สถานที่จัดงาน
อัพเดทและเที่ยวชมงาน
เล่นใหญ่ Performance Arts จัดเต็มการแสดงตลอด 9 วัน! กับศิลปินไทยและนานาชาติ
เล่นใหญ่ Performance Arts จัดเต็มการแสดงตลอด 9 วัน! กับศิลปินไทยและนานาชาติ นอกจากโชว์เคสด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ อีกหนึ่งกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 ที่ยังไงก็พลาดไม่ได้ คือการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์ในชุด ‘เล่นใหญ่’ (Len Yai: Performance Arts) ผลงานคัดสรรและออกแบบการแสดงโดย ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ และโปรดิวเซอร์ อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ ซึ่งต่างเชื่อมร้อยเหล่าศิลปิน นักแสดง และนักสร้างสรรค์หลากแขนงทั้งไทยและต่างประเทศกว่า 40 ชีวิต มาเปิดการแสดงแบบเฉพาะพื้นที่ (site specific) ตลอด 9 วันของเทศกาลฯ (วันละ 1 รอบ) ใน 8 พื้นที่ของย่านช้างม่อยและถนนราชวงศ์ ความพิเศษของการแสดงชุดนี้คือ จะเป็นการแสดงกึ่งสตรีทเพอร์ฟอร์แมนซ์ ผสานเวทีการแสดงเข้ากับมุมของอาคารหรือพื้นที่ต่าง ๆ ของย่านอย่างสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นระเบียงอาคาร บนดาดฟ้าตึกเก่า โถงบันไดห้องสมุด ไปจนถึงรอบเจดีย์วัด! มาดูกันว่าตลอด 9 วันนี้ มีโชว์อะไรสนุก ๆ ให้เราชมที่ไหน และเวลาใดกันบ้าง Opening Ceremony Show2 ธ.ค. เวลา 17.30 น.สถานที่จัดแสดง: TCDC เชียงใหม่การแสดงพิธีเปิดร่วมศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ที่มาร่วมจัดแสดงผลงานในเทศกาลฯ ณ เวทีพิธีเปิดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 TCDC เชียงใหม่‘JERNG’ Site-Specific Performance and Sound Art3 ธ.ค. เวลา 15.00 น.สถานที่จัดแสดง: โรงตีเหล็กศุขโข ถนนช้างม่อยการแสดงศิลปะในพื้นที่เฉพาะร่วมกับเสียง ‘เจิง’ โดย วิรินสิรี ชมเชย (ภัณฑารักษ์ Some Space Gallery) ร่วมกับศิลปินฟ้อนเจิง (ศิลปะการต่อสู้ของล้านนา) สุธีระ ฟั่นแก้ว ศิลปินสื่อผสมดิจิทัล วีรธัช พงษ์เรืองเกียรติ และศิลปินนักสร้างเสียงร่วมสมัย นน อินทรนันท์ บอกเล่าถึงศิลปะการฟ้อนดาบและการต่อสู้ของล้านนาผ่านแสงและเสียงสุดล้ำ ประกาศศักดาความเป็นล้านนาร่วมสมัย ‘STHIRA SUKHAM ASANAM’ Spiritual Dance4 ธ.ค. เวลา 19.00 น. สถานที่จัดแสดง: ธน-อาคาร ถ.ราชวงศ์ การแสดงระบำจิตวิญญาณ (Spiritual Dance) ชุด Sthira Sukham Asanam (สถิร สุขํ อาสนํ) โดยกลุ่มผู้สนใจในศาสตร์ของการบำเพ็ญตนด้วยโยคะ และการฝึกภาวนาในจังหวัดเชียงใหม่ กำกับการแสดงโดย สุรนาท กษิติประดิษฐ์ พร้อมซาวด์ประกอบที่สร้างสรรค์โดยกลุ่ม Crystal Bowl Sound Meditation ตีความท่วงท่าและจิตวิญญาณของโยคะออกเป็นการร่ายรำอันตราตรึง ‘BETWEEN’ Shadow Play and Music Improvisation5 ธ.ค. เวลา 19.00 น.สถานที่จัดแสดง: โถงบันไดห้องสมุด TCDC เชียงใหม่การแสดงหุ่นเงาและดนตรีด้นสด (Shadow Play and Music Improvisation) โดย มณฑาทิพย์ สุขโสภา ผู้ก่อตั้งคณะละคร “พระจันทร์เพนจร” และศิลปินศิลาปาธรคนล่าสุด จัดแสดงพร้อมคณะดนตรีด้นสดร่วมสมัยของเชียงใหม่ Earsbleed ซึ่งถือเป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์ครั้งแรกบนโถงบันไดของห้องสมุด TCDC เชียงใหม่‘CRUSH ON’ Contemporary Dance and Lanna Ethnic Sound 6 ธ.ค. เวลา 18.00 น.สถานที่จัดแสดง: อาคารมัทนา (ชั้นดาดฟ้า)หลงรัก (Crush On) คือการแสดงระบำร่วมสมัยและพิณเปี๊ยะ ผ่านการความร่วมมือของมาสเตอร์ทางศิลปะการแสดงสองแนวทาง คือ Katsura Kan ครูการแสดงระบำบูโตร่วมสมัยจากญี่ปุ่น รศ. ลิปิกร มาแก้ว และวิศาลทัศน์ รัตนมงคลเกษม ครูพิณเปี๊ยะของประเทศไทย ร่วมสร้างสรรค์ชุดการแสดงที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของตะวันออกบอกเล่าความรักในมิติต่าง ๆ ‘LOCOMOTIVE’ Site-Specific Contemporary Dance 7 ธ.ค. เวลา 19.00 น.สถานที่จัดแสดง: ร้านกุยฮวด (ร้านขายเครื่องจักสาน) ถนนช้างม่อยการแสดงระบำร่วมสมัยในพื้นที่เฉพาะโดยกลุ่ม Physical Theater จัดแสดงภายในร้านเครื่องจักสานเก่าแก่บนถนนช้างม่อย สะท้อนภาพร่วมสมัยของร้านค้าในย่านเก่าแก่ กับ vibe ใหม่ ๆ ของยุคสมัย ‘INTROVERT’ Group Monodrama8 ธ.ค. เวลา 19.00 น.สถานที่จัดแสดง: JPJ Café ถนนราชวงศ์การแสดงเดี่ยวแบบรวมกลุ่มโดยศิลปิน นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์ในเชียงใหม่ บอกเล่าเรื่องราวเฉพาะตัวของแต่ละคนเกี่ยวกับแนวทางการออกแบบชีวิต จัดแสดงบนระเบียงชั้น 2 และ 3 ของอาคาร JPJ Café ถนนราชวงศ์ International Butho Dance9 ธ.ค. เวลา 19.00 น.สถานที่จัดแสดง: อาคารมัทนา ถนนช้างม่อยการแสดงบูโตนานาชาติ นำโดย Katsura Kan บูโตมาสเตอร์จากญี่ปุ่น และคณะนักแสดงที่เข้าร่วมเทศกาล Chiang Mai International Butoh Dance Festival 2003 (จัดแสดงพร้อมกับงาน CMDW 2023) โดยจะจัดการแสดงเพียงรอบเดียวที่อาคารมัณฑนา เวลา 19.00 น. ก่อนจะไปตระเวนจัดแสดงต่อในต่างประเทศ ‘CHOOSE LIFE’ Group Monodrama 10 ธ.ค. เวลา 19.00 น.สถานที่จัดแสดง: วัดชมพู (ลานรอบพระธาตุ)การแสดงเดี่ยวแบบรวมกลุ่ม ‘ชีวิตที่เลือกได้’ (Choose Life) โดยการรวมตัวกันของกลุ่มนักแสดงและนักสร้างสรรค์หญิงของภาคเหนือ นำเสนอเรื่องราวของชีวิตที่ได้ออกแบบ และตกผลึกจนกลายเป็นสิ่งที่ได้เลือกแล้ว ผ่านการแสดงในแบบเฉพาะของตนเอง ณ ลานโดยรอบพระธาตุเจดีย์ทองจังโก วัดชมพู
17 ธ.ค. BBBB
เพราะความเป็นท้องถิ่นนี่แหละชิค! Let’s Hype the Locals!
เพราะความเป็นท้องถิ่นนี่แหละชิค! ชวนอัปเดตเทรนด์ Glocal จากท้องถิ่นสู่โลก ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566ระยะหลัง ที่ได้ผ่านตากันบ่อย พอ ๆ กับคำว่า Soft Power เห็นจะเป็นกระแสความเป็นท้องถิ่นนี่แหละ ไม่ว่าจะจากภาพยนตร์ เพลง หรือสื่ออื่น ๆ มากมาย เช่นเดียวกับในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 หรือ Chiang Mai Design Week 2023 ที่เชิดชูพลังสร้างสรรค์จากท้องถิ่นในภาคเหนือต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ซึ่งในปีนี้เราก็ยังไม่พลาดจัดเต็มโชว์เคสสนุก ๆ จากเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creator) โดยเฉพาะกับนิทรรศการนี้ที่ต้องไม่พลาด!‘Hyper Local: Reconnecting with Our Roots’ คือนิทรรศการโดยเหล่านักออกแบบหลากรุ่นที่มาร่วมขับเคลื่อนเทรนด์ Glocal จากเชียงใหม่ให้ดังไกลทั่วโลก! ผ่านการหยิบต้นทุนทั้งด้านภูมิปัญญาและวัสดุจากท้องถิ่นมาสร้างสรรค์งานออกแบบร่วมสมัยให้สอดรับไปกับเทรนด์โลก นิทรรศการจัดแสดงงานออกแบบอันหลากหลาย ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ ฯลฯ ภายใต้ 4 แนวคิดสุดอินเทรนด์ ไม่ว่าจะเป็น ‘ภูมิใจในความจริงแท้’ (Authentic Soul), ‘เพื่อเรา-เพื่อโลก’ (Eco Ethical), ‘เป็นต่อด้วยความร่วมสมัย’ (Arty Aesthetic) และ ‘สร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา’ (Innovative Solution) มาร่วมอัปเดตเทรนด์ Glocal ผ่านงานดีไซน์สุดเก๋จาก 25 แบรนด์นักออกแบบของไทยได้ในนิทรรศการ ‘Hyper Local: Reconnecting with Our Roots’ ที่ชั้น 2 TCDC เชียงใหม่Let’s Hype the Locals! ‘Hyper Locals: Reconnecting with Our Roots’ Exhibition’ @ Chiang Mai Design Week 2023 The buzz about localism has echoed through movies, music, and various media channels, emerging as a theme often associated with ‘soft power.’ In alignment with this trend, Chiang Mai Design Week 2023 is back for its ninth consecutive year, promising a diverse array of wonderful showcases that spotlight the creativity of the local community. From homecoming creators to igniting local power, the ‘Hyper Local: Reconnecting with Our Roots’ Exhibition is a must-see event!This exhibition brings together Thai designers from 25 leading brands to drive the ‘Glocal’ trend, bridging the gap from northern Thailand’s local scene to the global stage. It achieves this by incorporating local assets such as wisdom, craftsmanship skills, and natural materials into the creation of contemporary-styled objects, including furniture, home decorations, accessories, and even lifestyle products.The showcases are organized into four trends: Authentic Soul, Eco Ethical, Arty Aesthetic, and Innovative Solution.Experience the updated Glocal at the ‘Hyper Local: Reconnecting with Our Roots’ Exhibition at TCDC Chiang Mai, 2nd Floor, throughout Chiang Mai Design Week 2023, from December 2nd to 10th, 2023.
17 ธ.ค. BBBB
Transforming Local Crafts นิทรรศการที่พาไปสำรวจนิยามใหม่ของงานคราฟต์ไทยสุดครีเอต
“Transforming Local Crafts”นิทรรศการที่พาไปสำรวจนิยามใหม่ของงานคราฟต์ไทยสุดครีเอตจาก Central กับ 10 ผลงานคอลแลบร่วมสมัยที่สะท้อนอัตลักษณ์ท้องถิ่นอย่างที่ทราบดีแนวคิดหลักของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2556 (Chiang Mai Design Week 2023) ครั้งนี้ คือ “Transforming Local: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต” ซึ่งไม่เพียงเจ้าภาพหลักอย่าง CEA เชียงใหม่ จะชวนผู้ประกอบการและนักออกแบบในเชียงใหม่และภาคเหนือหลากรุ่น มาร่วมเฉลิมฉลองและ transform พลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นเท่านั้น แต่พันธมิตรหลายรายของเราต่างก็มาร่วมผนึกกำลังเพื่อครีเอตกิจกรรมหลากหลาย และเฉลิมฉลองความสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กัน ดังเช่นกลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) แบรนด์ค้าปลีกชั้นนำที่เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมผลงานสร้างสรรค์จากท้องถิ่นเสมอมา ทั้งยังพยายามผลักดันให้ช่างฝีมือและนักออกแบบผสานความร่วมมือ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยไปสู่ระดับสากล ก็มาร่วมจัดโชว์เคสสุดครีเอตในเทศกาลฯ นี้กับเราด้วย “Transforming Local Crafts” คือนิทรรศการที่นำเสนอนิยามใหม่ของงานหัตถกรรมไทย โดยเซ็นทรัลชวนกลุ่มนักออกแบบชั้นแนวหน้าของบ้านเรามาคอลแลบกับผู้ประกอบการและผู้ผลิตงานหัตถกรรม เพื่อสร้างสรรค์และยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย สนุกสนาน และตอบโจทย์การใช้งานในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ยังผสาน “ความเป็นท้องถิ่น” หรืออัตลักษณ์ดั้งเดิมเข้ากับชิ้นงานไว้ได้อย่างกลมกลืนลงตัวนิทรรศการนำเสนอ 10 ผลงานจาก 10 แบรนด์ท้องถิ่นที่ร่วมสร้างสรรค์กับนักออกแบบ เช่น Moonler แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ไม้จามจุรีระดับพรีเมียม ที่จับมือกับ รัฐธีร์ ไพศาลโชติสิริ สร้างสรรค์ Lounge Chair สไตล์ Mid-Century Modern สุดเท่ หรือ นายใจดี (Ninechaidee) ผู้ผลิตงานเย็บปักจากสันกำแพงที่ร่วมกับ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ออกแบบหมอนอิงที่มีคาแรกเตอร์แบบเชียงใหม่ร่วมสมัย นอกจากนี้ ยังมีแบรนด์งานคราฟต์ร่วมสมัยมาร่วมจัดแสดงโชว์เคสอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ชามเริญสตูดิโอ (Charm-Learn Studio), Slowstitch, Pachana Studio, Inclay Studio, Debua ร่วมกับ อภิวัฒน์ ชิตะปัญญา, เฮือนปอสา จับมือกับ {JUN} ธัญญพร จิตราภิรมย์, สะพรั่ง และ Studio Muejaนิทรรศการจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ตรงข้ามลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งหลังจบเทศกาลฯ ทางกลุ่มเซ็นทรัลยังมีแผนจัดโรดโชว์ เพื่อนำเสนอคอลเล็กชันงานคราฟต์ร่วมสมัยเหล่านี้ไปยังศูนย์การค้าในเครือต่อไป และอย่าลืมว่าวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 นี้ เรามีนัดกันที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 มาร่วม Transforming Local และเฉลิมฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นไปด้วยกัน!
01 ธ.ค. BBBB
เพราะร่วมกัน จึงร่วมสมัย
“เพราะร่วมกัน จึงร่วมสมัย” ร่วมฟื้นชีวิตชีวาให้หัตถกรรมพื้นบ้านกับนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ ที่ TCDC เชียงใหม่เพราะหัตถกรรมพื้นบ้านไม่ได้มีค่าแค่การเป็นข้าวของเครื่องใช้ แต่ยังเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม และจิตวิญญาณของทั้งผู้สร้างและผู้ใช้ แต่นั่นล่ะ เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านจากมรดกชุมชนอันทรงคุณค่า ภูมิปัญญาเชิงช่างพื้นบ้านก็ดูเหมือนจะค่อย ๆ เลือนหายนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem) นิทรรศการจากความร่วมมือของ CEA เชียงใหม่, Japan Foundation และ MUJI คือนิทรรศการที่พยายามค้นหาทางเลือกในการฟื้นชีวิตชีวาแก่หัตถกรรมของช่างฝีมือในเชียงใหม่และภาคเหนือ ให้มีความร่วมสมัยและสอดรับไปกับวิถีชีวิตของผู้คน นิทรรศการพาไปสำรวจแนวคิดจากประเทศต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการนำศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิม มาพัฒนาสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันล้ำสมัยอย่างญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างนิยามใหม่ให้กับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน “มิงเก” (Mingei) หรือการเปรียบเทียบข้าวของเครื่องใช้ในยุคโชวะอย่าง “มิงกู” (Mingu) กับผลิตภัณฑ์จากแบรนด์สินค้าที่ครองใจคนทั้งโลกในปัจจุบันอย่าง “มูจิ” (Muji) ควบคู่ไปกับการจัดแสดงผลงานและแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์แบบคนญี่ปุ่น นิทรรศการยังพาผู้ชมกลับสู่เชียงใหม่ ด้วยการจัดแสดงผลงานอันเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มช่างหัตถกรรมหลากแขนงตามชุมชนต่าง ๆ กับเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creator) ที่หอบเอามุมมองและประสบการณ์ร่วมสมัย มาร่วมสรรสร้างผลงานกับเหล่ามาสเตอร์ในงานหัตถกรรมตัวจริง มาร่วมเรียนรู้ปรัชญาหัตถกรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบญี่ปุ่น พร้อมกับสำรวจไอเดียอันแปลกใหม่จากการทำงานร่วมกันของนักสร้างสรรค์ต่างรุ่นกับนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ หนึ่งในไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 TCDC เชียงใหม่ แล้วคุณจะพบว่าหัตถกรรมพื้นบ้านก็ร่วมสมัยและชิคได้!
25 พ.ย. BBBB
เมื่อ Projection Mapping ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาให้มุมลับในเชียงใหม่ ที่คนมองข้าม
จริงอยู่ที่เชียงใหม่เต็มไปด้วยสถานที่เก๋ ๆ และวัดวาอารามสวย ๆ รอให้คุณไปชื่นชมมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน บางมุมเมืองที่ไม่ได้รับการจดจำในฐานะแลนด์มาร์ก ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องราวอะไรสลักสำคัญเสียที่ไหน และเพราะเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการ Transforming Local ด้วยการผสานพลังสร้างสรรค์เก่า-ใหม่ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคมนี้ เราจึงผนึกกำลังร่วมกับนักสร้างสรรค์ เฟ้นหา ‘มุมลับ’ ในย่านช้างม่อย หนึ่งในสถานที่จัดงานหลัก เพื่อใช้งาน Digital Art ไฮไลต์พื้นที่ที่หลายคนมองข้าม ให้กลับมามีชีวิตชีวาผ่าน ‘เรื่องราว’ เฉพาะตัวของพื้นที่นั้น ๆ แถมมุมลับที่ว่าก็ยังถือเป็น ‘ทางลัด’ ที่พาผู้ชมลัดเลาะชุมชนเก่าแก่ของเมือง เพื่อชมโชว์เคสต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วย่านอีกด้วย มาดูกันว่าโปรเจ็กต์ Neighborhood Mapping ได้ไฮไลต์มุมลับมุมไหนของย่าน และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรกันบ้าง 1. ซุ้มประตูโขงวัดชมพู (Pagoda Local) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label คนเชียงใหม่หลายคนทราบดีว่าองค์พระธาตุหรือเจดีย์วัดชมพู (ถนนช้างม่อยเก่า) ในย่านช้างม่อย ถูกสร้างให้เป็นเจดีย์คู่แฝดกับพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อให้คนล้านนาในอดีตสามารถสักการะพระธาตุดอยสุเทพได้โดยไม่ต้องเดินเท้าขึ้นดอย ทั้งนี้ อีกหนึ่งโบราณสถานที่หลายคนคุ้นชินจนอาจมองข้าม คือซุ้มประตูโขงฝั่งทิศเหนือของวัด ซึ่งเป็นซุ้มประตูสถาปัตยกรรมล้านนาอันเก่าแก่ในยุคสมัยใกล้เคียงกับซุ้มประตูวัดเจ็ดยอด (สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1998 หรือราว 568 ปีที่แล้ว) หากด้วยการพัฒนาเมืองในยุคหลัง ทำให้มีการปลูกบ้านเรือนล้อมวัดจนแน่นขนัด กลบรัศมีความสง่างามของซุ้มประตูแห่งนี้ไป (และหลายคนก็ยังเข้าใจไปว่าประตูทางเข้าวัด ที่อยู่ใกล้ ๆ ร้าน Brewginning คือประตูหน้า หากประตูหลักที่แท้จริงคือฝั่งทิศเหนือที่ซุ้มประตูนี้ตั้งอยู่)ซุ้มประตูโขงวัดชมพูจึงถือเป็นอีกหนึ่งมุมลับที่กลุ่มศิลปินมัลติมีเดียหัวสมัยใหม่ เจ้าของงานสื่อผสมแบบ Site Specific เท่ๆ มากมายอย่าง Kor.bor.Vor. Visual Label ตั้งใจสร้างสรรค์งาน Projection Mapping ให้สอดรับไปกับความงามของซุ้มประตู Transform หนึ่งในแลนด์มาร์กที่หลายคนมองข้ามให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยเรื่องเล่าร่วมสมัยอีกครั้ง2. สะพานแดงข้ามคลองแม่ข่า (The Connection Bridge) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label ถัดมาไม่ไกล ในชุมชนช้างม่อยยังมี ‘สะพานแดง’ สะพานเล็ก ๆ เหนือคลองแม่ข่า ที่ชาวชุมชนใช้เป็นทางลัดเชื่อมจากละแวกวัดชมพูไปสู่ถนนราชวงศ์ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ นี่เป็นครั้งแรกที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ขอใช้สะพานนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางชมงาน (ไปพร้อมกับให้ทุกคนมีโอกาสเดินเล่นสำรวจชุมชน) โดยทีม Kor.bor.Vor. Visual Label ก็ยังทำงาน Digital Art สร้างชีวิตชีวาให้พื้นที่รอบสะพาน เปลี่ยนจาก ‘ทางผ่าน’ สู่อีกหนึ่งจุดเช็กอินเก๋ ๆ ที่ต้องไม่พลาดแวะชม 3. ห้องแถวห้าห้อง (Original Five) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label ถัดมาที่ถนนราชวงศ์ เรามีนัดกันที่ ‘ห้องแถวห้าห้อง’ บนถนนราชวงศ์ ซอย 3 เรือนแถวพาณิชย์ 5 คูหา อันเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคใกล้ของย่านการค้าเก่าแก่แห่งนี้ ปัจจุบันห้องแถวห้าห้องอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพื่อชุบชีวิตสู่ธุรกิจใหม่ให้สอดรับไปกับการเติบโตของย่าน ซึ่งทีม Kor.bor.Vor. Visual Label เลยได้โอกาสใช้อาคารเหล่านี้เป็นสถานที่บอกเล่าพัฒนาการของย่านช้างม่อยผ่านงานภาพเคลื่อนไหวเสียเลย ว่าแต่เขาจะเล่าเรื่องอะไร และจะน่าสนุกแค่ไหนนั้น ต้องรอติดตามชม4. ธน-อาคาร (เปิ้นสานฉัน) : Projection Mapping by Decide Kitปิดท้ายที่ ธน-อาคาร หนึ่งในสถานที่จัดงานไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ธน-อาคารเดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์ชื่อดังของย่าน ที่ซึ่งฟาซาด (facade) หรือผิวหน้าของอาคารมีเส้นสายจำลองรวงข้าว ที่ไม่เพียงบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของธนาคารดังกล่าว แต่ยังเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของเมืองที่สวยงามยิ่ง ควบคู่ไปกับโชว์เคสสนุกๆ ภายในอาคาร บริเวณด้านหน้าของอาคาร กลุ่มศิลปิน Decide Kit ผู้อยู่เบื้องหลังงานแสง-สี-เสียงเจ๋ง ๆ มากมาย ก็รับหน้าที่ใช้งาน Projection Mapping บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ของย่านร่วมสมัยแห่งนี้ ซ้อนทับไปกับอัตลักษณ์ของอาคารอย่างเฉียบเท่และเหล่านี้คือบางส่วนจาก ‘มุมลับ’ ที่มาพร้อมไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากกลุ่มศิลปิน โดยไอเดียที่ว่าจะถูกแปลงโฉมออกมาเป็นเรื่องราวอะไร หรืองานจะมีหน้าตาเก๋ไก๋ขนาดไหน เร็ว ๆ นี้เราจะมาเฉลยกัน
20 พ.ย. BBBB
สำรวจเส้นทางสร้างสรรค์ และเช็กอินตึกเก่าสุดเก๋ในย่านช้างม่อย
ไม่เพียงแนวคิด ‘TRANSFORMING LOCAL: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ที่มุ่งเสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ผ่านความร่วมมือของนักสร้างสรรค์ต่างรุ่น จะถูกใช้เป็นธีมหลักของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ในปีนี้ หากแต่พื้นที่จัดงานเกือบทั้งหมด ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลง (transforming) ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในย่านช้างม่อย (Chang Moi) หนึ่งในสถานที่จัดงานหลักของเทศกาลฯ ที่ซึ่งอาคารเก่าแก่หลายหลังในย่านได้รับการปรับปรุงและยกระดับ เปลี่ยนจากพื้นที่ที่หลายคนเคยมองข้าม ให้อัดแน่นด้วยไอเดีย แรงบันดาลใจ และบรรยากาศอันสดใหม่ มาดูกันว่าภายในอาคารเก่าหลายแห่งในย่านช้างม่อยได้บรรจุไฮไลต์อะไรที่รอให้คุณไปเช็กอิน และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กันบ้าง ช้างม่อย: ย่านการค้าเก่าแก่กับชีวิตชีวาใหม่ ย่านช้างม่อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่าเชียงใหม่ บนถนนที่เชื่อมสี่เหลี่ยมคูเมืองเข้ากับตลาดวโรรสและแม่น้ำปิง ย่านแห่งนี้ (รวมถนนช้างม่อยเก่า ถนนราชวงศ์ และถนนท้ายวัง) ถือเป็นหนึ่งในย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของเมือง ซึ่งเรียงรายไปด้วยอาคารพาณิชย์อายุมากกว่า 50 ปีที่ทั้งงดงาม เปี่ยมเสน่ห์ และถือเป็นอีกหนึ่งมรดกร่วมสมัยคู่เมือง และถึงแม้การขยายตัวของเมืองที่แผ่ออกไปรอบนอกในช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้ย่านช้างม่อยต้องประสบภาวะซบเซาอยู่บ้าง หากในช่วง 3-4 ปีหลัง เมื่อคนรุ่นใหม่ในเชียงใหม่เห็นโอกาสของการทำธุรกิจร่วมสมัยภายในอาคารรอบเขตเมืองเก่า ย่านช้างม่อยจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการผสมผสานกิจการเก่า-ใหม่อย่างลงตัว ตึกมัทนา: จากสำนักงานและโรงเก็บไม้สู่พื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางย่าน ตึกมัทนาตั้งอยู่ใจกลางแหล่งการค้าบนถนนช้างม่อย และเคยเป็นที่ตั้งของ บริษัท มัทนาพาณิชย์ จำกัด สำนักงานและโกดังเก็บไม้แห่งแรก ๆ ของเมือง ที่ซึ่งเมื่อเจ้าของอาคารได้ย้ายฐานที่มั่นทางธุรกิจออกนอกเชียงใหม่ อาคารความสูง 3 ชั้นแห่งนี้จึงถูกปิดร้างอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ TCDC เชียงใหม่ จะเข้าไปขอใช้พื้นที่โกดังของอาคารสำหรับจัดนิทรรศการในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2565 เช่นเดียวกับเทศกาลฯ ในปีนี้ ตัวอาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดโปรแกรมไฮไลต์ต่าง ๆ อย่างนิทรรศการ ‘เหนือชั้น’ (Upper Floor Project) นิทรรศการที่นำเสนอแนวทางในการจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่มักไม่ถูกใช้งาน ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายที่ชวนให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับอาคารในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่โชว์เคสบอกเล่าเรื่องราวของตึกเก่าในย่าน เวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์ การฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้า การแสดงดนตรี ไปจนถึงกิจกรรมเปิดไพ่ดูดวง! ฯลฯ นอกจากนี้ ภายในอาคารยังมีนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things) เปลี่ยนโฟกัสจากแนวทางการฟื้นฟูอาคารเก่ามายังวิธีการฟื้นคืนชีวิตให้สิ่งของอย่างสร้างสรรค์ นิทรรศการนำเสนอกระบวนการการใช้ทักษะเชิงช่างหัตถกรรมมาซ่อมแซมสิ่งของใช้แล้วหรือของเก่าที่เสียหายต่าง ๆ พร้อมกับการเสริมไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ควบคู่ไปกับการรักษาเรื่องราวอันทรงคุณค่าในอดีตของสิ่งของนั้น ๆ Tokki Izakaya: International Showcase ภายในร้านอิซากายะ ไม่ไกลจากตึกมัทนา บนถนนชัยภูมิ ซอย 1 (ซอยร้าน Brewginning Coffee หน้าวัดชมพู) Tokki Izakaya Bar เป็นหนึ่งในร้านอาหารญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มีส่วนในการบุกเบิกย่านช้างม่อยให้กลับมาคึกคักเช่นทุกวันนี้ โดยในเทศกาลฯ ร้านแห่งนี้ก็ได้มาร่วมแจมด้วยการเปิดพื้นที่ International Showcase นำเสนองานสร้างสรรค์โดยนักออกแบบจากประเทศไต้หวัน จุดประกายแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากต่างแดนให้คนเชียงใหม่ได้เก็บเกี่ยวและดื่มด่ำ ธน-อาคาร: เปล่งประกายไอเดียสุดล้ำในตึกธนาคารเก่า ธน-อาคาร คืออาคารความสูง 3 ชั้นที่มาพร้อมฟาซาด (Facade) สุดเท่อันเป็นผลผลิตของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบ้านเราเมื่อหลายทศวรรษก่อน อาคารแห่งนี้เดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์เจ้าดังบนถนนราชวงศ์ ภายหลังธนาคารสาขานี้ปิดตัวไป ก็ได้มีผู้ประกอบการหัวก้าวหน้ามาใช้พื้นที่ต่อ โดยวางแผนจะเปลี่ยนให้อาคารกลายเป็นพื้นที่แบบ mixed-use ในเร็ววันนี้ในเทศกาลฯ นี้ ธน-อาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการไฮไลท์หลายงานด้วยกัน ได้แก่ นิทรรศการ Sound Moment โดย วิทยา จันมา นิทรรศการแนว Interactive ผสานภาพเคลื่อนไหวและแผ่นเสียง จนเกิดเป็น Vinyl Animation เชิงทดลอง ที่มาพร้อมเทคนิคภาพติดตาสุดตระการตา นิทรรศการ Flavourscape อีกหนึ่งงาน Interactive ที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับผู้คนในภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ภายใต้แนวคิด ‘รีคอมมอนนิ่ง’ (Re-Commoning) ซึ่งเปิดให้ผู้ชมได้ทดลองปรับ สลับ และจับคู่อาหารกับภูมิศาสตร์ของผู้บริโภค เพื่อสำรวจผลลัพธ์ที่เกิดจากการจับคู่ใหม่นั้น ๆ The Haunted House ผลงานโดยนักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยี AR มาสร้างสรรค์บ้านผีสิงสุดล้ำ เปิดประสบการณ์ที่ทั้งสยองและสนุกไปพร้อมกัน ซึ่งเราขอเตือนไว้ก่อนว่าโปรแกรมนี้ไม่เหมาะสำหรับคนขวัญอ่อน! อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา: กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ๆปิดท้ายที่อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับ TCDC เชียงใหม่ ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ (Creative Kids Program) โดยทั้งพื้นที่ภายในอาคารและสวนอันร่มรื่นโดยรอบจะถูกใช้เป็นเวทีละครเด็ก รวมถึงกิจกรรมเล่านิทานสำหรับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ ทางอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (NARIT) ยังมาร่วมเติมเต็มประสบการณ์สุดว้าว กับนิทรรศการ ดวงดาวพราวแสง (Glow in the Dark) แสดงแบบจำลองดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจักรวาลภายในอาคารหลังนี้ ให้น้อง ๆ หนู ๆ ชวนพ่อแม่มาดูท้องฟ้าจำลองขนาดย่อม ๆ ตลอดช่วงเทศกาล เช็กอินทุกที่ได้อย่างสะดวกด้วยรถรางที่เชื่อมทุกย่านในเทศกาล ผู้สนใจร่วมเทศกาลฯ สามารถเดินทางไปเช็กอินและรับชมโปรแกรมต่าง ๆ ในทุกสถานที่ที่กล่าวมาได้อย่างสะดวก ด้วยบริการรถรางซึ่งเชื่อมต่อสถานที่จัดงานในย่านหลักของเทศกาลฯ ได้แก่ ย่านกลางเวียง, ย่านช้างม่อย-ท่าแพ โดยรถรางจะวิ่งวนตามย่านต่าง ๆ (รถออกทุก ๆ 1 ชั่วโมง) หรือจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ของเมือง ก็มีให้เลือกหลากหลาย นอกจากนี้ ด้วยความที่สถานที่จัดแสดงงานแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกันนัก การเดินเท้าชิลล์ ๆ เพื่อรับชมงานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะได้เดินชมเมืองเก่าที่สวยงามมีเสน่ห์ของเชียงใหม่ท่ามกลางอากาศเย็นสบายแล้ว ตลอดเส้นทางยังมีการแสดงแสง-สี-เสียง ควบคู่ไปกับการแวะเยี่ยมชมร้านรวงสุดฮิปที่มีอยู่หลายแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่ ขอเชิญมาร่วมสำรวจเส้นทางสุดสร้างสรรค์กับการ Transforming ฟื้นคืนชีวิตชีวาให้ย่านเก่าด้วยจิตวิญญาณใหม่ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 นี้ แล้วพบกัน!
20 พ.ย. BBBB
พาเหรดกิจกรรมจากผองเพื่อน ที่เติมเต็มเทศกาลฯ ให้เป็นช่วงเวลาสุดสร้างสรรค์
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023: CMDW2023) ที่จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ไม่ได้มีแค่งานออกแบบ เพราะนอกจากโชว์เคสและกิจกรรมหลากหลายที่จัดขึ้นใน 2 พื้นที่หลักของเมือง ได้แก่ ย่านกลางเวียง (พิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา-ล่ามช้างเมืองเก่าเชียงใหม่), ย่านช้างม่อย-ท่าแพ และพื้นที่อื่น ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่แล้ว ในช่วงเวลาจัดงาน เหล่าเครือข่ายพันธมิตรของ CEA ยังผนึกกำลังกันจัดอีเวนต์สนุก ๆ ควบคู่ไปด้วย โดยอีเวนต์ที่ว่าก็ครอบคลุมตั้งแต่เทศกาลศิลปะ ดนตรี ศิลปะการแสดง และอื่น ๆ ภายในเขตตัวเมืองและอำเภอข้างเคียง เปลี่ยนให้ตลอดทั้งสัปดาห์ของการจัดงาน เป็นช่วงเวลาที่เมืองเชียงใหม่ได้เฉลิมฉลองพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มอิ่ม ไปดูกันว่าแต่ละสถานที่จัดงานอะไรกันบ้าง ภาพจาก: นิทรรศการ Unveiling Objectsพิกัด – สันกำแพงเริ่มจากโซนเหนือที่อำเภอสันกำแพง หนึ่งในย่านสร้างสรรค์สำคัญในฐานะแหล่งผลิตงานหัตถกรรมขึ้นชื่อของเมืองเชียงใหม่ แต่ที่นี่ไม่ได้มีดีแค่งานคราฟต์ โดยยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ โดยในช่วงเวลาของการจัดเทศกาลฯ พิพิธภัณฑ์ได้เปิดต้อนรับทุกท่านให้มาเข้าสู่โลกแห่งความฝันและจินตนาการสุดคัลเลอร์ฟูล ผ่านการรับชม นิทรรศการ Dreamworld #dreammantra โดย มิตร ใจอินทร์ ศิลปินชาวเชียงใหม่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ผู้ประยุกต์งานหัตถกรรมท้องถิ่นให้เข้ากับงานทัศนศิลป์ร่วมสมัย จนเกิดเป็นงานสร้างสรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและจิตวิญญาณ นอกจากนี้ ที่นี่ยังมี นิทรรศการ Unveiling Objects จัดแสดงของสะสมด้านศิลปะที่น่าสนใจในคอลเล็กชันส่วนตัวของ Jean-Michel Beurdeley ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรมกึ่งเก้าอี้ของชวลิต เสริมปรุงสุข งานเฟอร์นิเจอร์สุดล้ำของสิงห์ อินทรชูโต หรือเครื่องใช้ไม้สอยเท่ ๆ ของไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ฯลฯ โดยนิทรรศการฯ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2566 – 18 กุุมภาพันธ์ 2567ภาพจาก: Mango Art Festivalพิกัด – หางดง ไปต่อที่โซนใต้ในอำเภอหางดง อีกหนึ่งฐานการผลิตงานไม้แกะสลักและตลาดสินค้าแอนทีกชั้นเลิศระดับภูมิภาค โดยในช่วงการจัดเทศกาล CMDW2023 De Siam Antiques Chiangmai ได้จัดเทศกาลศิลปะ Mango Art Festival 2023 ไปพร้อม ๆ กันต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยในปีนี้ทางผู้จัดได้รวบรวมและคัดสรรผลงานของศิลปินร่วมสมัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาจัดแสดงภายใต้แนวคิด ‘Treasure Discovered’ โดยนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยที่เกิดจากการผสมผสานมุมมองใหม่ ๆ เข้ากับโบราณวัตถุ Mango Art Festival 2023 จัดแสดงในวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ภายในสวนที่มีพื้นที่กว้างและกลุ่มเรือนโบราณอันงดงามและร่มรื่น ภายในพื้นที่ของ De Siam Antiques Chiangmaiพิกัด – ตัวเมืองเชียงใหม่ กลับมาในตัวเมืองเชียงใหม่ ที่ Jing Jai Gallery ณ กาดจริงใจ นิทรรศการ Spirit Atlas พร้อมต้อนรับอาร์ตเลิฟเวอร์เช่นกัน ด้วยการนำเสนอผลงานศิลปะจากสื่อที่หลากหลาย ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพเคลื่อนไหว ที่ล้วนสะท้อนภูมิทัศน์วัฒนธรรมป๊อปในบ้านเรา ผ่านมุมมองของ 7 ศิลปินรุ่นใหม่ เช่น นักรบ มูลมานัส, ยุรี เกนสาคุ, สันติภาพ อินกองงาม ฯลฯ นับเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่คอศิลปะไม่ควรพลาด จัดแสดงแบบยิงยาวตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 – 11 กุมภาพันธ์ 2567ภาพจาก: นิทรรศการ Colour Lives: Furniture Exhibitionพิกัด – ใจกลางย่านเมืองเก่า ส่วน Kalm Village อีกหนึ่งพื้นที่ศิลปหัตถกรรมร่วมสมัยย่านใจกลางย่านเมืองเก่า ก็มี นิทรรศการสีสันกับชีวิต: นิทรรศการเฟอร์นิเจอร์ โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นักออกแบบชั้นครูผู้เป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสืบสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมสู่ความร่วมสมัยและยั่งยืน โดยนิทรรศการนี้จะจัดแสดงควบคู่ไปกับคอลเล็กชันงานคราฟต์ร่วมสมัยของนักสร้างสรรค์ท่านอื่น ๆ ภายในพื้นที่ พิกัดอื่น ๆ นอกจากศิลปะและงานออกแบบแล้ว ในช่วงสัปดาห์การจัดงาน CMDW2023 นี้ สายดนตรีก็มีซาวนด์ดี ๆ ให้ได้ฟังกันอย่างจุใจ ไม่ว่าจะเป็น Chiang Mai Street Jazz Festival เทศกาลดนตรีแจ๊สที่สนุกและติดดินที่สุดของเมือง ซึ้งปีนี้จัดแสดงต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 งานนี้มีนักดนตรีแจ๊สทั้งชาวไทยและต่างชาติมากมาย หมุนเวียนมาแจมดนตรีกันตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่, North Gate Jazz Club, Moment’s Notice, The Mellowship Jazz Clab รวมถึงพื้นที่สาธารณะทั่วมุมเมือง (25 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566) เช่นเดียวกับงาน Chiang Mai Busking หรือเทศกาลดนตรีเปิดหมวกเชียงใหม่ ที่จัดโดยกลุ่ม Chiang Mai Original ผู้จัดก็ได้ชักชวนนักดนตรีเชียงใหม่หลากหลายสไตล์ มาร่วมแสดงผลงานเพลงของพวกเขาเอง เพื่อสร้างสีสันและความรื่นรมย์ตามพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ในย่านล่ามช้าง กลางเมืองเก่าเชียงใหม่ ภาพ: Street Jazz Festivalทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของความสนุกตลอดหนึ่งสัปดาห์แห่งการเฉลิมฉลองความคิดสร้างสรรค์และพลังแห่งท้องถิ่นจากเครือข่ายพันธมิตร CEA ขอเชิญทุกท่านร่วมเก็บเกี่ยวไอเดียสนุก ๆ สปาร์กแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และดื่มด่ำประสบการณ์สุดรื่นรมย์ได้จาก Friend Activities ทั้งในอำเภอสันกำแพง หางดง และตัวเมืองเชียงใหม่ พร้อม ๆ ไปกับงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 ระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม นี้
19 พ.ย. BBBB
กิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023
กิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน 2566 ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จัดกิจกรรมสัมนาผู้เข้าร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Desaign Week) 2023 ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มพูนโอกาสในการต่อยอดผลงานจัดแสดง ส่งเสริมธุรกิจ ขยายพื้นที่ในการส่งเสริมนักออกแบบ ดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ นักดนตรี และผู้ที่สนใจ เพื่อผลักดัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่นให้เติบโตเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 จึงอยากชวนนักออกแบบ นักคิด นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน เหล่าคนคืนถิ่น หรือผู้ที่สนใจมาร่วมก้าวเดินต่อไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด ‘Transforming Local : ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ พื้นที่สำหรับนำเสนอ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงทุกแรงบันดาลใจและไอเดียการต่อยอดองค์ความรู้เก่า – ใหม่ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนเติมเต็มโอกาสการทางแข่งขันด้วยโปรแกรมสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ควบคู่ผลักดันศักยภาพท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับและยืนหยัดได้อย่างสง่างามในเวทีระดับสากลสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้โอกาสในการเรียนรู้เกี่ยวกับเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 รวมถึงพบปะผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลท่านอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างโอกาส และเส้นทางทางเติบโตในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เช่น การจัดแสดงโชว์ผลงานออกแบบ (Showcases) กิจกรรมส่งเสริมธุรกิจ (Activities) และตลาดหัตถกรรมคัดสรร (POP Market) ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และให้เกิดการพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภายภาคหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้เข้าร่วมงานกิจกรรมสัมมนาผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2023 (Exhibitor’s Seminar) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีโอกาสพบปะทุกท่านในเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ (Chaing Mai Design Week) 2023 ในวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566#ChiangMaiDesignWeek2023 #CMDW2023 #TransformingLocal
29 ก.ย. BBBB