ก่อนจะเป็น "วานเกิด" เบื้องหลังหนังสั้นจาก Film Space x CEA Chiang Mai
เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว
‘วานเกิด’ คือภาพยนตร์สั้นขนาดยาว ความยาว 42 นาที บอกเล่าถึงชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยวในเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต และไม่อาจสลัดหลุดจากความห่วงหาอาวรณ์ต่อลูกที่เพิ่งจากไปได้ ก่อนจะมาพบว่าพิธีกรรมเก่าแก่ของล้านนาที่ชื่อว่า ‘วานเกิด’ อาจเป็นทางออกของปัญหาที่เธอเผชิญอยู่
วานเกิด เป็นภาพยนตร์จากกลุ่ม Film Space ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง CEA เชียงใหม่ คณะสารสนเทศและการสื่อสารมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน (Friends Without Boarders Foundation) กำกับภาพยนตร์โดย เชวง ไชยวรรณ ผู้กำกับภาพยนตร์สั้นมือรางวัล เขียนบทโดย ณัฐธัญ กรุงศรี และอำนวยการผลิตโดย กริ่งกาญจน์ เจริญกุล รวมถึงได้ อาจารย์สนั่น ธรรมธิ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ล้านนาคนสำคัญ รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาบท และร่วมแสดง
ความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่เพียงเป็นการแท็กทีมของเหล่ามือฉมังทั้งสายฟิล์ม สายวิชาการ และสายล้านนาคัลเจอร์อย่างพร้อมพรั่ง หากส่วนหนึ่งของทีมผู้ผลิตยังมาจากกลุ่มเยาวชนในเชียงใหม่ที่แทบไม่เคยเรียนการทำหนังมาก่อนเลยด้วยซ้ำ นอกจากจะเป็นหนังสั้นที่ถูกสร้างอย่างเอาจริงเอาจัง นี่ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของน้อง ๆ เยาวชน กลุ่มนักเรียน และนักศึกษา (ที่ไม่ได้เรียนฟิล์มมาก่อน) ในเชียงใหม่ ที่มีใจริลองอยากทำหนัง และ CEA เชียงใหม่ ก็ช่วยสานฝัน ผ่านโครงการ Film Lab (กิจกรรมบ่มเพาะศักยภาพเยาวชนในภาคเหนือด้านการผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์) ที่เปิดให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก 15 คน ได้มีโอกาสประกบกับทีมงานมืออาชีพ เพื่อผลิตภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้น
เราได้คุยกับ ผศ.กริ่งกาญจน์ เจริญกุล รองคณบดีคณะสารสนเทศ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์ และผู้ขับเคลื่อนโครงการ Film Lab ถึงเบื้องหลังก่อนจะมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
“โครงการ Film Lab เป็นโครงการที่เราทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 ร่วมกับ CEA เชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ และเยาวชน ๆ ในภาคเหนือที่สนใจในอุตสาหกรรมการทำภาพยนตร์ ได้มาเรียนรู้กระบวนการทำหนังจากเหล่ามืออาชีพ โดยปีนี้ เราทดลองชวนน้อง ๆ มาร่วมทำหนังจริงกับพวกเราเลย จะได้เข้าใจในทุกขั้นตอนการผลิต” อาจารย์กริ่งกาญจน์ เล่า
จากใบสมัครของน้อง ๆ เกือบ 100 คน ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากร โครงการจึงจำเป็นต้องคัดเลือกให้เหลือเยาวชนเพียง 15 คน โดยพิจารณาจากตำแหน่งในกองถ่ายที่น้อง ๆ สนใจอยากเรียนรู้ ทัศนคติ และความสะดวกในการร่วมออกกอง ก่อนที่ทีมงานจะชวนน้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ และออกกองถ่ายทำจริงในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
Photo Credit: Film Space
“มีน้อง ๆ มาร่วมถ่ายหนังกับเราจาก 9 สถาบัน เด็กสุดน่าจะเรียนอยู่ชั้น ม.5 ซึ่งน้องที่มาร่วมโครงการก็มีเกือบทุกตำแหน่งเลย ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ผู้ช่วยกล้อง คอนทินิว ไปจนถึงแผนกคอสตูม
“เราดีใจนะที่เห็นพวกเขากระตือรือร้นที่ได้เรียนรู้และร่วมงานกับเรามาก เห็นได้ชัดคือ เราจะให้น้องออกกองแค่ 2 วันจากทั้งหมด 3 วัน และให้เลิกงานก่อนตอน 4 โมงเย็น แต่น้อง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ยอมกลับบ้าน อยู่ช่วยงานกองต่อจนค่ำ และบางคนก็มาร่วมงานต่อวันที่ 3 ด้วย เราพบว่าพวกเขาไม่ใช่แค่อยากเรียนรู้ว่ากองถ่ายหนังเขาทำงานกันยังไง แต่เขาอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตหนังเรื่องนี้ออกมาจริง ๆ” อาจารย์กริ่งกาญจน์ เล่าต่อ
Photo Credit: Film Space
เพื่อให้เห็นภาพ เราจึงชวนตัวแทนน้อง ๆ เยาวชนที่ร่วมโครงการคุยต่อถึงเรื่องนี้ เริ่มจาก ที-ธีรพงศ์ วังงอน นักศึกษาคณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ที่รับตำแหน่งผู้ช่วยกล้อง
“ผมสนใจในเรื่องการถ่ายวีดิโออยู่แล้ว แต่การได้มาออกกอง ทำให้ผมพบว่ามันไม่ใช่แค่การทำงานเชิงเทคนิค แต่เป็นการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนต้องประสานหน้าที่กันให้ลงตัวที่สุด รวมถึงการทำงานภายใต้ความกดดัน เพราะการออกกองแต่ละครั้งมีเวลาจำกัด เราจึงต้องรู้จักรักษาเวลา และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นี่จึงเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ผมได้เรียนรู้ และรู้สึกสนุกไปกับมัน” ที กล่าว
เกรซ-ปรียาภรณ์ ชูเกียรติงาม นักเรียนจากโรงเรียนสันทรายวิทยาคม ซึ่งรับตำแหน่ง Continue หรือการดูแลความต่อเนื่องในกองถ่ายนี้
“หนูเพิ่งได้ทราบว่ากองถ่ายหนึ่งกองมันไม่ใช่แค่ผู้กำกับ หรือตากล้อง แต่ยังต้องอาศัยทีมงานหลากหลายมาก อย่างตำแหน่งคอนทินิวที่หนูรับผิดชอบ ก็มีความสำคัญในการทำให้การถ่ายทำมีความต่อเนื่อง และราบรื่น ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าตำแหน่งอื่น ๆ เหมือนกัน รู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ได้เรียนรู้งานนี้ค่ะ” เกรซ เล่า
เช่นเดียวกับ ข้าวจ้าว-ทิพย์วิมล สุวรรณคร ที่รับตำแหน่ง Costume and Make Up ดูแลเสื้อผ้า-หน้าผมให้เหล่านักแสดง
“นอกจากได้เรียนรู้ว่ากองถ่ายหนึ่งกองต้องมีใครคอยทำอะไรบ้าง หนูยังได้เรียนรู้อีกว่าการถ่ายหนังมันคือการผสานองค์ประกอบของทุกอย่างตั้งแต่แสง บรรยากาศ การแสดง รวมถึงการแต่งหน้า และเครื่องแต่งกายของนักแสดงให้มันสอดคล้องกันไป ทุกสิ่งทุกอย่างมันสำคัญต่อการเล่าเรื่องหมด หนูดีใจที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมงานนี้ และตั้งตารอตอนที่หนังเรื่องนี้ถูกฉายค่ะ” ข้าวจ้าว กล่าว
ทั้งนี้ อาจารย์กริ่งกาญจน์ ยังได้สะท้อนสิ่งที่เธอพบจากโครงการครั้งนี้อย่างน่าสนใจ
“เวลาพูดถึงการทำหนัง เราจะพบว่าคนส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับผู้กำกับ ช่างกล้อง หรือคนเขียนบท แต่จริง ๆ มันไม่ใช่แค่นั้น โครงการครั้งนี้จึงเป็นการเปิดให้น้อง ๆ เยาวชน ได้เรียนรู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นหนังแต่ละเรื่อง ทีมงานทุกฝ่ายมีความสำคัญไม่แพ้กัน และน้อง ๆ สามารถต่อยอดสิ่งที่เรียนรู้ไปเป็นอาชีพจริง ๆ ได้ทั้งหมด เราไม่จำเป็นต้องเรียนฟิล์ม เพื่อจบออกมาเป็นผู้กำกับอย่างเดียว บ้านเรายังต้องการคนหาโลเคชั่น คนทำคอนทินิว หรือผู้ช่วยผู้กำกับที่เก่ง ๆ อีกมาก เราหวังว่านอกจากน้อง ๆ จะได้เรียนรู้การทำหนัง โครงการอาจช่วยจุดประกายความสนใจเฉพาะด้านของน้อง ๆ แต่ละคน รวมถึงความสำคัญ และความสนุกจากการได้ทำงานเป็นทีม” อาจารย์กริ่งกาญจน์ ทิ้งท้าย
“วานเกิด” จะกลับมาฉายอีกครั้งในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 1 อาคาร TCDC เชียงใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 12.00 – 22.00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย