เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี
เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว
เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี: สนทนากับ ชา – สุพิชา เทศดรุณ Chiang Mai Original
ตลอดเวลาหลายสิบปีที่แวดวงดนตรีอินดี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ๆ แล้วเกิดขึ้นมาจากการมีชายผมยาวคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ชา-สุพิชา เทศดรุณ หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า “ชา ฮาโม” เป็นสมญาที่มาจากชื่อวงเก่าของเขาอย่าง Harmonica Sunrise
ชา เป็นชายหนุ่มที่มีใจรักในเสียงเพลงจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ย้ายเข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ผลิตผลงานเพลงของตนเองออกสู่สายตาผู้ฟังทั้งในนามวง Harmonica Sunrise วงคณะสุเทพการบันเทิง และผลงานเดี่ยวในนาม ChaHarmo นอกจากการสร้างผลงานของตนเอง ชายังคอยเป็นคนกลางประสานจัดงานดนตรีต่าง ๆ ภายในจังหวัด และล่าสุดกับการเคลื่อนไหวในนาม Chiang Mai Original ที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้วงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีโอกาสแสดงผลงานให้คนรู้จัก
การคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีมาเป็นเวลานาน และมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานดนตรีในต่างประเทศ ทำให้ชาได้เห็นตัวอย่างว่า ที่ต่างประเทศเขาสามารถใช้ดนตรีเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้ และสิ่งที่เขาเห็นนี้กลายเป็นความฝันที่เขาตั้งใจว่าจะกลับมาทำกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ดนตรีนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งเกิดเป็นงาน High HO Chiang Mai (ไฮโฮะ เชียงใหม่) ที่เขาและเพื่อน ๆ ตั้งใจจะใช้ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วงหน้าฝนที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของจังหวัด โดยนำวงดนตรีเชียงใหม่กระจายไปเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อชักชวนให้คนได้มาเที่ยวเชียงใหม่และรับชมดนตรีไปในตัว โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึง วันที่ 30 ตุลาคม 2567
“ไอเดียการทำเทศกาล High Ho Chiang Mai จริง ๆ มันเริ่มต้นมาจากการที่เราเคยทํางานดนตรีเพื่ออย่างอื่นมาเยอะแล้ว คราวนี้เราอยากจะลองทําดนตรีเพื่อดนตรีดูบ้าง มันเป็นความคิดที่อยู่ในใจเรามานานแล้ว คือ ที่เชียงใหม่เรามีวงดนตรีเจ๋ง ๆ เยอะมากเลย แต่กว่าที่ผลงานของพวกเขาจะดังได้ปรากฏว่าวงพวกนี้ต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ตลอดเลยถึงจะมีโอกาส แต่เราก็จะเห็นว่า หลาย ๆ คนก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ ประกอบกับปัจจุบันเราเห็นว่ามีวงดนตรีเกิดขึ้นในเชียงใหม่จำนวนมากเลย งั้นเราจะทำยังไงได้บ้างถึงจะทำให้วงดนตรีเหล่านี้สามารถผลิตผลงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้ เราก็เลยก่อตั้ง Chiang Mai Original ขึ้นมา
Chiang Mai Original ที่ชาก่อตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่สนับสนุนให้ธุรกิจดนตรีในเชียงใหม่เกิดความเป็นยั่งยืน โดยเข้าไปสนับสนุนและช่วยนำเสนอผลงานของนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานของตนเอง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้าไปประสานงานให้เกิดงานที่เปิดเวทีให้ศิลปินที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีที่ได้นำเสนอผลงานของพวกเขา เช่น งาน CHIANG MAI SECRET ของ One Nimman ที่จัดเป็นประจำช่วงปลายปี ที่ชาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดแสดงดนตรีเปิดเวทีให้ศิลปินเชียงใหม่ได้นำเสนอผลงานตนเองภายในงาน, เทศกาลดนตรี Chiangmai Ho! Fest. ที่ Chiang Mai Original รวบรวมวงดนตรีจำนวนมากจากเชียงใหม่มาแสดง ซึ่งจัดขึ้นมา 4 ปีแล้ว นอกจากนั้นชายังมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันในงานเทศกาลดนตรีเปิดหมวกโลก 2024 GWANGJU BUSKING WORLDCUP FESTIVAL ที่ทางเมืองกวางจูประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นเพื่อใช้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมืองเขา
ทั้งนี้ การได้ไปร่วมและเห็นประโยชน์ของงานเทศกาลเปิดหมวกนี้ทำให้เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ชาได้ร่วมมือกับทำทาง CEA Chiangmai (Creative Economy Agency) จัดงาน Chiang Mai Busking หรือ ‘เทศกาลเชียงใหม่เปิดหมวก’ ที่พานักดนตรีกระจายไปเล่นตามสถานที่ในย่านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากให้นักดนตรีได้มีที่แสดงผลงานแล้วยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนได้มีโอกาสไปเที่ยวในย่านต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
นอกจากการจัดงานต่าง ๆ ไม่นานมานี้ชากับกลุ่มพี่น้องนักดนตรียังได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ ขึ้นมา โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีเชียงใหม่ โดยประชุมกันในวาระต่าง ๆ ของแต่ละเดือนเพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาดูว่า อุตสาหกรรมดนตรีเชียงใหม่ตอนนี้แต่ละฝ่ายกำลังเจอปัญหาอะไร และจะสามารถร่วมกันผลักดันดนตรีเชียงใหม่ให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร ทั้งความเป็นอยู่ของศิลปิน คุณภาพงานของศิลปิน สถานที่จัดแสดงต่าง ๆ และเมื่อคนดนตรีเชียงใหม่แข็งแรงแล้ว ก็จะนำไปสู่การใช้ดนตรีช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ต่อไปได้
การเกิดขึ้นของ เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ นี้ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการจัดทำฐานข้อมูลศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ที่แต่ละวงสามารถเข้าไปลงทะเบียนและฝั่งผู้จัดสามารถเข้าไปดูข้อมูลของศิลปินได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ Chiang Mai Original
“ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ มีการประชุมหารือกันว่า ในช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นของเชียงใหม่นั้น เราพบว่าเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่มันซบเซา คนมาเที่ยวใช้จ่ายกันน้อย ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อตัวแวดวงดนตรีโดยตรงด้วย และช่วงฤดูฝนก็มักจะไม่ค่อยมีงานเทศกาลอะไรจัดให้นักดนตรีได้ไปเล่น ทุกคนก็ขาดรายได้ เราก็เลยคิดร่วมกันขึ้นมาว่า น่าจะลองใช้เทศกาลดนตรีเป็นตัวกระตุ้นชวนคนให้มาเที่ยวเชียงใหม่กันในฤดูกาลนี้ดูนะ ก็เลยตั้งชื่องานนี้ว่า High Ho Chiang Mai
“โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนของ High Ho Chiang Mai จะมีงานดนตรีกระจายกันไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้ดนตรีเป็นแสงช่วยส่องให้ผู้คนได้ลองไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันนักดนตรีเชียงใหม่ก็จะได้มีงานเล่นกันในช่วงหน้าฝนนี้ด้วย
“เราว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นะ และเชียงใหม่เองก็มีชื่อเสียงจากวงดนตรีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในจังหวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราว่ามันเป็นจุดขายหนึ่งของจังหวัดได้เลย ถ้าเราช่วยกันทำให้ดนตรีเชียงใหม่แข็งแรง คนเชียงใหม่เป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ กันเอง เราเชื่อว่าดนตรีจะช่วยดึงดูดให้คนมาที่เชียงใหม่ได้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วมากมายจากต่างประเทศ และเราเชื่อว่าเชียงใหม่เองมีความเป็นไปได้ เราฝันอยากจะเห็นภาพนั้นกับที่นี่” ชา กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารของ Chiang Mai Original สามารถติดตามได้ที่เพจ Chiang Mai Original (https://www.facebook.com/cnx.og.live) หรือ https://chiangmaioriginal.com/ และสำหรับคนที่สนใจอยากมาร่วมเทศกาลดนตรี High Ho Chiang Mai ในช่วงหน้าฝนสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://linktr.ee/highhofest