทำให้เราเห็นว่า จริง ๆ มีผู้ชมทั้งคนไทย นักท่องเที่ยว และชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ที่เชียงใหม่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อดูโชว์แบบนี้อยู่ไม่น้อย รวมถึงมีผู้ใหญ่หลายคนฟีดแบ็คว่าน่าจะมีโชว์สำหรับผู้ชมที่เป็นเด็ก ๆ ด้วย เพราะเขาก็อยากให้ลูกหลานมาร่วมกิจกรรมแบบนี้บ้าง นั่นทำให้เราเห็นโอกาสว่าถ้าจะมีโรงละครขนาดเล็กที่จัดการแสดงอย่างต่อเนื่อง มันก็อาจเป็นไปได้” อ้อม กล่าว  


ก่อนจากกันไป เราได้ตั้งคำถามกับทีมงานว่า แล้วเราจะได้เห็นโชว์แบบนี้เกิดขึ้นอีกไหม? 


“จริง ๆ ผมอยากให้มันมีเทศกาลประจำปีด้วยซ้ำ ผมคิดว่าโมเดลแบบนี้ต่อไปมันจะไม่ใช่เงื่อนไขเรื่องพื้นที่ แต่เป็นการหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนให้การแสดงและกลุ่มละครต่าง ๆ สามารถทำงานต่อไป โดยไม่ต้องขอทุนจากองค์กรหรือต่างประเทศอย่างเดียว เพราะมันทำให้เห็นแล้วว่า ขอแค่มีพื้นที่ เราก็สามารถเซ็ทอัพเวที แสง สี เสียง และที่นั่งชมได้ โจทย์หลังจากนี้คือเราจะทำอย่างไรให้การแสดงมันรันไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงสร้างวัฒนธรรมการชมละครให้ชุมชนและผู้คนในเมือง แต่นั่นล่ะ ผมมั่นใจว่าถ้าเราเซ็ทระบบนิเวศเหล่านี้ขึ้นมาได้ เราจะได้เห็นศิลปินสาขาการแสดงเก่ง ๆ ในบ้านเราเกิดขึ้นอีกเยอะ” ชัย ทิ้งท้าย 


โปรเจกต์ ‘เล่นใหญ่’ Len Yai : Performance Arts กำลังจะกลับมาอีกครั้งในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024)  โดยปีนี้ นักสร้างสรรค์และคนทำงานศิลปะการแสดงทั้งจาก เชียงใหม่ และต่างประเทศ ได้รับการเชื้อเชิญให้เข้าร่วมสร้างสรรค์การแสดง เพื่อเฉลิมฉลองความเป็นเมืองแห่งเทศกาลและงานสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ โดยมีการแสดงตลอด 8 วัน จัดแสดง ณ ตึกมัทนา ย่านช้างม่อย พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่ 


แชร์