เมื่อ Projection Mapping ฟื้นคืนความมีชีวิตชีวาให้มุมลับในเชียงใหม่ ที่คนมองข้าม
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
จริงอยู่ที่เชียงใหม่เต็มไปด้วยสถานที่เก๋ ๆ และวัดวาอารามสวย ๆ รอให้คุณไปชื่นชมมากมาย แต่ในขณะเดียวกัน บางมุมเมืองที่ไม่ได้รับการจดจำในฐานะแลนด์มาร์ก ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องราวอะไรสลักสำคัญเสียที่ไหน และเพราะเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการ Transforming Local ด้วยการผสานพลังสร้างสรรค์เก่า-ใหม่ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคมนี้ เราจึงผนึกกำลังร่วมกับนักสร้างสรรค์ เฟ้นหา ‘มุมลับ’ ในย่านช้างม่อย หนึ่งในสถานที่จัดงานหลัก เพื่อใช้งาน Digital Art ไฮไลต์พื้นที่ที่หลายคนมองข้าม ให้กลับมามีชีวิตชีวาผ่าน ‘เรื่องราว’ เฉพาะตัวของพื้นที่นั้น ๆ แถมมุมลับที่ว่าก็ยังถือเป็น ‘ทางลัด’ ที่พาผู้ชมลัดเลาะชุมชนเก่าแก่ของเมือง เพื่อชมโชว์เคสต่าง ๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วย่านอีกด้วย มาดูกันว่าโปรเจ็กต์ Neighborhood Mapping ได้ไฮไลต์มุมลับมุมไหนของย่าน และมีเรื่องราวที่น่าสนใจอะไรกันบ้าง
1. ซุ้มประตูโขงวัดชมพู (Pagoda Local) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label
คนเชียงใหม่หลายคนทราบดีว่าองค์พระธาตุหรือเจดีย์วัดชมพู (ถนนช้างม่อยเก่า) ในย่านช้างม่อย ถูกสร้างให้เป็นเจดีย์คู่แฝดกับพระธาตุดอยสุเทพ เพื่อให้คนล้านนาในอดีตสามารถสักการะพระธาตุดอยสุเทพได้โดยไม่ต้องเดินเท้าขึ้นดอย ทั้งนี้ อีกหนึ่งโบราณสถานที่หลายคนคุ้นชินจนอาจมองข้าม คือซุ้มประตูโขงฝั่งทิศเหนือของวัด ซึ่งเป็นซุ้มประตูสถาปัตยกรรมล้านนาอันเก่าแก่ในยุคสมัยใกล้เคียงกับซุ้มประตูวัดเจ็ดยอด (สร้างขึ้นราว พ.ศ. 1998 หรือราว 568 ปีที่แล้ว) หากด้วยการพัฒนาเมืองในยุคหลัง ทำให้มีการปลูกบ้านเรือนล้อมวัดจนแน่นขนัด กลบรัศมีความสง่างามของซุ้มประตูแห่งนี้ไป (และหลายคนก็ยังเข้าใจไปว่าประตูทางเข้าวัด ที่อยู่ใกล้ ๆ ร้าน Brewginning คือประตูหน้า หากประตูหลักที่แท้จริงคือฝั่งทิศเหนือที่ซุ้มประตูนี้ตั้งอยู่)
ซุ้มประตูโขงวัดชมพูจึงถือเป็นอีกหนึ่งมุมลับที่กลุ่มศิลปินมัลติมีเดียหัวสมัยใหม่ เจ้าของงานสื่อผสมแบบ Site Specific เท่ๆ มากมายอย่าง Kor.bor.Vor. Visual Label ตั้งใจสร้างสรรค์งาน Projection Mapping ให้สอดรับไปกับความงามของซุ้มประตู Transform หนึ่งในแลนด์มาร์กที่หลายคนมองข้ามให้กลับมามีชีวิตชีวาด้วยเรื่องเล่าร่วมสมัยอีกครั้ง
2. สะพานแดงข้ามคลองแม่ข่า (The Connection Bridge) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label
ถัดมาไม่ไกล ในชุมชนช้างม่อยยังมี ‘สะพานแดง’ สะพานเล็ก ๆ เหนือคลองแม่ข่า ที่ชาวชุมชนใช้เป็นทางลัดเชื่อมจากละแวกวัดชมพูไปสู่ถนนราชวงศ์ต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ นี่เป็นครั้งแรกที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ ขอใช้สะพานนี้เป็นอีกหนึ่งเส้นทางชมงาน (ไปพร้อมกับให้ทุกคนมีโอกาสเดินเล่นสำรวจชุมชน) โดยทีม Kor.bor.Vor. Visual Label ก็ยังทำงาน Digital Art สร้างชีวิตชีวาให้พื้นที่รอบสะพาน เปลี่ยนจาก ‘ทางผ่าน’ สู่อีกหนึ่งจุดเช็กอินเก๋ ๆ ที่ต้องไม่พลาดแวะชม
3. ห้องแถวห้าห้อง (Original Five) : Projection Mapping by Kor.Bor.Vor Visual Label
ถัดมาที่ถนนราชวงศ์ เรามีนัดกันที่ ‘ห้องแถวห้าห้อง’ บนถนนราชวงศ์ ซอย 3 เรือนแถวพาณิชย์ 5 คูหา อันเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นยุคใกล้ของย่านการค้าเก่าแก่แห่งนี้ ปัจจุบันห้องแถวห้าห้องอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน เพื่อชุบชีวิตสู่ธุรกิจใหม่ให้สอดรับไปกับการเติบโตของย่าน ซึ่งทีม Kor.bor.Vor. Visual Label เลยได้โอกาสใช้อาคารเหล่านี้เป็นสถานที่บอกเล่าพัฒนาการของย่านช้างม่อยผ่านงานภาพเคลื่อนไหวเสียเลย ว่าแต่เขาจะเล่าเรื่องอะไร และจะน่าสนุกแค่ไหนนั้น ต้องรอติดตามชม
4. ธน-อาคาร (เปิ้นสานฉัน) : Projection Mapping by Decide Kit
ปิดท้ายที่ ธน-อาคาร หนึ่งในสถานที่จัดงานไฮไลต์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้
ธน-อาคารเดิมเคยเป็นที่ตั้งของธนาคารพาณิชย์ชื่อดังของย่าน ที่ซึ่งฟาซาด (facade) หรือผิวหน้าของอาคารมีเส้นสายจำลองรวงข้าว ที่ไม่เพียงบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของธนาคารดังกล่าว แต่ยังเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นของเมืองที่สวยงามยิ่ง ควบคู่ไปกับโชว์เคสสนุกๆ ภายในอาคาร บริเวณด้านหน้าของอาคาร กลุ่มศิลปิน Decide Kit ผู้อยู่เบื้องหลังงานแสง-สี-เสียงเจ๋ง ๆ มากมาย ก็รับหน้าที่ใช้งาน Projection Mapping บอกเล่าเรื่องราวและอัตลักษณ์ของย่านร่วมสมัยแห่งนี้ ซ้อนทับไปกับอัตลักษณ์ของอาคารอย่างเฉียบเท่
และเหล่านี้คือบางส่วนจาก ‘มุมลับ’ ที่มาพร้อมไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ จากกลุ่มศิลปิน โดยไอเดียที่ว่าจะถูกแปลงโฉมออกมาเป็นเรื่องราวอะไร หรืองานจะมีหน้าตาเก๋ไก๋ขนาดไหน เร็ว ๆ นี้เราจะมาเฉลยกัน