เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

รู้จักตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเท่าทันโลกใน Co-Creative Workshop: Academic Program

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

“เมื่อเป็นเจ้าของแบรนด์ คุณไม่สามารถจำกัดตัวเองว่าจะเป็นแค่นักออกแบบหรือผู้ผลิตได้อย่างเดียว คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจทุกอย่างที่หมุนรอบธุรกิจคุณ เข้าใจตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเข้าใจเทรนด์ของโลกว่ากำลังเคลื่อนไปทิศทางไหน คุณไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเข้าใจเรื่องเหล่านี้ คุณก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปถึงจุดที่คุณอยากให้เป็นได้” เอก-ศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ SARAAN กล่าว


ข้อความข้างต้น ตัดมาจากงานเสวนา Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable” ในหัวข้อ Business Model Canvas (BMC) for Creative Industries ที่ศรัณญเป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมกับ เมย์ – ธนิดา ดลธัญพรภคภพ ผู้ก่อตั้งตั้งแบรนด์ IRA Natural Product และ ปุ๊-สมภพ ยี่จอหอ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Doister (ดำเนินรายการโดย อรช บุญ-หลง)


งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2567 โดย CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ เมืองงาม ครีเอชั่น ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้รับเชิญให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างแบรนด์ และการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองให้กับเหล่านักศึกษาและกลุ่ม startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ เพื่อสกัดแนวคิดและประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแบรนด์ของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต่อไป และต่อจากนี้คือบางส่วนของเสวนากระตุ้นไฟสร้างสรรค์ดังกล่าว



เรื่องเล่าคือหัวใจสำคัญของงานสร้างสรรค์


เอก-ศรัณญ อยู่คงดี เป็นนักออกแบบเครื่องประดับ ผู้เคยกวาดรางวัลการออกแบบชั้นนำทั้งระดับประเทศและนานาชาติมาแล้วมากมาย เขาก่อตั้ง SARAAN ในปี 2551 และใช้เวลาไม่นานในการสร้างชื่อเสียงระดับโลก ผ่านการนำเสนอเสน่ห์ของผู้หญิงและดอกไม้พื้นถิ่นของไทยอย่างวิจิตรและร่วมสมัย ผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าเซเลบริตี้ระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บียอนเซ่ (Beyonce) ริฮานนา (Rihanna) ไปจนถึง อลิเชีย คีส์ (Alicia Keys) ที่เคยใส่เครื่องประดับของเขาในงานเปิดศูนย์การค้า ICONSIAM และลิซ่า–ลลิษา มโนบาล ที่ใส่เครื่องประดับของเขาเข้าฉากในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA เป็นต้น


ในงานเสวนา เอกบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง และการลงลึกค้นคว้าในเรื่องที่สนใจ ก่อนจะพัฒนาออกมาเป็นงานออกแบบที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง เขาเล่าว่า กระบวนการค้นคว้าเชิงลึกในแพสชั่น (passion) ของตัวเองคือสิ่งสำคัญ เพราะนั่นจะทำให้เรารู้จัก ‘เรื่องเล่า’ ที่แฝงอยู่ในสิ่งที่เราจะออกแบบ   


“Storytelling คือเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ ขณะที่ SARAAN นำเสนอความพิถีพิถันของงานแฮนด์เมดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เรื่องเล่าที่มาพร้อมกัน จะช่วยสร้างคุณค่า และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่สิ่งของเพื่อการใช้งาน แต่เป็นสาส์นที่ใช้สื่อสารกับผู้คนและสังคมต่อไป” เอก กล่าว


ภาพถ่ายจาก https://www.instagram.com/sarranofficial/


เรื่องเล่าในผลงานของศรัณญ ครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย วิถีอันสง่างามของผู้หญิง ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งเหล่านี้เมื่อมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์อันสดใหม่ จึงนำมาสู่อัตลักษณ์ไทยร่วมสมัยอันเปี่ยมเสน่ห์ และไม่เกินเลยที่จะบอกว่างานของเขาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) อันหลักแหลมของไทย เมื่อมันถูกเผยแพร่ และได้รับเสียงชื่นชมบนเวทีโลก


“ผมสนใจในบทบาทและความงดงามของวิถีผู้หญิงไทย โดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผมใช้แรงบันดาลใจนี้มาสร้างสรรค์งาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงไทยในมุมมองผม จึงไม่ใช่คนที่เอาแต่สวมชุดไทยและนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่เป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่เท่าทันโลก และใส่ใจในความยั่งยืน” 


เอกยังเสริมอีกว่าการให้ความสำคัญกับอดีต การอยู่กับปัจจุบัน และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะทำให้เรื่องเล่าในผลิตภัณฑ์ของเรามีความเข้มแข็งและไม่ตกยุค และถึงแม้ผลงานของเขาอาจไม่ใช่งานอุตสาหกรรมที่รองรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เขาก็ยังเชื่อว่า เมื่อผลงานถูกเผยแพร่ออกไปผ่านสื่อและการบอกต่อ มันก็มีส่วนสร้างสุนทรียะและแรงบันดาลใจให้คนหมู่มากได้ 


“ผมคิดว่านักออกแบบ คนทำงานศิลปะ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าเชิงสร้างสรรค์ มันมีส่วนทำให้โลกทุกวันนี้น่าอยู่มากขึ้นนะ ถ้าคนที่สนใจแบรนด์ของเราได้ทัศนคติแง่บวกต่อไปได้ นี่จะเป็นแรงขับในการใช้ชีวิต และส่งต่อพลังบวกออกไปสู่สังคมต่อไป” เอก กล่าวทิ้งท้าย



People – Profit – Planet


เริ่มต้นจากการที่ เมย์-ธนิดา ดลธัญพรภคภพ เป็นผู้บริโภคที่ตระหนักว่าสินค้าเครื่องสำอางอย่างลิปบาล์มและอื่น ๆ สร้างภาระให้ธรรมชาติทั้งจากกระบวนการผลิตและขยะจำนวนมาก อีกทั้งเธอยังพบว่าที่ผ่านมา อุตสาหกรรมความงามได้ผลิตขยะจากบรรจุภัณฑ์มากกว่า 120,000 ล้านชิ้นต่อปี เธอจึงคิดถึงวิธีการทำธุรกิจในสิ่งที่เธอชอบอย่างเครื่องสำอาง โดยหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมภาระให้โลกมากไปกว่านี้ 


นั่นทำให้เธอคิดค้นลิปบาล์มออร์แกนิก ปลอดสารเคมี 100% ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และปลอดกระบวนการที่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม เธอเริ่มทดลองตลาดตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และภายหลังที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก จึงยกระดับสินค้า และทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง เข้าวงการธุรกิจอย่างจริงจังหลังเรียนจบ


ก่อตั้งในปี 2562 แบรนด์ IRA (ไอรา) ของเมย์มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “โลกหรือผู้ดูแลโลก” ชื่อดังกล่าวสะท้อนจุดยืนอันเข้มข้นของแบรนด์ ทั้งกระบวนการผลิต และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษย่อยสลายได้แทนพลาสติก รวมถึงการเลือกใช้พลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Plastic) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จำเป็น 


ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ IRA ครอบคลุมตั้งแต่ลิปบาล์ม ลิปสครับ แป้งพัฟแบบรีฟิลที่ไม่ผสมทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจผู้ใช้ สครับผิว และสเปรย์จัดแต่งทรงผม ทั้งหมดล้วนมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งยังรวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ อย่าง ชุดช้อนส้อมที่ผลิตจากฟางข้าวสาลี และกระเป๋าเครื่องสำอางผ้าทอที่ผลิตด้วยศิลปินที่เป็นออทิสติก โดยทั้งหมดยังสะท้อนจุดยืน 3Ps (People, Profit และ Planet) ของแบรนด์ IRA อย่างชัดเจน  


“IRA ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก 3Ps คือ ผู้คน (people) ผลกำไร (profit) และโลกที่เราอาศัย (planet) เพื่อทำให้ธุรกิจนี้มีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่น กระเป๋าเครื่องสำอางที่เราร่วมกับ พิเศษพิสุทธิ์ (Piset Pisut) แบรนด์ไทยที่นำผ้าทอซาโอริจากเชียงใหม่มาเป็นวัตถุดิบ โดยมีน้อง ๆ ที่เป็นออทิสติกเป็นคนทอผ้า ราคาของสินค้าอาจสูงกว่าโรงงานทั่วไป แต่เมย์รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราจ่ายเงินออกจะมีใครบางคนที่ได้ประโยชน์” เมย์ กล่าว


ภาพถ่ายจาก https://www.iranatural.com/


นอกจากนี้ IRA ยังทำงานร่วมกับแบรนด์ กอกก (Korkok) จากจันทบุรี ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตเสื่อกกโดยแม่ครูอาวุโสของชุมชน ซึ่งเมย์ได้นำผลงานทอกกของชุมชนมาทำเป็นกระเป๋า อีกด้วย


ไม่เพียงความคิดว่าจะทำผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม การทำการตลาดที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า และการสร้างคอมมูนิตี้ก็เป็นเรื่องที่เมย์ยึดมั่นเรื่อยมานับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ จึงนำมาสู่กิจกรรม One Day with Ira ที่เมย์ชวนลูกค้ามาพบปะกันเดือนละครั้ง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ร่วมกัน 


“เมย์มักพูดเสมอว่าเราไม่ได้เป็นคนคิดค้นสินค้า IRA เองเลย ลูกค้าต่างหากที่คิดให้ทั้งหมด และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ลูกค้าเราน่ารักมากที่เราสามารถโทรไปคุยเป็นชั่วโมง เพื่อรับฟังคำแนะนำอย่างจริงใจ เรียกว่าเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งเลย นั่นทำให้เรากล้าที่จะส่งตัวอย่างสินค้าที่ยังไม่วางจำหน่ายไปให้ทดลองใช้ และขอฟีดแบ็คเช่นเดียวกัน เราวางทิศทางของแบรนด์ให้เป็นเหมือนเพื่อนของผู้บริโภค แลกเปลี่ยน รับฟัง และนำไปพัฒนาต่อ อาจเป็นแนวทางหนึ่งให้คนที่สนใจทำธุรกิจนำไปปรับใช้ได้” เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Marketing Leader of The Year (Silver) จาก Marketing Excellence Awards 2023 กล่าวทิ้งท้าย



ธุรกิจบนสะพานเชื่อมความยั่งยืน


ปิดท้ายที่ Doister ของ ปุ๊ – สมภพ ยี่จอหอ แบรนด์ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งนักพัฒนาและผู้ประกอบการเชื่อมคนในเมืองให้เข้าถึงคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ของชาวชาติพันธุ์บนดอย รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยเชื่อว่าอัตลักษณ์จากวิถีชาติพันธุ์ก็มีความเฉียบเท่ได้ จึงนำมาสู่การตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม Doister (ดอยสเตอร์) ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง ‘ดอย’ และ ‘ฮิปสเตอร์’ ที่เป็นนิยามเรียกกลุ่มคนทันสมัยในช่วงที่ธุรกิจนี้ก่อตั้ง (ปี 2559)  


ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มนักสื่อสารเรื่องคนบนดอยให้คนในเมือง อีกหนึ่งโครงการที่ปุ๊นำมาแบ่งปันในงานเสวนาฯ คือธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากชาวชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากที่เขาอยากส่งเสริมผ้าทอที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง (อำเภอเมือง) และชุมชนเลอเวือะแห่งบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ (อำเภอแม่สะเรียง) ซึ่งเขาพบข้อจำกัดในการผลิตเป็นสินค้า รวมถึงรูปแบบที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น สีย้อมผ้าเป็นสีที่สกัดจากพืชพันธุ์ในป่า ซึ่งไม่ได้มีผลผลิตเพื่อนำมาทำสีได้ทุกฤดูกาล เขาและทีมงาน Doister จึงหาวิธีผสานเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อยกระดับสินค้าให้มีความคงทน ยั่งยืน และสอดรับกับรสนิยมของคนในเมือง พร้อมทั้งเปิดตลาดให้กับสินค้าจากสองชุมชนเข้าถึงผู้คนในเมือง โดยยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้


ภาพถ่ายจาก https://www.facebook.com/doisterwannabe/?locale=th_TH


ทั้งนี้ Doister หาได้เพียงแต่เข้ามาช่วยชุมชนในการพัฒนาสินค้าและการทำการตลาด แต่ยังรวมถึงการยกระดับทรัพยากรบุคคล ผ่านการสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนมีบทบาทเป็นพ่อครู-แม่ครู สอนการย้อมผ้า เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงการสื่อสารเรื่องราวออกไปในวงกว้างผ่านสื่อดิจิทัลและสิ่งพิมพ์ (หนังสือภาพ) เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ 


“ผมเป็นคนเจนเอ็กซ์ บางมุมมองก็อาจไม่ได้ตรงกับคนรุ่นใหม่นัก แต่ผมเชื่อว่าความต่อเนื่อง หรือ Consistency คือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับงานสื่อสารและการเป็นตัวกลางของธุรกิจชุมชนที่ทำอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการยืนระยะเพื่อสร้าง brand awareness ให้ผู้บริโภค 


“แน่นอน ในหลายธุรกิจ เราอาจเน้นการทำให้เร็ว ทำให้ไว แต่บางเรื่อง คุณอาจต้องอาศัยเวลาในการลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากบทเรียนที่เราได้รับ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมปรับตัว หรือปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน” ปุ๊ กล่าว


นอกจากนี้ ปุ๊ยังทิ้งท้ายว่า ถึงแม้การสร้างแบรนด์จากตัวตนของนักสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกัน การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการส่งต่อบทบาทสำคัญให้คนรุ่นใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม 


“จริงอยู่ที่ brand personal เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภค แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจไม่ได้ทันโลกไปเสียหมด แบรนด์จึงไม่ควรติดยึดกับตัวบุคคล แต่ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของยุคสมัย ผ่านภาพลักษณ์ที่ชัดเจนที่เราได้สร้างไว้ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นอีกวิธีที่จะทำให้แบรนด์ของเรามีความยั่งยืนทางธุรกิจ”



Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน กิจกรรมประกอบด้วยการเสวนาและเวิร์กช็อปการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้า ร่วมกันระหว่างนักเรียน – startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ กับผู้ประกอบการสร้างสรรค์มากประสบการณ์ระดับประเทศ พร้อมทั้งการเสวนา (Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable”) ที่ช่วยกระตุ้นมุมมองของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ และเสริมความเข้าใจในด้านการประกอบธุรกิจ โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ การบริการ และโมเดลธุรกิจ จะถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในนิทรรศการของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่อาคาร TCDC เชียงใหม่


แชร์