เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

ทำตลาดชั่วคราวอย่างไรให้ยั่งยืน สำรวจแนวคิดธุรกิจหมุนเวียนใน POP MARKET

ไม่เพียงแค่นิทรรศการ เวิร์กช็อป และกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่นำเสนอแนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งเป็นธีมหลักในปีนี้ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ยังปรากฏในกิจกรรมออกร้านอย่าง POP Market ตลาดสุดชิคจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือ ในขณะที่ POP Market คือตลาดนัดที่จัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตลาดชั่วคราวนี้สอดรับไปกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงสินค้าที่จำหน่าย แต่ยังรวมถึงวัสดุตั้งร้าน การประหยัดพลังงาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะ รวมถึงส่งต่อแนวคิดดังกล่าวสู่ผู้มาร่วมงานอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับกลุ่มสมดุล เชียงใหม่ (Somdul Chiang Mai) จัดเวิร์กช็อป POP Market’s Vendor’s Training Program ชวนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกออกร้านใน Pop Market ปีนี้ กว่า 130 ราย (ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ แฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม) มาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กับ กมลนาถ องค์วรรณดี จาก นักออกแบบ วิทยากร และที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืนจาก CIRCO Circular Design Trainer และสิทธิชาติ สุขผลธรรม ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก CREAGY เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนตลาด POP Market ด้วยมิติของความยั่งยืนอย่างแท้จริง โปรแกรมแบ่งออกเป็น 2 วัน ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจในธุรกิจหมุนเวียนเชิงลึก โดยมีกมลนาถมาบรรยายในหัวข้อ ‘ความสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจสร้างสรรค์ และการสื่อสารคุณค่าด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค’ และส่วนที่ 2 ‘การบัญชีคาร์บอน / การคำนวณ Carbon Footprint เบื้องต้น’ ที่สิทธิชาติชวนผู้ร่วมงานเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีคาร์บอนเบื้องต้น และทดลองให้ผู้ร่วมงานคำนวนบัญชีคาร์บอนจากธุรกิจของตัวเอง  กมลนาถเริ่มต้นบรรยายถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่มีทางจะหายไปง่าย ๆ แต่มันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความโดดเด่นและน่าดึงดูด รวมถึงสามารถรับมือกับการแข่งขันด้านราคากับสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในบ้านเราอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน “ปัจจุบันการนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าผ่าน storytelling เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้สินค้าเราแตกต่างจากท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่มาของวัสดุ ความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงกระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการหลังจากสินค้าถูกใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างคุณค่าแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเราได้” กมลนาถ กล่าว  ขณะที่สิทธิชาติเล่าถึงความสำคัญของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หากความเข้าใจในเรื่องนี้ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถประหยัดต้นทุนการผลิต และมองเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์อย่างรอบด้าน “การคำนวณคาร์บอน คือการคำนวณพลังงานที่เราใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งอย่าลืมว่า พลังงานคือต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า หรือค่าแก๊สหุงต้ม ถ้าเรารู้ว่าเราใช้พลังงานไปมากน้อยอย่างไร คุณก็สามารถควบคุมต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ คือไม่ถึงกับต้องเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มันประหยัดพลังทั้งหมดก็ได้ แค่พิจารณาว่าในแต่ส่วนของธุรกิจเรามันมีตรงไหนที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุบ้าง แล้วค่อย ๆ ปรับแก้กันไป” สิทธิชาติ กล่าว  กมลนาถยังเสริมอีกว่าในอนาคตองค์ความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการรายย่อยอีกต่อไป เพราะปัจจุบันกลไกของภาครัฐอย่าง การเก็บภาษีคาร์บอน หรือมาตรการ ESPR (ระเบียบว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป) เริ่มนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กต่อมาตามลำดับ  “โลกกำลังต้องการวัตถุดิบ สินค้า และบริการที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือคาร์บอนต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะกับนโยบายจัดซื้อสีเขียวของภาครัฐ ที่จะมากระตุ้นอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน “ดังนั้นการปรับตัวนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในธุรกิจไว้ก่อนย่อมดีกว่าเพราะเมื่อโอกาสมาถึงเราจะพร้อม และยังสามารถใช้แนวทางการดำเนินกิจการด้วยความยั่งยืนเป็นแต้มต่อ ผ่านการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เป็นหัวใจของการประชาสัมพันธ์สินค้า ไปจนถึงการพาผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ตลาดสากลที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ได้ง่าย” กมลนาถ กล่าว ควบคู่ไปกับการแนะนำแบรนด์สินค้าและบริการขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของความยั่งยืนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จจากการหาช่องว่างทางการตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ กมลนาถยังยกตัวอย่างโมเดลของการทำตลาดนัดหรือตลาดชั่วคราวที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ  ไม่ว่าจะเป็น Bamboo Family Market (เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. บริเวณแยกหลุยส์ อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่) ผู้จัดตลาดฯ ที่พยายามปลูกฝังสำนึกด้านความยั่งยืนผ่านผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าท้องถิ่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ กลไกการลดขยะที่คิดแต่ต้นทาง โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมทั้งมีจุดล้างภาชนะ และการแยกขยะที่ชัดเจน   และ Green Market (ภายในเทศกาล Cry Mate ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567) ที่ให้บริการ Ecocrew สำหรับให้ผู้ซื้อเช่าภาชนะบรรจุอาหาร เพียงลูกค้าจ่ายเงินมัดจำค่าภาชนะ 20 บาท และจ่ายค่าชาม/จานมาใช้ใส่อาหารในงานอีก 5 บาท โดยเมื่อลูกค้านำภาชนะเหล่านี้ไปซื้ออาหาร ทางร้านก็จะลดราคาให้ 5 บาท เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าเสียไปตอนต้น และเมื่อนำภาชนะกลับมาคืนที่จุดรับก็ได้เงินมัดจำ 20 บาทคืน ลูกค้าจึงไม่ต้องแบกต้นทุนค่าภาชนะ ขณะที่ โลกก็ไม่จำเป็นต้องแบกขยะที่ย่อยสลายได้ยากเพิ่มขึ้นอีกจากตลาดแห่งนี้  “เราว่าเชียงใหม่และหลาย ๆ เมืองในภาคเหนือมีรากฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำสินค้าหัตถกรรมจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียน การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชั้นนำ รวมถึงการเกื้อหนุนทรัพยากรภายในชุมชน เหล่านี้คือแต้มต่อที่ดีในการทำพื้นที่การขายให้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน“แม้ตัวอย่างของการบริหารจัดการวัสดุและขยะเหลือใช้ในตลาดสองแห่งที่ยกมาอาจฟังดูยุ่งยากทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้บริโภค แต่มันก็ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตลาดเหล่านี้อย่างมาก รวมถึงยังเป็นการส่งต่อสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้แก่ผู้ซื้อออกไปอีกเช่นกัน” กมลนาถ กล่าว  นอกจากนี้ สิทธิชาติยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับจากการกำหนดทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับความยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ประกอบการตระหนักในเรื่องนี้ ธุรกิจจะไม่ได้จำกัดผู้เล่นเพียงแค่ ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ แต่ยังให้ความสำคัญปังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดด้วย สิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองของเจ้าของกิจการ ทำให้มองเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงข้อมูลและตัวแปรอีกมากมายสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของเรา  “อย่าลืมว่าผู้ประกอบการรายย่อยและ ผู้บริโภค คือประชากรส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ ถ้าผู้ขายสามารถส่งต่อคุณค่าด้านความยั่งยืนให้กับผู้ซื้อได้ มันก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทุกคน ผมจึงคิดว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราเนี่ยแหละคือพลังสำคัญที่ทำให้โลกเราดีกว่านี้ได้” สิทธิชาติ กล่าวทิ้งท้าย  เหล่านี้คือผลลัพธ์บางส่วนจากมุมมองของสองนักเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนของความคิดจะปรากฏเป็นรูปธรรมภายในงาน POP Market เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ แล้วมาพบกันที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 มาร่วมช้อปปิ้งสินค้าสร้างสรรค์ พร้อมกับส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกไปด้วยกัน

สำรวจแนวคิด Chiang Mai Design Week 2024 ผ่านมุมมองของ 4 นักสร้างสรรค์ชั้นนำ

SCALING LOCAL: Creativity, Technology, Sustainability คือแนวคิดหลักในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ เทศกาลที่ชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจศักยภาพของท้องถิ่นในภาคเหนือที่เรามี ก่อนจะหาวิธีต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อทำให้ระบบนิเวศสร้างสรรค์ในบ้านเรามีความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมให้ผลงานจากผู้คนในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสในการเฉิดฉายบนเวทีโลกทั้งนี้ CMDW มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าคณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้ง 4 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักออกแบบและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทย ไปดูมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับแนวคิด SCALING LOCAL ทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภาคเหนือ และภาพรวมในผลงานที่มาร่วมแสดงในเทศกาลปีนี้ไปพร้อมกันงานสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบและเทคโนโลยีก็ไม่ใช่แค่คนในแวดวง ITวิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์ผู้ก่อตั้ง Asiatides Paris และเจ้าของ Wit’s Collection“ในฐานะที่ผมทำ Asiatides ที่เป็นตัวกลางสรรหาสินค้าออกแบบระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในเอเชียและยุโรปมาหลายสิบปี ผมตระหนักดีว่างานออกแบบของนักสร้างสรรค์ในภาคเหนือเรามีความประณีตและงดงามมาก รวมถึงงานของคนรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืองานหลายชิ้นอาจจะยังไปไม่ถึงผู้ซื้อ ซึ่งอาจด้วยกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างทำได้จำกัด การตลาด หรือขาดตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงสินค้าถึงผู้ซื้อ แต่นั่นล่ะ เพราะมันไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ เราจะขายผลงานของเราออกไปในวงกว้างยังไง …“ในส่วนของภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมคิดว่าเราได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่จะดีมาก ๆ ถ้าสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลงานมาร่วมแสดงมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำบอร์ดโครงงาน แต่เป็นการนำไอเดียมาผลิตเป็นผลงานตัวอย่างจริง ๆ ให้ชม สิ่งนี้มันช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ ที่มาดูงานได้เยอะ เพราะเอาเข้าจริง ในเทศกาลฯ เรามีโปรแกรมพวกโชว์เคสของมืออาชีพ เวิร์กช็อป หรือ Business Matching ที่พอสนับสนุนผู้คนในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีพื้นที่แสดงผลงานจากสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้ เทศกาลฯ จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใช่เฉพาะแค่นักศึกษาในภาควิชาออกแบบให้มาสนใจได้ …“ผมว่าหลายคนยังติดภาพว่าเทศกาลออกแบบมันเป็นเรื่องของคนในแวดวงงานออกแบบหรือศิลปะ ขณะที่ดีไซน์วีกในต่างประเทศ เราจะเห็นคนที่มาร่วมแสดงงานมาจากสายวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักออกแบบไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอื่น ๆ จริงอยู่ที่ชื่อมันคือ Design Week แต่ Design ในที่นี้มันไม่ใช่แค่ Designer แต่เป็นการดีไซน์อะไรก็ตาม ที่มันช่วยให้เราสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น มีสุนทรียะขึ้น ไปจนถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเราได้ เพราะงานสร้างสรรค์มันไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เป็นแนวคิดของเทศกาลในปีนี้ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในแวดวง IT แต่มันหมายถึงสิ่งที่แวดล้อมวิถีชีวิตของเราทุกคน”งานคราฟต์ + เทคโนโลยี = ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอมรเทพ คัชชานนท์ผู้ก่อตั้ง AmoArte และที่ปรึกษา The Design & Objects Association (D&O)“เท่าที่ดูภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมเห็นว่าทิศทางของงานสร้างสรรค์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงการอธิบายที่มาที่ไปของการใช้วัสดุซึ่งสอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากธีมของเทศกาลปีนี้ ประเด็นด้านเทคโนโลยีอาจยังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าใดนัก อาจจะเพราะงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ในภาคเหนือจะเป็นงานคราฟต์ นักออกแบบเลยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก …“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ถ้าเรานำมิติด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ อาจไม่ต้องถึงกับเทคโนโลยีขั้นสูงหรือจักรกลโรงงานอะไร แค่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ผมว่าสิ่งนี้มันช่วยยกระดับงานคราฟต์ที่มีได้มากเลยนะ ที่พูดแบบนี้ต้องออกตัวว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการผลิตผลงานด้วยมือในทุกกระบวนการแบบ 100% นะ นี่คือเสน่ห์ของงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่และภาคเหนืออย่างไม่อาจปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมองถึงแง่มุมความยั่งยืนด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ ผมว่าการเปิดรับเทคโนโลยีให้มาช่วยด้วยเป็นเรื่องจำเป็น”นวัตกรรมสร้างตัวตนปิยนันท์ มหานุภาพที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX)“หลายปีหลังมานี้งานออกแบบที่พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ หรืองานสร้างสรรค์แนวมัลติมีเดียได้รับความนิยมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองมากไปกว่านั้น ถ้าเราสนใจในกระบวนการคิดและผลิตเชิงนวัตกรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ อาทิ เทคโนโลยีเส้นใยผ้า หรือการนำวัสดุธรรมชาติมาผสานกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า เหล่านี้มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานสร้างสรรค์ของเรามีความยูนีคไม่เหมือนใคร และทำให้แบรนด์ของเรามีตัวตนที่ชัดเจน …“ผมยกตัวอย่างแบรนด์หนึ่งที่เขานำเศษใบไม้มาต่อยอดเพื่อการผลิตเป็นวัสดุทดแทนหนัง ขณะเดียวกันเขาก็ได้นำนวัตกรรมนี้ไปจดสิทธิบัตร และนำมาผลิตเป็นสินค้า โดยชูเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ ตรงนี้แหละคือปลายทางของความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนมันไม่ใช่เพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการที่แบรนด์ของคุณต้องอยู่ให้ได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือแบรนด์คุณต้องมีความโดดเด่น และมีทิศทางที่สอดรับไปกับกระแสของโลก มันอาจจะเริ่มจากแนวคิดเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่ถ้าธุรกิจคุณอยู่ได้ แบรนด์คุณก็จะเติบโต และถ้าแบรนด์คุณเติบโตโดยมีรากฐานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือหัวใจของความสำเร็จ”อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่การได้เห็นพัฒนาการระหว่างทางคือสิ่งสำคัญสุเมธ ยอดแก้วเจ้าของค่ายเพลง Minimal Records และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่“ดีไซน์วีกปีนี้ผมดูสองส่วน คือเป็นคณะกรรมการพิจารณางานโชว์เคส กับเป็นผู้จัดงาน LABBfest. ที่เป็นอีเวนท์ด้านดนตรีของศิลปินในภาคเหนือ พูดถึงเรื่องแรกก่อน ปีนี้ ผมเห็นว่ามีผู้เข้าทำโชว์เคสหลายรายที่เคยมาร่วมแสดงกับเทศกาลในปีก่อน ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงการนำเสนอ การทำแบรนด์ดิ้ง ไปจนถึงวิธีคิดในการต่อยอดในเชิงธุรกิจ งานโชว์เคสหลายชิ้นมีกระบวนความคิดในเชิงงานวิจัยทางศิลปะที่เล่นล้อไปกับช่วงเวลา ฤดูกาล บริบทของพื้นที่ หรือความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงผู้ชมให้ไปคิดต่อได้ อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาในมิติด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของเทศกาล อาจจะต้องมีการนำเสนอหรือต่อยอดให้มากกว่านี้ …“แต่นั่นล่ะ ผมมองว่าดีไซน์วีกหรือเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ มันไม่ใช่แค่การนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการได้เห็นพัฒนาการหรือกระบวนการทำงานของนักสร้างสรรค์แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน เพื่อเป็นบทเรียนหรือเป็นแรงบันดาลใจ การที่เราได้เห็นนักสร้างสรรค์หน้าเดิม ซึ่งมีผลงานที่มีแนวคิดต่างไปจากเดิม หรือมีพัฒนาการกว่าเดิม หรือกระทั่งจุดด้อยที่ถ้ามีการปรับแก้ หรือต้องอาศัยประสบการณ์มากกว่านี้ถึงจะสมบูรณ์ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของเทศกาลฯ …“ขณะที่งาน LABBfest. ก็เช่นกัน นอกจากในปีนี้ที่เราจะขยายสเกลให้มากขึ้น รวมถึงมีการชักชวนผู้จัดเทศกาลดนตรีในญี่ปุ่นมาดูงานแสดงของศิลปินท้องถิ่น ควบคู่ไปกับโปรโมเตอร์จากค่ายเพลงที่เราเชิญมาอยู่แล้วในงาน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็หวังว่านี่มันจะเป็นโอกาสให้ศิลปินในบ้านเราได้มีช่องทางเพิ่มมากขึ้น …“ผมว่าทั้งแวดวงนักสร้างสรรค์และวงการดนตรีของเชียงใหม่มีความคล้าย ๆ กันอยู่ ตรงที่เรามีระบบนิเวศด้านพื้นที่และโอกาสค่อนข้างมาก มีคนทำงานฝีมือดี ๆ เยอะแยะ แต่สิ่งที่ขาดคือคาแรกเตอร์หรือความเฉพาะตัวที่ทำให้ผลงานของพวกเขาโดดเด่นหรือแตกต่างกว่าคนอื่น ๆ สิ่งนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์และการขัดเกลา และการได้เห็นผลงานของคนอื่น ๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลหรืออีเวนท์ประมาณนี้เยอะ ๆ จะช่วยได้มาก”

SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability

เชียงใหม่คือเมืองที่ขึ้นชื่อในด้านการเป็นศูนย์กลางอันรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาเชิงช่าง และความคิดสร้างสรรค์ แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นเรื่องที่ทราบดีว่าเมืองของเรานี้ก็กำลังเผชิญกับความท้าทายหลากประการที่จำเป็นต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงมลภาวะทางอากาศ ฯลฯ แม้เราไม่อาจรับมือกับสิ่งเหล่านี้ด้วยงานออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ได้เพียงลำพัง หากเมื่อพวกเราทุกคนในท้องถิ่นได้นำต้นทุนอันเป็นแต้มต่อของเมืองมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ต่อยอด และหลอมรวมเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์จึงอาจไม่ใช่เพียงหนทางในการแก้ปัญหาในระดับเมือง แต่ยังรวมถึงการสร้างต้นแบบหรือบทเรียนสำหรับการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั้งในระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับสากล เพื่อเป็นหนึ่งในพื้นที่กลางสำหรับการผสานพลังความร่วมมือ เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ หรือ Chiang Mai Design Week จึงได้รับการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี เพื่อเป็นการอัปเดตนวัตกรรมและความร่วมมือของเหล่านักสร้างสรรค์หลากสาขาอาชีพ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือกับเหล่านักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการจากเมืองอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาส นวัตกรรม และช่องทางธุรกิจให้เติบโตพร้อมกันอย่างยั่งยืน เทศกาลที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 10 ในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability ซึ่งเป็นแนวคิดในการกระชับความร่วมมือของเหล่านักสร้างสรรค์ในระดับท้องถิ่นเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในระดับสากล ผ่าน 3 องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้พร้อมรับมือกับความท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต เริ่มจาก Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ที่เทศกาลฯ ปักหมุดในฐานะทรัพยากรพื้นฐานที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ทรัพยากรที่เกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญาด้านศิลปวัฒนธรรมและสุนทรียะอันชาญฉลาดของผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นต่อเนื่องกันมาหลายศตวรรษ และเป็นทรัพยากรที่ทางเทศกาลฯ อยากชวนให้ทุกคนย้อนกลับมาสำรวจ ใคร่ครวญ และตระหนักในคุณค่าที่มีอย่างภาคภูมิ Technology (เทคโนโลยี) คือเครื่องมือในการต่อยอดต้นทุนของเมืองไปสู่ศักยภาพที่ยังประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งหาใช่เพียงเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ชีวิต แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาชุมชน สังคม รวมถึงการบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นความท้าทายสำคัญระดับนานาชาติในปัจจุบัน ที่สำคัญ นี่ยังเป็นเครื่องมือที่เชื่อมร้อยศักยภาพของเมืองเชียงใหม่สู่การพลิกโฉมทางเศรษฐกิจ และที่ทางที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และ Sustainability (ความยั่งยืน) อันเป็นปลายทางของความร่วมมือระหว่างผู้คน ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ความยั่งยืนอันจะปรากฏทั้งในรูปแบบของการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม โอกาสของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้จะถูกร้อยเรียงในฐานะเสาหลักของกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 9 วันของเทศกาลในพื้นที่ทั่วเมืองเชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนิทรรศการงานออกแบบขนาดใหญ่ งานเสวนา เวิร์กช็อป กิจกรรมทางศิลปะ การแสดง ภาพยนตร์ และดนตรี รวมถึงเป็นกรอบความร่วมมือทางธุรกิจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำวิธีคิดที่ทางเทศกาลฯ ให้ความสำคัญเสมอมาตลอดหนึ่งทศวรรษ เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนที่แท้จริงเกิดจากศักยภาพของคนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราทุกคน มาร่วมกันเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์ สำรวจและพัฒนานวัตกรรม และจุดประกายให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเมืองเชียงใหม่ให้เฉิดฉายสู่ระดับโลกกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ระหว่างวันที่ 7 – 15 ธันวาคมนี้ ที่เชียงใหม่

ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก CMDW2024

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 2)

Homecoming Creators (ตอนที่ 2)ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่อัจฉริยา โรจนภิรมย์Kalm Village’s Showcasesอัจฉริยา โรจนภิรมย์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Kalm Village หมู่บ้านศิลปหัตถกรรมและงานออกแบบร่วมสมัยใจกลางย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ พื้นที่อันเป็นส่วนผสมระหว่างพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ คาเฟ่ และจุดเช็คอินท่ามกลางงานออกแบบและสถาปัตยกรรมสวยเก๋แห่งนี้ ได้ร่วมกับ CMDW ในปีที่ผ่านมา ในการจัดโชว์เคส 2 งาน ได้แก่ สีสันกับชีวิต: นิทรรศการเฟอร์นิเจอร์ โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์และตบแต่งเก้าอี้ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยแง่มุมทางหัตถศิลป์ที่หลากหลาย และนิทรรศการ Adat & Alam: Weaving the Ancestral Pathway นิทรรศการที่ Kalm Village ร่วมกับ Gerimis Art นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือจากมาเลเซีย นอกจากนี้ Kalm Village ยังมีเวิร์กช็อปสนุกๆ อีกหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่งานออกแบบ งานหัตถกรรม และกาแฟ ซึ่งจัดขึ้นตลอดช่วงเทศกาล “ปีนี้ (CMDW2023) เป็นปีที่สองที่ทางคาล์มวิลเลจจัดงานพร้อมกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ โดยมี 2 นิทรรศการหลัก พร้อมกับกิจกรรม talk และ workshop ที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งในมุมมองร่วมสมัยและพื้นถิ่น ทั้งในภาคเหนือ และต่างประเทศ ซึ่งเราได้รับเกียรติจากศิลปินมาเลเซียมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและผลงาน เราหวังว่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จะเห็นคุณค่าและแรงบันดาลใจใกล้ตัวในบ้านและเรื่องราวของตนเอง รวมถึงมุมมองจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงคุณค่าที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์ในแบบฉบับของตัวเอง ทั้งในแง่มุมของความคิดที่หลากหลาย และการผสานความเก่า-ใหม่อย่างลงตัว ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป” อัจฉริยา กล่าว ทำความรู้จัก Kalm Village เพิ่มเติมได้ทาง https://www.kalmvillage.com/     สุพิชา เทศดรุณกิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking สุพิชา เทศดรุณ คือศิลปินหัวหน้าวง Suthep Band วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่ผสานความเป็นพื้นเมืองภาคเหนือ เข้ากับดนตรีแบบลูกกรุง ลูกทุ่ง และป๊อบ-ร็อคร่วมสมัยอย่างสนุกสนาน นอกจากบทบาทของนักดนตรี เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Original ซึ่งเป็นทั้งบาร์ดนตรีสด และกลุ่มความร่วมมือที่ขับเคลื่อนแวดวงดนตรีของคนเชียงใหม่ให้มีที่ทางในพื้นที่สาธารณะ ไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของนักดนตรี โดยในเทศกาลฯ นี้ สุพิชาในฐานะกลุ่ม Chiang Mai Original ได้จัดกิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking คัดสรรศิลปินท้องถิ่นและศิลปินรับเชิญจากต่างจังหวัดกว่า 30 วง มาทำการแสดงในพื้นที่จัดงานหลักทั้ง 4 พื้นที่ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังเป็นหนึ่งในความพยายามของสุพิชาที่จะโปรโมทผลงานเพลงของนักดนตรีท้องถิ่น ไปพร้อมกับใช้เสียงดนตรีสร้างสีสันและความสนุกในพื้นที่สาธารณะ เสริมเสน่ห์ร่วมสมัยให้กับเมืองทั้งเมือง“ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปร่วมงาน Busking World Cup in Gwangju ซึ่งเป็นเทศกาลที่เปิดออดิชั่นนักดนตรีเปิดหมวกจากทั่วโลก มาจัดแสดงผลงานตามในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลี เทศกาลนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับนักดนตรีที่ผ่านคัดเลือกจากทั่วโลกให้มาใช้ชีวิต ท่องเที่ยว และเล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่ต่างๆ ในเมืองกวางจู เป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับเมือง และก็ได้ประชาสัมพันธ์เมืองผ่านโซเชียลมีเดียของนักดนตรีด้วย“ในขณะเดียวกัน ความที่ผมมีความคิดที่อยากโปรโมทวงดนตรีเชียงใหม่ที่มีผลงานเพลงของพวกเขาเองอยู่แล้ว ก็เลยนำโมเดลนี้มาเสนอกับ TCDC เชียงใหม่ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Chiang Mai Busking ในงานดีไซน์วีคปี 2023“ผมมองว่าการแสดงดนตรีสดในพื้นที่สาธารณะ ถ้ามันถูกที่และถูกเวลา มันจะช่วยขับกล่อมและสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเมืองได้ แบบเดียวกับที่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีนักดนตรีเปิดหมวกเก่งๆ มาเล่นมากมาย และภาครัฐก็สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมแบบนี้อย่างเต็มที่ เชียงใหม่เรามีพื้นที่สาธารณะที่เป็นแลนด์มาร์คมากมาย การมีวงดนตรีที่เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่และภาคเหนือไปเล่นเนี่ย มันช่วยเสริมบรรยากาศน่าอยู่ความเป็นครีเอทีฟซิตี้ให้กับเมืองของเรา ทั้งยังส่งเสริมพื้นที่สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น และเอื้อให้เกิดการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ “ขณะเดียวกัน ผมอยากเปลี่ยนภาพจำของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับนักดนตรีเปิดหมวก ว่าพวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อน หรือคนไร้ฝีมือที่ไม่สามารถไปเล่นดนตรีตามสถานบันเทิงหรือออกอัลบั้มได้ แต่เป็นศิลปินอาชีพจริงๆ ที่รักในความอิสระ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้จากความคิดสร้างสรรค์ และเสียงเพลง” สุพิชา กล่าวทำความรู้จัก Chiang Mai Original เพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/chiangmaioriginal/?locale=th_TH อภิชัย เทียนวิไลรัตน์การแสดง Len Yai: Performance Arts อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ คือเจ้าของ Little Shelter บูติกโฮเทลสุดฮิปที่นำแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบ จนคว้ารางวัลทางสถาปัตยกรรมระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งนี้ Little Shelter ยังทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟแพลตฟอร์มสุดเก๋ ผ่านการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงแรมเป็นแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ร้านจำหน่ายงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมที่ชักชวนนักสร้างสรรค์ทั้งท้องถิ่นและต่างชาติมาผลิตผลงานสุดล้ำในพื้นที่ อาทิ การแสดงละครเวที ดนตรี เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ท ไปจนถึงการจัดปาร์ตี้ และทำอาหาร ฯลฯ ในเทศกาลฯ ครั้งนี้ อภิชัย ได้ร่วมกับ ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ จัดงาน Len Yai: Performance Arts ชักชวนศิลปินการแสดงทั้งไทยและต่างชาติกว่า 40 ชีวิต มาร่วมจัดการแสดงสตรีทเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สอดรับไปกับบริบทของพื้นที่ 8 แห่งในย่านช้างม่อยและท่าแพ ตลอด 9 วันของการจัดงาน CMDW2023“พื้นเพผมเป็นคนจังหวัดลำปาง ทำงานด้านวิศวกรและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างและบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงเทพฯ จนมีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมมีเหตุให้ต้องกลับมาดูแลครอบครัวที่บ้าน เลยตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจโรงแรมที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ผมสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำโรงแรมก็น่าจะทำให้มันสอดรับกับความสนใจ และมีส่วนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ของเมืองได้ จึงทำ Little Shelter ที่มีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกัน“ผมสนใจเชียงใหม่ในฐานะเมืองแห่งความหลากหลาย เรามีต้นทุนของการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมล้านนา ขณะเดียวกัน ด้วยบริบทร่วมสมัย เราก็ดึงดูดผู้คนมากมายจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวหรือพักอาศัย จนเกิดเป็นเมืองนานาชาติ และเพราะลักษณะพิเศษแบบนี้ เมืองจึงเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลายแขนง ทั้งทางด้านทัศนศิลป์ นักดนตรี หรือศิลปะการแสดง “Len Yai: Performance Arts เป็นโปรเจกต์ที่ผมร่วมกับพี่ชัย (ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์) สำรวจพื้นที่ต่างๆ ในย่านช้างม่อยและท่าแพ พื้นที่ที่หลายคนอาจมองข้ามหรืออาจยังไม่รู้จัก และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเวทีการแสดงชั่วคราว เพื่อชักชวนให้ผู้คนมองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ของย่าน “และอย่างที่บอก เชียงใหม่เราเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลากรุ่นและหลากหลายแขนง ถ้าเรามีพื้นที่และแรงสนับสนุนให้พวกเขาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง พลังสร้างสรรค์จากพวกเขาจะแปรเปลี่ยนไปสู่เสน่ห์ทางการท่องเที่ยวของเมือง ไปจนถึงแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม” อภิชัย กล่าวทำความรู้จัก Little Shelter เพิ่มเติมได้ทาง https://littleshelterhotel.com/

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 1)

Homecoming Creators (ตอนที่ 1)ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่หนึ่งในหัวข้อที่ CMDW ไฮไลต์เป็นพิเศษ คือการชักชวนเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creators) ให้กลับมายังภูมิลำเนาในเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โปรแกรมสนุกๆ กับเหล่าช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบท้องถิ่น เพราะเราเชื่อว่า ด้วยมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ใช้ชีวิตและทำงานในบริบทที่ต่างออกไป เมื่อบวกรวมกับความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ และความเชี่ยวชาญหลากสาขาของคนท้องถิ่น สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยหนุนเสริมพลังสร้างสรรค์ให้แก่กันและกัน แต่ยังจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ และนี่คือ 6 homecoming creators ที่เราอยากให้คุณรู้จักCOTH Studio (กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์)นิทรรศการหัตถกรรมร่วมรุ่น / สร้าง ผ่าน ซ่อม / ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัยCOTH Studio คือครีเอทีฟสตูดิโอที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาปนิก นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์นิทรรศการจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อย่าง กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยวาทย์ พวกเขาอยู่เบื้องหลังนิทรรศการด้านการออกแบบเจ๋งๆ มากมาย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเหล่าช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อช่วยกันยกระดับงานหัตถกรรมท้องถิ่น ด้วยแนวคิดและรสนิยมร่วมสมัยที่ตอบโจทย์กับตลาดในระดับสากล Photo Credit: Chiang Mai Design Weekใน CMDW2023 ทีม COTH Studio รับหน้าที่สร้างสรรค์ 3 นิทรรศการด้วยกัน โดยทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนแนวคิด Transforming Local ที่เป็นธีมของเทศกาลฯ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแพลทฟอร์มกลาง เชื่อมนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้ร่วมงานกับช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนรากเหง้าของพื้นถิ่นในบริบทที่ร่วมสมัยอย่างนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem, จัดแสดงที่ TCDC เชียงใหม่) การชักชวนช่างฝีมือมาซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายให้กลับมามีชีวิตและฟังก์ชั่นใหม่ๆ อย่างนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things จัดแสดงบนชั้น 2 อาคารมัทนา ถนนช้างม่อย) และนิทรรศการ ‘ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัย’ (Local Cabinets จัดแสดงที่ De Siam Warehouse อำเภอหางดง) ที่เป็นการนำบริบทของพื้นที่ต่างๆ เมืองเชียงใหม่มาเป็นโจทย์ในการยกระดับเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่นสู่งานศิลปะ “เพราะเราเห็นว่าการทำงานในฐานะดีไซเนอร์หรือศิลปินด้วยมุมมองของการเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์ เหมือนเป็น lone wolf เก่งอยู่คนเดียว หลายครั้ง ผลงานที่ออกมามันไม่เวิร์ก เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจบริบทหรือวัสดุที่ต้องใช้จริงๆ รวมถึงการใช้งานกับพื้นที่เฉพาะอย่างยั่งยืนจริงๆ เราเลยเชื่อว่าการทำงานร่วมกับผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับชิ้นงานนั้นๆ โดยตรง จะทำให้การออกแบบได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งยังสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วม และความภาคภูมิใจให้ทั้งนักสร้างสรรค์และผู้คนในพื้นถิ่น พอมาในโปรเจกต์ Homecoming ในพื้นที่ต่างๆ ที่เราไปสำรวจมาทั่วภาคเหนือ เรามองว่าแต่ละพื้นที่ล้วนมีทรัพยากรที่มีศักยภาพมากมายที่รอให้เกิดการหยิบจับมาต่อยอด แต่การหยิบจับนั้นมันจะน่าสนใจก็ต่อเมื่อทุกคนทำงานร่วมกันแบบ collaboration ดังที่กล่าว พอเราตั้งใจฟังผู้คนในพื้นที่รวมถึงร่วมพัฒนาผลงานด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบสูตรสำเร็จของงานออกแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการได้มาซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สอดรับไปกับพื้นที่ ความเชี่ยวชาญเฉพาะของช่างฝีมือ และการใช้งานจริง เราคิดว่าการแสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติแบบนี้อาจช่วยดึงดูดอีกหลายๆ คนที่เชื่อในแนวทางนี้เหมือนกัน” COTH Studio กล่าว ทำความรู้จัก COTH Studio เพิ่มเติมได้ที่ https://www.cothstudio.com/ _______________________ธนัชชา ไชยรินทร์ นิทรรศการ Transforming Local ธนัชชา ไชยรินทร์ เป็นศิลปิน และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนัชชาสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ที่หลากหลาย ทั้งงานประติมากรรม สื่อผสม และศิลปะจัดวาง โดยสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจากอดีตสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ที่มีผลกระทบต่องานหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิม ในเทศกาล CMDW2023 ที่ผ่านมา ธนัชชาได้ร่วมแสดงในนิทรรศการเดี่ยว Transforming Local ที่ TCDC เชียงใหม่ นำเสนอชุดประติมากรรมภายใต้แนวคิด Memento Mori หรือ ‘มรณานุสติ’ ซึ่งเป็น ประติมากรรมภาพเหมือนของสิ่งมีชีวิต ที่ครึ่งหนึ่งของมันเผยให้เห็นเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตามปกติ หากแต่อีกครึ่งเป็นการสลักเสลา ‘เนื้อใน’ ของสิ่งนั้นๆ จนเผยให้เห็นกระดูก หรือโครงสร้างภายในอย่างน่าทึ่ง Photo Credit: Chiang Mai Design Week“พื้นเพเราเป็นคนเชียงใหม่ และมีโอกาสคลุกคลีกับช่างฝีมือโดยเฉพาะช่างแกะสลักไม้มาเนิ่นนาน เราเห็นคุณค่าของภูมิปัญญานี้ในฐานะทุนทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว เท่าๆ กับที่ตระหนักดีว่าด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ภูมิปัญญานี้กำลังจะสูญหายไป ในนิทรรศการนี้ เราจึงไปยังหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ ในเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมวัตถุสิ่งของและไม้แกะสลักตามหมู่บ้าน มาแกะคว้านครึ่งหนึ่งของพวกมันภายใต้แนวคิด Memento Mori ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการอุทิศถึงคุณค่าจริงๆ ของสิ่งของเหล่านั้นในห้วงเวลาที่มันกำลังจะเลือนหายไปจากยุคสมัย แต่ยังเป็นความพยายามในการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานหัตถกรรม ด้วยมุมมองแปลกต่าง แต่สอดรับกับยุคสมัย” ธนัชชา กล่าวทำความรู้จักธนัชชา ไชยรินทร์ เพิ่มเติมได้ทาง https://thanatchachairin.wixsite.com/website?fbclid=IwAR3t1cJtNIFvDMP9siaNeMYmOsVbgmRqHVVN7FA1e-mnB1Uq-rQdp-uX1VU _______________________วิทยา จันมา นิทรรศการ Sound Momentวิทยา จันมา เป็นศิลปินแนว interactive installation ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย เขาเป็นศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่ต่อยอดงานไฟน์อาร์ทสู่งานดิจิทัลอาร์ท ที่ชวนให้ผู้ชมเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชมทั้งภาพ เสียง และสัมผัส จนสร้างชื่อในระดับสากล โดยในเทศกาลฯ นี้ วิทยามากับนิทรรศการ Sound Moment นำเสนอผลงานภาพเคลื่อนไหวพร้อมซาวด์ประกอบจากแผ่นเสียง ที่มีการสลักลวดลายเฉพาะตัวลงบนแผ่นไวนิล อันสื่อถึงบริบทของความเป็นท้องถิ่นภาคเหนือ Photo Credit: Chiang Mai Design Weekทั้งนี้ วิทยายังได้เชิญชวนผู้ชมให้เลือกแผ่นเสียงที่เตรียมไว้มาเล่นในเครื่องเล่นสองเครื่อง เมื่อเครื่องเล่นทำงาน กล้องที่บันทึกภาพจานหมุนจะส่งภาพเคลื่อนไหวลงบนกำแพง พร้อมกับ sync ลวดลายและเสียงจากทั้งสองแผ่นเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นงานอนิเมชั่นที่ผู้ชมสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง โดยนิทรรศการ Sound Moment จัดแสดงที่ชั้น 1 ธน-อาคาร (Thana-Arkarn Building) ถนนราชวงศ์ ในปีที่ผ่านมา“ทั้งภาพที่ผมสร้างสรรค์ลงบนแผ่นไวนิล และเสียงที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของภาคเหนือที่ผมเติบโตและร่ำเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นนกหรือดอกไม้ท้องถิ่น หรือการบันทึกเสียงจากในป่า และบรรยากาศตามพื้นที่ต่างๆ ผมมองว่าองค์ประกอบที่ผมเลือกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงนก หรือเสียงฝน ล้วนเป็นสิ่งที่คนภาคเหนือคุ้นชินอยู่แล้ว แต่เรากลับมองข้ามไป เพราะมันอาจจะใกล้ตัวเราจนเกินไปจนอาจละเลยคุณค่า แต่ในทางกลับกัน องค์ประกอบที่ดูธรรมดาเหล่านี้ ก็ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่รอให้คนในท้องถิ่นหยิบจับมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด นิทรรศการ Sound Moment คือความพยายามชวนให้ทุกคนย้อนกลับมาสำรวจต้นทุนที่อยู่รอบตัวเรา และแค่เปลี่ยนมุมที่มองสิ่งเหล่านี้ไปสักนิด คุณอาจได้พบศักยภาพอะไรใหม่ๆ ที่ซึ่งภูมิภาคอื่นๆ ไม่มีก็เป็นได้ครับ” วิทยา กล่าว ทำความรู้จัก วิทยา จันมา เพิ่มเติมได้ทาง http://www.witayajunma.com/ และอย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!

Business Program: Several Ways of Growing Your Business

‘Business Program’ คือโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อต่อยอดศักยภาพและความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ซื้อกับผู้ผลิต และนักสร้างสรรค์ให้ได้มาพบปะเจรจาธุรกิจ เปลี่ยนความต้องการเป็นรายได้ เพิ่มช่องทางการขาย ขยายกลุ่มลูกค้า และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างสองขั้วอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาโปรเจ็กต์ล้ำ ๆ ผ่านเครื่องมือหลักอย่าง Business Matching, Studio Visit, LABBfest., Local Talent และการร่วมมือกับ Mango Art Festival เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนที่เปิดโอกาสให้ทุกความคิดและจินตนาการสามารถค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ในโลกของธุรกิจสร้างสรรค์Business Matching เครื่องมือยอดฮิตติดปีกธุรกิจให้พร้อมบุกเบิกตลาดใหม่ ๆ โดย Business Matching ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ต้องการเป็นพื้นที่จับคู่ธุรกิจให้ผู้ประกอบการด้านงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) งานออกแบบ (Design) และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือได้นำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้ซื้อและผู้ใช้งานจริง ควบคู่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มสร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ลาว ไต้หวัน ญี่ปุ่น สกอตแลนด์ และรัสเซีย เพื่อโอกาสต่อยอดทางธุรกิจในอนาคต Studio Visit เครื่องมือที่จะพากลุ่มผู้ซื้อคุณภาพสูง และเครือข่ายนักสร้างสรรค์ จากทั้งในไทย และต่างประเทศ ไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตหัตถอุตสาหกรรมและสตูดิโอศิลปะ สำรวจวิธีคิด กระบวนสร้างสรรค์ผลงาน เห็นศักยภาพและความพร้อมในการผลิตผลงานสู่ลูกค้า ไม่ว่าจะรายใหญ่แบบจำนวนมาก (Mass Production) หรือรายย่อยแบบตามคำสั่งซื้อ (Made To Order) พร้อมแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับผู้ประกอบการให้ลึกซึ่งยิ่งขึ้น ก่อนตบท้ายด้วยกิจกรรมเจรจาธุรกิจที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดและต่อยอดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ร่วมกันในบรรยากาศสุดเอ็กซ์คลูซีฟLABBfest. เครื่องมือสนับสนุนเวทีแสดงความสามารถให้เหล่าศิลปินในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบน ทั้งศิลปินอิสระและนักดนตรีอาชีพไม่จำกัดแนวเพลงที่มีผลงานเพลงของตัวเองได้มาโชว์ฝีมือและนำเสนอผลงาน ท่ามกลางบรรดาผู้ฟัง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรี และโปรโมเตอร์ค่ายเพลงระดับหัวแถวของเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ เมียนมา ไต้หวัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงผู้จัดเทศกาลดนตรี อย่าง Big Mountain หรือ Monster Music Festival ซึ่งจะมาร่วมเปิดโสตประสาทรับเสพความหลากหลายของซาวด์ดนตรีสดใหม่ พร้อมคัดเลือกวงที่โดนใจไปโชว์ความสามารถกันต่อบนเวทีเทศกาลดนตรีชื่อดังทั่วไทยยันชิมลางบนเวทีคอนเสิร์ตต่างแดน นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรีกับคนดนตรีจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่มาร่วมแจม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมดนตรีในภาคเหนือตอนบนพัฒนาไปสู่ระดับประเทศและนานาชาติLocal Talent เครื่องมือสร้างโอกาสการพบปะเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ว่าจ้างกับกลุ่มนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ที่กำลังมองหาเส้นทางการเติบโต พัฒนาทักษะความสามารถ และร่วมงานกับแบรนด์ที่ใฝ่ฝันในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่นหลากหลายสาขา อาทิ งานออกแบบเครื่องปั้นดินเผา แฟชั่นและสิ่งทอ และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ รวมถึงปลุกปั้นไอเดียเจ๋ง ๆ ให้เป็นจริง สำหรับกลุ่ม Next Generation และกลุ่ม Homecoming ในพื้นที่ภาคเหนือ Mango Art Festival เครื่องมือฉายศักยภาพของบรรดาศิลปินท้องถิ่นภาคเหนือ โดยจับมือกับ Mango Art Fest เทศกาลสร้างสรรค์พื้นที่นำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินท้องถิ่นภาคเหนือ สำหรับการเจรจาติดต่อระหว่างศิลปิน แกลเลอรี องค์กรทางศิลปะ แบรนด์สินค้า เรื่อยไปจนธุรกิจที่พักและโรงแรมในเครือชั้นนำระดับโลก ซึ่งในปีนี้ทางเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ พร้อมด้วยคิวเรเตอร์มากประสบการณ์ยังคงเฟ้นหาผลงานศิลปะและงานออกแบบกึ่งศิลปะที่มีเอกลักษณ์ น่าจับตามอง ไปร่วมจัดแสดงภายในงาน Mango Art Fest อีกเช่นเคย เพื่อส่งเสริมวงการศิลปะในภาคเหนือและผลักดันผลงานของเหล่าศิลปินท้องถิ่นรวมถึงศิลปินหน้าใหม่ให้ออกไปสู่สายตาผู้สนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

From Creative District to Venue of Creativity

From Creative District to Venue of Creativity  ‘ย่านสร้างสรรค์’ คือ หนึ่งในภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อกระบวนการคิด การผลิต และการตลาด พร้อมส่งเสริมธุรกิจและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ทาง CEA เชียงใหม่ ได้มีการดำเนินการสำรวจข้อมูลศักยภาพ อีกทั้งทำงานเชื่อมโยง ผู้คน พื้นที่ และสินทรัพย์ภายใน ‘ย่านเมืองเก่า (คูเมืองชั้นใน)’ ซึ่งไม่เพียงมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ หากยังเพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ย่านสร้างสรรค์ อาทิ ชุมชนท้องถิ่น ช่างหัตถกรรมผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ผลิตสินค้าและบริการโดยผสานความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมสู่ความร่วมสมัยอย่างรู้ซึ้งในคุณค่า  จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 จึงมีการประกาศให้ ‘ย่านกลางเวียง’ (ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง) และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ เป็นพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาคเพื่อเป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แก่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ควบคู่จัดกิจกรรมทดลองขับเคลื่อนย่านบนฐานคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตลอดทั้งปี  โดยมีเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เป็นอีกเครื่องมือช่วยจุดประกายโอกาสการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน แบ่งปันและถ่ายทอดสารพัดไอเดียสร้างสรรค์ ผ่านโจทย์อันท้าทายทลายข้อจํากัดให้ทุกคนในย่านได้เข้ามีส่วนร่วมลงขันความคิด ลองผิดลองถูก หรือนำเสนอสิ่งที่กำลังสนใจ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายสร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มคนที่มีบทบาทขับเคลื่อนในพื้นที่ อาทิ เทศบาล ผู้นําชุมชน ผู้ประกอบการดั้งเดิม วัด โรงเรียน กับนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อริเริ่มโปรเจ็กต์ทดลอง มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ พร้อมเก็บเกี่ยวทักษะการทำงานและกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่สามารถนำไปบูรณาการพัฒนาย่าน สินค้าและบริการ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันเทศกาลยังเปรียบเสมือนช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทุกคนจะได้เข้ามาสัมผัสกับย่านสร้างสรรค์ในมุมมองที่แตกต่าง ท่ามกลางสีสันบรรยากาศสนุกสนานรื่นรมย์ สร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากเหล่าผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ การจัดแสดงผลงานออกแบบร่วมสมัยและงานหัตถกรรมท้องถิ่น เวิร์คช็อปงานศิลปะและภูมิปัญญาพื้นบ้าน การออกบูธทดสอบตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ การแสดงดนตรี ภาพยนตร์ และอีกหลากโปรแกรมเชื่อมประวัติศาสตร์สู่วิถีร่วมสมัย ซึ่งจะอยู่บริเวณย่านกลางเวียง  ส่วนย่านช้างม่อย – ท่าแพ จะถูกเนรมิตให้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยไอเดียและจัดกิจกรรมสุดพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลของผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ในย่าน รวมถึงเยี่ยมชม City Farming โปรแกรมสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ที่ชาวย่านรวมพลังกันพัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัย พลันเชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต  นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นสร้างสรรค์อีกหลายหลาก ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ ดนตรี และศิลปะ ที่จะกระจายตัวเติมเต็มประสบการณ์สร้างสรรค์ในพื้นที่สำคัญอื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ให้ทุกคนได้ร่วมกันค้นหาโอกาส มองความเป็นไปได้และศักยภาพที่น่าสนใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม