เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

อัพเดทและเที่ยวชมงาน

From Creative District to Venue of Creativity

From Creative District to Venue of Creativity  ‘ย่านสร้างสรรค์’ คือ หนึ่งในภารกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อกระบวนการคิด การผลิต และการตลาด พร้อมส่งเสริมธุรกิจและบริการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ทาง CEA เชียงใหม่ ได้มีการดำเนินการสำรวจข้อมูลศักยภาพ อีกทั้งทำงานเชื่อมโยง ผู้คน พื้นที่ และสินทรัพย์ภายใน ‘ย่านเมืองเก่า (คูเมืองชั้นใน)’ ซึ่งไม่เพียงมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ หากยังเพียบพร้อมด้วยองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ย่านสร้างสรรค์ อาทิ ชุมชนท้องถิ่น ช่างหัตถกรรมผู้เชี่ยวชาญ นักออกแบบ และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ผลิตสินค้าและบริการโดยผสานความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดต้นทุนทางศิลปวัฒนธรรมสู่ความร่วมสมัยอย่างรู้ซึ้งในคุณค่า  จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2563 จึงมีการประกาศให้ ‘ย่านกลางเวียง’ (ครอบคลุมพื้นที่ระหว่างอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ – ล่ามช้าง) และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ เป็นพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาคเพื่อเป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แก่จังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ควบคู่จัดกิจกรรมทดลองขับเคลื่อนย่านบนฐานคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตลอดทั้งปี  โดยมีเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เป็นอีกเครื่องมือช่วยจุดประกายโอกาสการเรียนรู้ เปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน แบ่งปันและถ่ายทอดสารพัดไอเดียสร้างสรรค์ ผ่านโจทย์อันท้าทายทลายข้อจํากัดให้ทุกคนในย่านได้เข้ามีส่วนร่วมลงขันความคิด ลองผิดลองถูก หรือนำเสนอสิ่งที่กำลังสนใจ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายสร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มคนที่มีบทบาทขับเคลื่อนในพื้นที่ อาทิ เทศบาล ผู้นําชุมชน ผู้ประกอบการดั้งเดิม วัด โรงเรียน กับนักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อริเริ่มโปรเจ็กต์ทดลอง มองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ พร้อมเก็บเกี่ยวทักษะการทำงานและกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่สามารถนำไปบูรณาการพัฒนาย่าน สินค้าและบริการ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะเดียวกันเทศกาลยังเปรียบเสมือนช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทุกคนจะได้เข้ามาสัมผัสกับย่านสร้างสรรค์ในมุมมองที่แตกต่าง ท่ามกลางสีสันบรรยากาศสนุกสนานรื่นรมย์ สร้างบทสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากเหล่าผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมน่าสนใจมากมาย อาทิ การจัดแสดงผลงานออกแบบร่วมสมัยและงานหัตถกรรมท้องถิ่น เวิร์คช็อปงานศิลปะและภูมิปัญญาพื้นบ้าน การออกบูธทดสอบตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ การแสดงดนตรี ภาพยนตร์ และอีกหลากโปรแกรมเชื่อมประวัติศาสตร์สู่วิถีร่วมสมัย ซึ่งจะอยู่บริเวณย่านกลางเวียง  ส่วนย่านช้างม่อย – ท่าแพ จะถูกเนรมิตให้เป็นพื้นที่ปลดปล่อยไอเดียและจัดกิจกรรมสุดพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาลของผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ในย่าน รวมถึงเยี่ยมชม City Farming โปรแกรมสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ที่ชาวย่านรวมพลังกันพัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัย พลันเชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต  นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นสร้างสรรค์อีกหลายหลาก ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ ดนตรี และศิลปะ ที่จะกระจายตัวเติมเต็มประสบการณ์สร้างสรรค์ในพื้นที่สำคัญอื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ ให้ทุกคนได้ร่วมกันค้นหาโอกาส มองความเป็นไปได้และศักยภาพที่น่าสนใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขาและแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ ภาคเหนือจึงมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาคเกษตรกรรม ทั้งหมดหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผลิภูมิปัญญาและรากฐานวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน กระทั่งเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งหมุนเวียนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร (Food) งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) การออกแบบ (Design) ศิลปะ (Art) และดนตรี (Music) ที่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็น ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries)’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ ของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนช่วยพลิกฟื้นเมืองน่าอยู่ที่มีชีวิตชีวา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่สู่วิถีแห่งความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาหาร (Food)หนึ่งในจุดแข็งของภาคเหนือคือการเป็นแหล่งอาหารอันมั่งคั่ง หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประเทศ ขณะเดียวกันท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่และมีหลากหลาย วัฒนธรรมอาหารการกินและวัตถุดิบของภาคเหนือยังมีจุดร่วมกับวัฒนธรรมอาหารนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวดอยกับข้าวญี่ปุ่น ชาและกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มสากล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการขยับขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตด้วยรากฐานวัฒนธรรมPhoto Credit: Chiang Mai Design Weekไม่เพียงเท่านั้น ภาคเหนือยังมีผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์มากมายที่หยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ออกแบบเมนูอาหารร่วมสมัยหลากสไตล์ รวมถึงความพยายามเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินอย่างรู้ที่มา คุณค่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างการเกิดขึ้นของเครือข่าย Slow Food Thailand เกษตรกรรุ่นใหม่ที่จริงจังกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือแม้แต่การทำเกษตรอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับมาตรฐานการผลิตควบคู่กับรักษาความหลากหลายทางพันธุ์พืชพื้นถิ่น เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ จุดประกายการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Local sustainable Living) พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูงงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft)นอกจากสะท้อนถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องของอาหารยังเป็นมีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) ที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำมาหากินและใช้ชีวิต โดยงานฝีมือและหัตถกรรมในภาคเหนือนั้นโดดเด่นในแง่ของทักษะอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานสิ่งทอ งานเครื่องเงิน งานเครื่องจักสาน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องเขิน งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ กอปรกับเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตงานฝีมือและหัตถกรรมครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงโรงงานหัตถอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเหล่านักสร้างสรรค์ที่นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือและแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ Photo Credit: Chiang Mai Design Weekการออกแบบ (Design)กระบวนการออกแบบ คือเครื่องมือหนึ่งที่มักถูกนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์งานฝีมือและหัตถกรรมให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เหตุนี้เองการออกแบบ (Design) จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือที่มีความสำคัญและความเข้มแข็งจากการเกิดขึ้นของแบรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ หรือแม้แต่ธุรกิจดั้งเดิมมากมายที่ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจหันมาเชื่อมร้อยต้นทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เป็นมากกว่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน หากยังเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนออัตลักษณ์ที่มีคุณค่าและมนตร์เสน่ห์ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในฐานะของฝากประทับใจ ของประดับตกแต่งโรงแรมที่มีสไตล์ หรือของใช้สร้างสุนทรียภาพบนโต๊ะอาหาร รวมถึงช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของจังหวัดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ศิลปะ (Art)ทำไม ศิลปะ (Art) จึงถือเป็นอุตสาหกรรมเด่นของภาคเหนือ คำตอบของเรื่องนี้พิจารณากันไม่ยาก เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ให้กำเนิดศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและนานาชาติ เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถวัลย์ ดัชนี อินสนธิ์ วงค์สาม ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มิตร ใจอินทร์ ฯลฯ ตลอดจนเป็นแหล่งพำนักของบรรดาศิลปินอาชีพที่เลือกย้ายมาอยู่อาศัยเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักศึกษาศิลปะหลากหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพื้นที่ของเมือง หอศิลปวัฒนธรรมและแกลลอรี่ต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการจัดแสดงผลงานศิลปะ ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่ และมีคอมมูนิตี้ของศิลปินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยน่าจับตามองมากมายPhoto Credit: Chiang Mai Design Weekดนตรี (Music)เสียงดนตรีจากภาคเหนือไม่เคยห่างหายไปจากท่วงทำนองของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ในช่วงหลายปีมานี้มีศิลปินจากดินแดนล้านนาแจ้งเกิดในวงการมากมายจากการร้องคัฟเวอร์และทำเพลงของตัวเอง จนสามารถขยับเข้าสู่ค่ายเพลงแถวหน้าของประเทศและร่วมเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติ แล้วถ้าหากพูดถึงฐานทัพนักดนตรีที่สร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจแก่อุตสาหกรรมดนตรี (Music) ภาคเหนือ ก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่นี่มีจำนวนนักดนตรีและคอมมูนิตี้ที่ตื่นตัวกับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมดนตรีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่ม Chiangmai Original ที่พยายามผลักดันศิลปินเชียงใหม่ให้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน Minimal Records ค่ายเพลงอินดี้ที่สนับสนุนศิลปินท้องถิ่นและผลิตศิลปินออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือ กลุ่ม World Music และ Jazz Bar ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมดนตรีกลิ่นอายร่วมสมัย มีเอกลักษณ์และความเป็นสากล จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงเติมเต็มสีสันบรรยากาศเมืองให้มีชีวิตชีวา ทว่ายังเป็นพลังดึงดูดการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมผสานผู้คนต่างวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งความรื่นรมย์Photo Credit: Chiang Mai Design Weekอย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!

What was going on during CMDW2023

ก่อนที่จะพบกับ “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) เทศกาลฯ ขอพาทุกคนย้อนกลับไปท้ายปี 2566 อย่าง “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566” (Chiang Mai Design Week 2023) จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ครั้งนี้ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับภาคเหนือกว่า 848.1 ล้านบาท และมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 181,553 คน! ชมคลิปบรรยากาศเทศกาลฯ คลิก https://youtu.be/jS_kxF7RQs0?si=2uDL00qigVLqGG9-เทศกาลฯ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้แนวคิด ‘Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ใน 2 ย่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ ทั้ง ‘ย่านกลางเวียง (พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา – ล่ามช้าง)’ และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ รวมถึงพื้นที่อื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่กว่า 77 จุด ตลอด 9 วันของการจัดงาน มีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจกว่า 223 โปรแกรม ที่เกิดจากพลังสร้างสรรค์ของนักออกแบบ ช่างฝีมือ ศิลปิน นักดนตรี และนักสร้างสรรค์หลากหลายสาขาจากทั่วภาคเหนือกว่า 744 ราย และผนึกกำลังเครือข่ายของต่างชาติและไทยถึง 12 ประเทศ ประกอบด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี สิงคโปร์ มาเลเซีย เมียนมา ลาว และอินเดีย รวมทั้งความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายผู้สนับสนุนมากกว่า 60 หน่วยงานCEA ขอขอบคุณความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ที่ทำให้เกิดพื้นที่นำเสนอศักยภาพของนักสร้างสรรค์ ศิลปิน และเครือข่ายผู้ประกอบการ นำไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจที่เกิดจากการต่อยอดสินทรัพย์และผลผลิตทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิม ก่อให้เกิดสินค้าและบริการที่มีมูลค่าทางความคิดสร้างสรรค์ (Value Creation) ซึ่งสะท้อนดีเอ็นเอความเป็น ‘เชียงใหม่’ ได้อย่างร่วมสมัย ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเมืองเชียงใหม่ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ให้เติบโตสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ในเวทีโลกต่อไป อย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!

ประชุมภาคีเครือข่ายร่วมจัดเทศกาล CMDW2024

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ ได้จัดงานประชุมภาคีเครือข่าย ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีองค์กร สถาบันการศึกษาและหน่วยงานในจังหวัดเชียงใหม่ ตอบรับการเข้าร่วมมากกว่า 20 หน่วยงาน เพื่อมาร่วมระดมความคิด นำเสนอแนวทางในการจัดเทศกาล CMDW2024 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 -15 ธันวาคม 2567 นี้ ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” ด้วยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับสากล และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ของพวกเราทุกคนเทศกาล CMDW2024 เปิดรับผลงานหรือกิจกรรมจากนักสร้างสรรค์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 24 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567 ผ่านเว็บไซต์ https://www.chiangmaidesignweek.com/apply สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของเทศกาลผ่านทางเฟซบุ๊ก Chiang Mai Design Week และร่วมเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่น ในงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ปลายปีนี้ที่เชียงใหม่#ChiangMaiDesignWeek2024 #CMDW2024 #ScalingLocal