ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น: สนทนากับ พิชิต วีรังคบุตร
เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว
แม้จะผ่านไปเพียงครึ่งปี หากกล่าวได้ว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มีความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงการประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ หรือ New TCDC เพิ่มอีกถึง 10 จังหวัดทั่วประเทศ CEA ยังมีส่วนสนับสนุนให้เกิดเทศกาลสร้างสรรค์จากเหนือจรดใต้ ทั้งในเชียงราย ขอนแก่น และสงขลา รวมถึงเพิ่งประกาศธีมหลักสำหรับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดที่เชียงใหม่เดือนธันวาคมนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
เท่านั้นยังไม่พอ CEA ยังได้จับมือกับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองผ่านเครื่องมือ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ในโครงการ ‘เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย’ (Thailand Creative District Network : TCDN) ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนใน 5 จังหวัดในภาคเหนือ (เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และพิษณุโลก) ไปแล้ว
“หนึ่งในภารกิจหลักของ CEA คือการกระจายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ส่วนภูมิภาค เราตั้งใจจะสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับท้องถิ่น กิจกรรมอันหลากหลายที่ใช้กระตุ้นองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดจึงต้องเกิดขึ้นด้วย” พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ CEA หนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนที่ว่า กล่าว
SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่เพิ่งประกาศธีมในการจัดงานในชื่อ SCALING LOCAL : Creativity, Technology and Sustainability พร้อมรายชื่อของเหล่านักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ไป ในฐานะที่พิชิตคือหนึ่งในกรรมการคัดสรร และผู้ร่วมร่างแนวคิดหลักของเทศกาลในปีนี้ เราจึงชวนเขาพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังและความคาดหวังที่จะได้เห็นเทศกาลใหญ่ในปลายปีนี้
“ตามชื่อของธีมเลยครับ SCALING LOCAL คือแนวคิดที่เราอยากเทียบสเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่ามีผลงานของนักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในภาคเหนือไม่ใช่น้อยที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่นเดียวกับการเห็นแนวโน้มศักยภาพของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้
“ส่วนคำว่า Creativity, Technology และ Sustainability ผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ดีไซน์วีกก็ได้ใช้องค์ประกอบนี้ในการจัดงานมาตลอด เพียงแต่ครั้งนี้ เรานำ 3 คำนี้มาไฮไลท์ให้เด่นชัดขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณากับบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราจะยึดโยงอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือต้นทุนของความเป็นเมืองหัตถกรรมของภาคเหนืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี (Technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า รวมถึงการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานสร้างสรรค์ที่ผสานกับเทคโนโลยีแล้วให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม และโมเดลของการทำธุรกิจ” พิชิต เล่า
“ในอีกแง่มุม ผมมองว่า Scaling Local มันคือการทำห้องทดลองด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะอันที่จริง การคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในเทศกาลฯ เราไม่ได้มองว่าผลงานทั้งหมดคือผลสำเร็จของนักออกแบบหรือผู้ประกอบการ แต่เป็นการทำให้ผู้ชมได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างทางที่ชวนให้ทุกคนนำไปคิดต่อยอดหรือเป็นแรงบันดาลใจ บางผลงานที่ได้จัดแสดงอาจอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เราก็อาจช่วยเขาคิดต่อ รวมถึงการได้จัดแสดงในเทศกาลฯ ผ่านสายตาของผู้ชมที่หลากหลาย เหล่านี้มันมีผลต่อการยกระดับงานออกแบบของผู้เข้าร่วมงานอย่างเห็นได้ชัด
“ซึ่งสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญ เราไม่ได้จัดดีไซน์วีกขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความสวยงามของเมือง หรือแค่ทำนิทรรศการเท่ ๆ หรือวางประติมากรรมสวย ๆ ไว้ตามจุดต่าง แต่มันเป็นการทดลองความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผู้ที่มาร่วมแสดงงาน อย่างที่คุยเมื่อกี้ เครื่องยนต์อะไรที่มันทำงานอยู่แล้วในเมือง ก็ให้ทำงานต่อไปเถอะ หน้าที่ของเทศกาลฯ คือการเชื่อมหรือสร้างให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้มาช่วยขับเคลื่อนเมือง
“อย่าลืมว่าเทศกาลมันมีแค่ 9 วัน สิ่งสำคัญคือหลังจากนั้นต่างหากว่ามันจะไปตั้งคำถามหรือเปิดประเด็นอะไรต่อให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง แต่ระหว่าง 9 วันนั้น เราก็จำเป็นต้องเปิดศักยภาพของเมืองให้เต็มที่ ให้เห็นว่าย่านไหน ซอยไหน หรือพื้นที่ไหนมันสามารถไปต่อยอดเศรษฐกิจของเมืองได้
“ยกตัวอย่างนิทรรศการ Upper Floor ปีที่แล้ว ที่ช่วยจุดประกายการรับรู้การใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ในย่านการค้า ซึ่งมันอาจมารับมือความท้าทายเรื่องค่าเช่าที่นับวันจะสูงขึ้นทุกทีในย่านการค้าซึ่งเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก เพราะความสำคัญของเทศกาลคือเรื่องนี้ การสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และหาวิธีหนุนเสริมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ให้ความเป็นไปได้นั้นสามารถแก้ปัญหาของเมือง หรือทำให้ผู้คนในเมืองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันจึงต้องดูทำกันต่อไป และคิดกับมันต่อไป” พิชิต กล่าวทิ้งท้าย