ท่านกำลังเยี่ยมชมเทศกาลที่ผ่านมา เยี่ยมชมเทศกาลปัจจุบัน

สำรวจเส้นทางสร้างสรรค์ และเช็กอินตึกเก่าสุดเก๋ในย่านช้างม่อย

เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ไม่เพียงแนวคิด ‘TRANSFORMING LOCAL: ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ ที่มุ่งเสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลงและยกระดับมรดกด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ผ่านความร่วมมือของนักสร้างสรรค์ต่างรุ่น จะถูกใช้เป็นธีมหลักของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ในปีนี้ หากแต่พื้นที่จัดงานเกือบทั้งหมด ก็ยังเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนของการเปลี่ยนแปลง (transforming) ดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะในย่านช้างม่อย (Chang Moi) หนึ่งในสถานที่จัดงานหลักของเทศกาลฯ ที่ซึ่งอาคารเก่าแก่หลายหลังในย่านได้รับการปรับปรุงและยกระดับ เปลี่ยนจากพื้นที่ที่หลายคนเคยมองข้าม ให้อัดแน่นด้วยไอเดีย แรงบันดาลใจ และบรรยากาศอันสดใหม่ มาดูกันว่าภายในอาคารเก่าหลายแห่งในย่านช้างม่อยได้บรรจุไฮไลต์อะไรที่รอให้คุณไปเช็กอิน และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ กันบ้าง 



ช้างม่อย: ย่านการค้าเก่าแก่กับชีวิตชีวาใหม่  

ย่านช้างม่อย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเก่าเชียงใหม่ บนถนนที่เชื่อมสี่เหลี่ยมคูเมืองเข้ากับตลาดวโรรสและแม่น้ำปิง ย่านแห่งนี้ (รวมถนนช้างม่อยเก่า ถนนราชวงศ์ และถนนท้ายวัง) ถือเป็นหนึ่งในย่านการค้าเก่าแก่ที่สำคัญของเมือง ซึ่งเรียงรายไปด้วยอาคารพาณิชย์อายุมากกว่า 50 ปีที่ทั้งงดงาม เปี่ยมเสน่ห์ และถือเป็นอีกหนึ่งมรดกร่วมสมัยคู่เมือง และถึงแม้การขยายตัวของเมืองที่แผ่ออกไปรอบนอกในช่วงเวลาหนึ่ง จะทำให้ย่านช้างม่อยต้องประสบภาวะซบเซาอยู่บ้าง หากในช่วง 3-4 ปีหลัง เมื่อคนรุ่นใหม่ในเชียงใหม่เห็นโอกาสของการทำธุรกิจร่วมสมัยภายในอาคารรอบเขตเมืองเก่า ย่านช้างม่อยจึงกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากการผสมผสานกิจการเก่า-ใหม่อย่างลงตัว 


ตึกมัทนา: จากสำนักงานและโรงเก็บไม้สู่พื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางย่าน  

ตึกมัทนาตั้งอยู่ใจกลางแหล่งการค้าบนถนนช้างม่อย และเคยเป็นที่ตั้งของ บริษัท มัทนาพาณิชย์ จำกัด สำนักงานและโกดังเก็บไม้แห่งแรก ๆ ของเมือง ที่ซึ่งเมื่อเจ้าของอาคารได้ย้ายฐานที่มั่นทางธุรกิจออกนอกเชียงใหม่ อาคารความสูง 3 ชั้นแห่งนี้จึงถูกปิดร้างอยู่พักใหญ่ ก่อนที่ TCDC เชียงใหม่ จะเข้าไปขอใช้พื้นที่โกดังของอาคารสำหรับจัดนิทรรศการในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2565  


เช่นเดียวกับเทศกาลฯ ในปีนี้ ตัวอาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดโปรแกรมไฮไลต์ต่าง ๆ อย่างนิทรรศการ ‘เหนือชั้น’ (Upper Floor Project) นิทรรศการที่นำเสนอแนวทางในการจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ที่มักไม่ถูกใช้งาน ผ่านกิจกรรมอันหลากหลายที่ชวนให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์กับอาคารในมิติต่าง ๆ ตั้งแต่โชว์เคสบอกเล่าเรื่องราวของตึกเก่าในย่าน เวิร์กช็อปเชิงสร้างสรรค์ การฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้า การแสดงดนตรี ไปจนถึงกิจกรรมเปิดไพ่ดูดวง! ฯลฯ 


นอกจากนี้ ภายในอาคารยังมีนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things) เปลี่ยนโฟกัสจากแนวทางการฟื้นฟูอาคารเก่ามายังวิธีการฟื้นคืนชีวิตให้สิ่งของอย่างสร้างสรรค์ นิทรรศการนำเสนอกระบวนการการใช้ทักษะเชิงช่างหัตถกรรมมาซ่อมแซมสิ่งของใช้แล้วหรือของเก่าที่เสียหายต่าง ๆ พร้อมกับการเสริมไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่า ควบคู่ไปกับการรักษาเรื่องราวอันทรงคุณค่าในอดีตของสิ่งของนั้น ๆ 


Tokki Izakaya: International Showcase ภายในร้านอิซากายะ 

ไม่ไกลจากตึกมัทนา บนถนนชัยภูมิ ซอย 1 (ซอยร้าน Brewginning Coffee หน้าวัดชมพู) Tokki Izakaya Bar เป็นหนึ่งในร้านอาหารญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มีส่วนในการบุกเบิกย่านช้างม่อยให้กลับมาคึกคักเช่นทุกวันนี้ โดยในเทศกาลฯ ร้านแห่งนี้ก็ได้มาร่วมแจมด้วยการเปิดพื้นที่ International Showcase นำเสนองานสร้างสรรค์โดยนักออกแบบจากประเทศไต้หวัน จุดประกายแรงบันดาลใจใหม่ ๆ จากต่างแดนให้คนเชียงใหม่ได้เก็บเกี่ยวและดื่มด่ำ 


ธน-อาคาร: เปล่งประกายไอเดียสุดล้ำในตึกธนาคารเก่า  

ธน-อาคาร คืออาคารความสูง 3 ชั้นที่มาพร้อมฟาซาด (Facade) สุดเท่อันเป็นผลผลิตของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในบ้านเราเมื่อหลายทศวรรษก่อน อาคารแห่งนี้เดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์เจ้าดังบนถนนราชวงศ์ ภายหลังธนาคารสาขานี้ปิดตัวไป ก็ได้มีผู้ประกอบการหัวก้าวหน้ามาใช้พื้นที่ต่อ โดยวางแผนจะเปลี่ยนให้อาคารกลายเป็นพื้นที่แบบ mixed-use ในเร็ววันนี้


ในเทศกาลฯ นี้ ธน-อาคารได้ถูกใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการไฮไลท์หลายงานด้วยกัน ได้แก่ นิทรรศการ Sound Moment โดย วิทยา จันมา นิทรรศการแนว Interactive ผสานภาพเคลื่อนไหวและแผ่นเสียง จนเกิดเป็น Vinyl Animation เชิงทดลอง ที่มาพร้อมเทคนิคภาพติดตาสุดตระการตา นิทรรศการ Flavourscape อีกหนึ่งงาน Interactive ที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับผู้คนในภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน ภายใต้แนวคิด ‘รีคอมมอนนิ่ง’ (Re-Commoning) ซึ่งเปิดให้ผู้ชมได้ทดลองปรับ สลับ และจับคู่อาหารกับภูมิศาสตร์ของผู้บริโภค เพื่อสำรวจผลลัพธ์ที่เกิดจากการจับคู่ใหม่นั้น ๆ 



The Haunted House ผลงานโดยนักศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเทคโนโลยี AR มาสร้างสรรค์บ้านผีสิงสุดล้ำ เปิดประสบการณ์ที่ทั้งสยองและสนุกไปพร้อมกัน ซึ่งเราขอเตือนไว้ก่อนว่าโปรแกรมนี้ไม่เหมาะสำหรับคนขวัญอ่อน! 


อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา: กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก ๆ

ปิดท้ายที่อาคารสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนา ซึ่งตั้งอยู่ภายในรั้วเดียวกับ TCDC เชียงใหม่ ที่นี่เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของเด็ก ๆ (Creative Kids Program) โดยทั้งพื้นที่ภายในอาคารและสวนอันร่มรื่นโดยรอบจะถูกใช้เป็นเวทีละครเด็ก รวมถึงกิจกรรมเล่านิทานสำหรับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ ทางอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร (NARIT) ยังมาร่วมเติมเต็มประสบการณ์สุดว้าว กับนิทรรศการ ดวงดาวพราวแสง (Glow in the Dark) แสดงแบบจำลองดาวเคราะห์ของระบบสุริยะจักรวาลภายในอาคารหลังนี้ ให้น้อง ๆ หนู ๆ ชวนพ่อแม่มาดูท้องฟ้าจำลองขนาดย่อม ๆ ตลอดช่วงเทศกาล 



เช็กอินทุกที่ได้อย่างสะดวกด้วยรถรางที่เชื่อมทุกย่านในเทศกาล 

ผู้สนใจร่วมเทศกาลฯ สามารถเดินทางไปเช็กอินและรับชมโปรแกรมต่าง ๆ ในทุกสถานที่ที่กล่าวมาได้อย่างสะดวก ด้วยบริการรถรางซึ่งเชื่อมต่อสถานที่จัดงานในย่านหลักของเทศกาลฯ ได้แก่ ย่านกลางเวียง, ย่านช้างม่อย-ท่าแพ โดยรถรางจะวิ่งวนตามย่านต่าง ๆ (รถออกทุก ๆ 1 ชั่วโมง) หรือจะเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ของเมือง ก็มีให้เลือกหลากหลาย 



นอกจากนี้ ด้วยความที่สถานที่จัดแสดงงานแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกันนัก การเดินเท้าชิลล์ ๆ เพื่อรับชมงานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่เพียงจะได้เดินชมเมืองเก่าที่สวยงามมีเสน่ห์ของเชียงใหม่ท่ามกลางอากาศเย็นสบายแล้ว ตลอดเส้นทางยังมีการแสดงแสง-สี-เสียง ควบคู่ไปกับการแวะเยี่ยมชมร้านรวงสุดฮิปที่มีอยู่หลายแห่งทั่วเมืองเชียงใหม่  


ขอเชิญมาร่วมสำรวจเส้นทางสุดสร้างสรรค์กับการ Transforming ฟื้นคืนชีวิตชีวาให้ย่านเก่าด้วยจิตวิญญาณใหม่ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) วันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 นี้ แล้วพบกัน!




แชร์