Chiang Mai Design Week 2023 | Transforming Local
Transforming Local | ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโตไม่เพียงเป็นหมุดหมายของเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หาก ‘เชียงใหม่’ ในวันนี้ยังเบ่งบาน และกำลังเติบโตอย่างแข็งแกร่งหลังผ่านพ้นวิกฤติการณ์ และก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ท่ามกลางโอกาสใหม่ ๆ ที่ผลิแย้มขึ้นเหนือข้อจำกัดจากพลังของผู้คนที่ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการที่เร่งเครื่องพัฒนาสินค้าและบริการ พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) รวมทั้งบรรดาคนคืนถิ่น (Homecoming) ที่กลับมาพร้อมทักษะประสบการณ์อันเข้มข้น มุมมองที่แตกต่าง พลันลงมือค้นหาความเป็นไปได้หลายหลากจากต้นทุนท้องถิ่น เปี่ยมคุณค่าสอดประสานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อออกแบบชีวิต วิถีทาง บนตัวตนและอัตลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจในขวบปีที่ 9 ของ ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week)’ จึงอยากชวนนักออกแบบ นักคิด นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ศิลปิน เหล่าคนคืนถิ่น หรือผู้ที่สนใจมาร่วมก้าวเดินต่อไปด้วยกัน ภายใต้แนวคิด ‘Transforming Local : ปรับตัว ต่อยอด ท้องถิ่น เติบโต’ พื้นที่สำหรับนำเสนอ แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงทุกแรงบันดาลใจและไอเดียการต่อยอดองค์ความรู้เก่า-ใหม่ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พลิกโฉมเศรษฐกิจท้องถิ่น ตลอดจนเติมเต็มโอกาสการทางแข่งขันด้วยโปรแกรมสร้างเครือข่ายระดับนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ควบคู่ผลักดันศักยภาพท้องถิ่นให้เป็นที่ยอมรับและยืนหยัดได้อย่างสง่างามในเวทีระดับสากล#ChiangMaiDesignWeek2023 #CMDW2023 #TransFormingLocal #ปรับตัวต่อยอดท้องถิ่นเติบโต #Craft #Music #Art #Food #Creativity #CNX #Chiangmai #เชียงใหม่
ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมจัดเทศกาลฯ
ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (CHIANG MAI DESIGN WEEK) 2023ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) 2023 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 10 ธันวาคม 2566 ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการติดต่อกลับจากทีมงานเพื่อประสานงานต่อไปทางเทศกาลฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดี เราเชื่อว่าการร่วมมือกันระหว่างนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และทรัพยากร เป็นหัวใจสำคัญในการปลุกพลัง และเสริมศักยภาพการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ คุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจท้องถิ่นต่อไปในอนาคตสำหรับผู้ผ่านการคัดเลือก POP MARKET 2023สามารถยืนยันสิทธิ์ได้ที่: https://forms.gle/gC4H4Cb7RTB6EpP2Aโดยยืนยันสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้ – 20 สิงหาคม 2566#ChiangMaidesignweek2023 #CMDW2023 #TransformingLocall
From Creative District to Hub of Creativity
From Creative District to Hub of Creativity ‘ย่านสร้างสรรค์ (Creative District)’ ถือเป็นโมเดลยอดฮิตที่ทั่วโลกใช้ปลุกย่านและเมืองซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงระบบนิเวศสร้างสรรค์ในการเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของพื้นที่ และอย่างที่หลายคงพอจะทราบกันมาแล้วบ้างว่า ในประเทศไทยของเราก็มีย่านสร้างสรรค์กับเขาเหมือนกัน โดยเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN) ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีย่านสร้างสรรค์จำนวนมากกว่า 30 พื้นที่ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ย่านกลางเวียง (เขตเมืองเก่าคูเมืองชั้นในด้านทิศเหนือ)’ และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พยายามผลักดัน ค้นหาอัตลักษณ์ ควบคู่เชื่อมร้อยผู้คน ชุมชน ช่างฝีมือ นักออกแบบและผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อลุกขึ้นมาฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์และย่านเศรษฐกิจเก่าให้กลายเป็น ‘พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาค’ สำหรับเป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แก่เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยในภาคเหนือ พร้อมทั้งทดลองเครื่องมือขับเคลื่อนตามบริบทของย่าน ผ่านโปรเจ็กต์ทดลอง (Local City Lab) เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และจุดประกายกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนาย่าน สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงส่งท้ายปลายปี ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week)’ ยังได้เนรมิตพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ให้เป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทุกคนจะได้เข้ามาสัมผัสกับย่านเหล่านี้ในมุมมองที่แตกต่าง ค้นพบศักยภาพในพื้นที่ที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง ท่ามกลางสีสันบรรยากาศรื่นรมย์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากบรรดาผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชาวย่านได้เข้ามีส่วนร่วมลงขันความคิด (Co-Created) ถ่ายทอดสิ่งที่น่าสนใจหรือนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ทลายข้อจํากัดอันท้าทาย (Challenge) มากมาย ตั้งแต่ ย่านกลางเวียง ที่ต้อนรับทุกคนด้วยโปรแกรมเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมสู่วิถีแห่งความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานออกแบบหัตถกรรมร่วมสมัย (Design Showcases) เวิร์คช็อปงานภูมิปัญญาพื้นบ้าน การออกบูธทดสอบตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ (Pop Market) การแสดงดนตรีของศิลปินท้องถิ่นสุดครื้นเครง หรือดนตรีเปิดหมวก (Busking) ที่กระจายตัวบรรเลงเสียงเพลงเพราะ ๆ ไปจนถึงหลากผลงานออกแบบแสงสว่าง (Interactive Lighting) อันตื่นตาตื่นใจให้เดินแชะและแวะชมกันอย่างเพลิดเพลิน ส่วน ย่านช้างม่อย – ท่าแพ จะถูกเติมเต็มความสนุกปลุกพลังสร้างสรรค์ด้วยสารพัดโปรเจ็กต์ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในย่านสร้างสรรค์ นานากิจกรรมพิเศษที่เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ประจำย่านรังสรรค์มาให้จอยกันแค่ปีละครั้ง รวมทั้งโปรแกรม City Farming ไฮไลท์ของปีนี้ที่ชาวย่านรวมพลังกันสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ พลันเชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นสร้างสรรค์อีกหลายหลาก ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ ดนตรี และศิลปะ ให้ทุกคนได้ร่วมกันมองหาโอกาสใหม่ (New Opportunities) ในการพัฒนาระบบนิเวศน์สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม
Business Program : Several Ways of Growing Your Business
Business Program : Several Ways of Growing Your Businessหากคุณคือผู้ประกอบการที่กำลังมองหาโอกาสเพิ่มช่องทางการขาย ขยายกลุ่มลูกค้า ค้นหาตลาดใหม่ รวมถึงมั่นใจในศักยภาพและมีความพร้อมผลิตงานสู่ลูกค้า ไม่ว่าจะรายใหญ่แบบจำนวนมาก (Mass Production) หรือรายย่อยแบบตามคำสั่งซื้อ (Made To Order) นี่คืออีกหนึ่งโปรแกรมสุดพิเศษในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ที่เราไม่อยากให้คุณพลาด เพราะ ‘Business Program’ คือโปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อต่อยอดศักยภาพและความเชี่ยวชาญของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ด้วยการเชื่อมโยงผู้ซื้อกับผู้ผลิตให้ได้มาพบปะเจรจาธุรกิจ เปลี่ยนความต้องการเป็นรายได้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ตลอดจนเปิดโอกาสแลกเปลี่ยนไอเดียระหว่างสองขั้วอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่การพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ ๆ ร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหลักอย่าง ‘การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching)’ เครื่องมือยอดฮิตติดปีกกิจการให้พร้อมสำหรับบุกเบิกตลาดต่างประเทศ ซึ่งในปีนี้ทางเทศกาลมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ 3 กลุ่ม ดังนี้ หัตถกรรม (Craft)ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่าอุดมไปด้วยอารยธรรมอันโดดเด่นทั้งด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และศิลปหัตถกรรม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจุดแข็งที่สามารถนำมารังสรรค์สินค้าและบริการ สร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Lanna)’ โดยเฉพาะเชียงใหม่ เมืองที่ถูกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งมีงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านกว่า 9 สาขา อีกทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นสมาชิกเมืองหัตถศิลป์โลก (World Craft City) จากสภาหัตถศิลป์โลก (World Craft Council) เพื่อผลักดันศักยภาพดังกล่าวให้เติบโตอย่างยั่งยืน เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการหัตถกรรมสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือได้ออกมานำเสนอมรดกทางภูมิปัญญาแห่งความภูมิใจ เก็บเกี่ยวอินไซต์จากผู้ใช้งานจริงสำหรับเป็นวัตถุดิบพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ รวมถึงเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากแบรนด์ชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ลาว สกอตแลนด์ และรัสเซียดนตรี (Music)จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายเพลงท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ได้รับรู้ถึงศักยภาพของคนดนตรีที่ถูกมองข้าม เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่จึงสนับสนุนเวทีแสดงความสามารถชวนเหล่าศิลปินอิสระและนักดนตรีอาชีพไม่จำกัดแนวทางที่มีผลงานเพลงของตัวเองมาโชว์ฝีมือลายมือ ท่ามกลางบรรดาผู้ฟังและโปรโมเตอร์ค่ายเพลงระดับหัวแถวของเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเมียนมาร์ รวมทั้งผู้จัดเทศกาลดนตรี อย่าง Big Mountain หรือ Monster Music Festival ซึ่งจะมาร่วมเปิดโสตประสาทรับความหลากหลายของซาวด์ดนตรีสดใหม่ พร้อมคัดเลือกวงที่โดนใจไปทัวร์กันต่อทั่วไทยยันชิมลางบนเวทีคอนเสิร์ตต่างแดนศิลปะ (Art)ก้าวสู่ปีที่สองแล้วที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่จับมือกับ Mango Art Fest เทศกาลสร้างสรรค์พื้นที่และรวบรวมข้อมูลผลงานสำหรับการเจรจาติดต่อระหว่างศิลปิน แกลเลอรี่ องค์กรทางศิลปะ แบรนด์สินค้า เรื่อยไปจนธุรกิจที่พักและโรงแรมในเครือชั้นนำระดับโลก เช่นเคยในปีนี้คิวเรเตอร์มากประสบการณ์ของเรายังคงเฟ้นหาผลงานศิลปะและงานออกแบบกึ่งศิลปะที่มีเอกลักษณ์ น่าจับตามอง ไปร่วมจัดแสดงภายในงานเพื่อส่งเสริมวงการศิลปะเชียงใหม่และผลักดันผลงานของเหล่าศิลปินท้องถิ่นรวมถึงศิลปินหน้าใหม่ให้ออกไปสู่สายตาผู้สนใจในวงกว้างมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังมี Studio Visit กิจกรรมที่พาจะกลุ่มผู้ซื้อคุณภาพสูงไปเยี่ยมชมแหล่งผลิตหัตถอุตสาหกรรมและสตูดิโอศิลปะ ศึกษาวิธีคิด กระบวนสร้างสรรค์งาน พร้อมพุดคุยทำความรู้จักกับผู้ประกอบการและเจรจาธุรกิจในบรรยากาศสุดเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึง Networking Party กิจกรรมเฉลิมฉลอง เลี้ยงตอนรับและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ร่วมจัดแสดงงานในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองความคิด จุดประกายไอเดียใหม่ ๆ สำหรับนำมาปรับใช้ในการทำงาน รวมทั้งสร้างโอกาสพบปะเพื่อนทางธุรกิจที่สามารถให้ความช่วยเหลือและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตร่วมกันต่อไปในอนาคต
Creative Food for Sustainability
Creative Food for Sustainability เพราะอาหารเป็นมากกว่าแค่เรื่องของการกิน แต่ยังผูกพันกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงเชื่อมโยงโอกาสสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขา เรื่องราวของอาหารจึงเป็นอีกเนื้อหาน่าสนใจที่เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ตั้งใจนำมาเสิร์ฟให้ทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่สนุกสนาน แปลกใหม่ และเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารเหนืออย่างถึงแก่น ผ่านการเจาะลึกวัตถุดิบพื้นถิ่น ลิ้มลองรสชาติ เรียนรู้วิธีการรับประทานและปรุงอาหารให้ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพและได้ประโยชน์สูงสุด ตลอดจนแบ่งปันไอเดียการนำไปรังสรรค์เป็นสารพัดเมนูอร่อยน่ารับประทาน เพื่อจุดประกายแนวทางสร้างสรรค์ในการยกระดับวัตถุดิบพื้นบ้านอย่างมีคุณค่า ควบคู่สนับสนุนการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยปีนี้เทศกาลได้ร่วมกับ Slow Food Thailand นำเสนอโปรแกรม ‘Sweet and Sour’ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัตถุดิบมากคุณประโยชน์จากธรรมชาติ อย่าง ‘น้ำผึ้งป่า’ ที่ให้รสหอมหวานเป็นเอกลักษณ์จากดอกไม้นานาพรรณในพงไพร ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร เพื่อสืบสานและต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่และอุตสาหกรรมอาหารเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งถ่ายทอดผ่านกิจกรรมการเสวนาและเวิร์กช็อปที่จะไขทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับน้ำผึ้งป่า ยกตัวอย่างเช่น ทำไมต้องน้ำผึ้งเดือนห้า วิธีการทานน้ำผึ้งอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ เคล็ดลับการชูเสน่ห์เมนูอาหารด้วยน้ำผึ้ง หรือสำรวจการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคน ผึ้ง และผืนป่า ไม่เพียงเท่านั้น เทศกาลยังจับมือกับ ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปะวิทยาการอาหารนานาชาติ (International Gastronomy Tourism Centre – iGTC) เพื่อนำเสนอการถอดรหัสรากวัฒนธรรมอาหารด้วยหลักการวิทยาศาสตร์ ส่องคุณค่าทางโภชนาการอาหาร และการพัฒนาวิธีปรุงวัตถุดิบพื้นถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมผลักดันสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหารเเละเครื่องดื่ม รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมูลค่าสูง นอกจากนี้ ยังมีอีกหลากโปรแกรมเกี่ยวกับอาหารที่จะพาไปอัพเดทเทรนด์อาหารน่าจับตามอง ค้นหาโอกาสใหม่ของผู้ประกอบธุรกิจอาหาร และเพลิดเพลินกับการตามไปเปิดประสบการณ์การกินแบบลึกซึ้งถึงถิ่นกับนานาร้านลับในย่านสร้างสรรค์เชียงใหม่
ศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ
ศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นภาคเหนือ ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขาและแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ ภาคเหนือจึงมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาคเกษตรกรรม ทั้งหมดหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผลิภูมิปัญญาและรากฐานวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน กระทั่งเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งหมุนเวียนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร (Food) งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) การออกแบบ (Design) ศิลปะ (Art) และดนตรี (Music) ที่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็น ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries)’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ ของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนช่วยพลิกฟื้นเมืองน่าอยู่ที่มีชีวิตชีวา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่สู่วิถีแห่งความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาหาร (Food) หนึ่งในจุดแข็งของภาคเหนือคือการเป็นแหล่งอาหารอันมั่งคั่ง หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประเทศ ขณะเดียวกันท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่และมีหลากหลาย วัฒนธรรมอาหารการกินและวัตถุดิบของภาคเหนือยังมีจุดร่วมกับวัฒนธรรมอาหารนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวดอยกับข้าวญี่ปุ่น ชาและกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มสากล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการขยับขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตด้วยรากฐานวัฒนธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเหนือยังมีผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์มากมายที่หยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ออกแบบเมนูอาหารร่วมสมัยหลากสไตล์ รวมถึงความพยายามเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินอย่างรู้ที่มา คุณค่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างการเกิดขึ้นของเครือข่าย Slow Food Thailand เกษตรกรรุ่นใหม่ที่จริงจังกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือแม้แต่การทำเกษตรอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับมาตรฐานการผลิตควบคู่กับรักษาความหลากหลายทางพันธุ์พืชพื้นถิ่น เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ จุดประกายการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Local sustainable Living) พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูงงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) นอกจากสะท้อนถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องของอาหารยังเป็นมีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) ที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำมาหากินและใช้ชีวิต โดยงานฝีมือและหัตถกรรมในภาคเหนือนั้นโดดเด่นในแง่ของทักษะอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานสิ่งทอ งานเครื่องเงิน งานเครื่องจักสาน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องเขิน งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ กอปรกับเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตงานฝีมือและหัตถกรรมครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงโรงงานหัตถอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเหล่านักสร้างสรรค์ที่นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือและแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ การออกแบบ (Design) กระบวนการออกแบบ คือเครื่องมือหนึ่งที่มักถูกนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์งานฝีมือและหัตถกรรมให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เหตุนี้เองการออกแบบ (Design) จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือที่มีความสำคัญและความเข้มแข็งจากการเกิดขึ้นของแบรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ หรือแม้แต่ธุรกิจดั้งเดิมมากมายที่ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจหันมาเชื่อมร้อยต้นทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เป็นมากกว่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน หากยังเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนออัตลักษณ์ที่มีคุณค่าและมนตร์เสน่ห์ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในฐานะของฝากประทับใจ ของประดับตกแต่งโรงแรมที่มีสไตล์ หรือของใช้สร้างสุนทรียภาพบนโต๊ะอาหาร รวมถึงช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของจังหวัดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ศิลปะ (Art) ทำไม ศิลปะ (Art) จึงถือเป็นอุตสาหกรรมเด่นของภาคเหนือ คำตอบของเรื่องนี้พิจารณากันไม่ยาก เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ให้กำเนิดศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและนานาชาติ เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถวัลย์ ดัชนี อินสนธิ์ วงค์สาม ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มิตร ใจอินทร์ ฯลฯ ตลอดจนเป็นแหล่งพำนักของบรรดาศิลปินอาชีพที่เลือกย้ายมาอยู่อาศัยเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักศึกษาศิลปะหลากหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพื้นที่ของเมือง หอศิลปวัฒนธรรมและแกลลอรี่ต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการจัดแสดงผลงานศิลปะ ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่ และมีคอมมูนิตี้ของศิลปินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยน่าจับตามองมากมายดนตรี (Music) เสียงดนตรีจากภาคเหนือไม่เคยห่างหายไปจากท่วงทำนองของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ในช่วงหลายปีมานี้มีศิลปินจากดินแดนล้านนาแจ้งเกิดในวงการมากมายจากการร้องคัฟเวอร์และทำเพลงของตัวเอง จนสามารถขยับเข้าสู่ค่ายเพลงแถวหน้าของประเทศและร่วมเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติ แล้วถ้าหากพูดถึงฐานทัพนักดนตรีที่สร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจแก่อุตสาหกรรมดนตรี (Music) ภาคเหนือ ก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่นี่มีจำนวนนักดนตรีและคอมมูนิตี้ที่ตื่นตัวกับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมดนตรีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่ม Chiangmai Original ที่พยายามผลักดันศิลปินเชียงใหม่ให้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน Minimal Records ค่ายเพลงอินดี้ที่สนับสนุนศิลปินท้องถิ่นและผลิตศิลปินออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือ กลุ่ม World Music และ Jazz Bar ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมดนตรีกลิ่นอายร่วมสมัย มีเอกลักษณ์และความเป็นสากล จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงเติมเต็มสีสันบรรยากาศเมืองให้มีชีวิตชีวา ทว่ายังเป็นพลังดึงดูดการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมผสานผู้คนต่างวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งความรื่นรมย์
Craft and Design Created Your Inspiration
Craft and Design Created Your Inspiration งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) และการออกแบบ (Design) คือโปรแกรมไฮไลท์ของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) ที่นำเสนอให้เห็นทิศทางและโอกาสใหม่ในการพัฒนาทักษะงานฝีมือและหัตถกรรม รวมถึงการออกแบบให้สอดคล้องไปกับการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิถีชีวิต ทั้งยังชวนขบคิดถึงแนวทางการต่อยอดต้นทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคเหนือให้เกิดคุณค่าใหม่และเพิ่มมูลค่า ด้วยการตั้งโจทย์อันท้าทาย ค้นหาความเป็นไปได้ไม่จำกัด โดยในปีนี้เทศกาลทำงานร่วมกับกลุ่มนักสร้างสรรค์คืนถิ่น (Homecoming) และช่างฝีมือแขนงต่าง ๆ ในภูมิภาค เพื่อยกระดับงานหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ออกแบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมร่วมสมัยทั้งในแง่ความงาม ฟังก์ชั่นและการใช้งานจริง ควบคู่ส่งเสริมให้เกิดการสืบสานงานหัตถกรรมพื้นถิ่น ส่งเสริมการออกแบบจากรุ่นสู่รุ่นให้ยังทรงคุณค่า และสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดบอกเล่าผ่าน 2 นิทรรศการหลัก อย่าง Persona of things และ Minggei Exhibition Persona of things นิทรรศการที่จะนำเสนอวิธีการใช้ทักษะฝีมือจากงานหัตถกรรมมาซ่อมแซมสิ่งต่าง ๆ โดยคำนึงถึงคุณค่าดั้งเดิมของสิ่งเหล่านั้น เพื่อให้มันไม่เพียงสามารถนำกลับใช้งานได้อีกครั้ง หากยังเป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ โดยการ ‘การซ่อมแซม’ จัดเป็นหมวดหมู่พื้นฐานของงานฝีมือ ซึ่งช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำเสนอวิธีการที่สร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อลดสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกนิยามว่าเป็นขยะ ของมือสอง หรือข้าวของแตกหักชำรุดที่มีลักษณะเฉพาะความเสียหาย เช่น รอยบุบ รอยขีดข่วน การกัดกร่อน ฯลฯ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน ซึ่งแสดงให้เห็นการเดินทางและอดีตของวัตถุ บอกเล่าเรื่องราวและการดูแลรักษาของเจ้าของคนก่อน เครื่องหมายที่เหลือจากตราประทับการผลิตบอกเกี่ยวกับที่มาของเครื่องมือ รวมถึงส่วนประกอบของวัสดุที่สามารถกลับมาใช้งานให้เกิดคุณค่าใหม่Minggei Exhibition นิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบร่วมสมัย โดยนักออกแบบมีแนวคิดหยิบเอาเทคนิคงานหัตถกรรมของภาคเหนือ เช่น เครื่องเขิน งานจักสาน งานแกะสลักไม้ มาต่อยอดสิ่งของเครื่องใช้ในวัฒนธรรมดั้งเดิมและตกยุคให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ โดยยังคงเทคนิคดั้งเดิมไว้เพื่อรักษาความเป็นเอกลักษณ์และสืบทอดทักษะภูมิปัญญาโบราณของช่างฝีมือท้องถิ่น ซึ่งสามารถใช้งานได้จริงและตอบความต้องการของกลุ่มผู้ใช้ในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้เทศกาลยังทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมและสนับสนุนช่างฝีมือ นักออกแบบและนักสร้างสรรค์ให้ก้าวเข้ามาสู่ระบบนิเวศ ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์’ ที่จะสร้างโอกาสต่อยอดทางธุรกิจ เปิดพื้นที่สําหรับงานออกแบบสร้างสรรค์ระดับนานาชาติ พร้อมให้ผู้ร่วมเทศกาลได้สัมผัสกับประสบการณ์งานฝีมือและหัตถกรรม และการออกแบบ ที่ช่วยจุดประกายมุมมองใหม่ ๆ เติมเต็มแรงบันดาลใจและพลังความคิดสร้างสรรค์ให้กับตัวเอง
Support Local Music Scene
Support Local Music Scene เมื่อดนตรีไม่มีกำแพงด้านภาษา ช่วยเติมเต็มชีวิตชีวาและเป็นพลังงานความสุขที่สามารถเชื่อมผสานผู้คน เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) จึงไม่พลาดเนรมิตช่วงเวลาแสนพิเศษของเมืองและทุกคนให้อวบอวลไปด้วยความครึกครื้น รื่นรมย์ จากเสียงดนตรีหลากหลายสไตล์ของเหล่าศิลปินท้องถิ่นและศิลปินต่างชาติที่มาร่วมแจมและเปิดประสบการณ์การฟังเพลงในบรรยากาศที่แตกต่าง ตั้งแต่ริมถนน โกดังร้าง ซอกซอยเล็กในย่านสร้างสรรค์ ยันลานหน้าวัด ผ่านสารพัดโปรแกรมดนตรีสุดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น Busking หรือ การแสดงดนตรีเปิดหมวกขับกล่อมย่านสร้างสรรค์และท้องถนนให้น่าเดิน พร้อมกระตุ้นสร้างวัฒนธรรมดนตรีเปิดหมวกอันเป็นวัฒนธรรมร่วมของหลายชาติให้เป็นที่ยอมรับและสร้างอาชีพอันมั่นคงได้จริงให้แก่นักดนตรีเปิดหมวกท้องถิ่น การแสดงดนตรีของกลุ่มศิลปิน World Music ที่บรรเลงโดยใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองผสมผสานเครื่องดนตรีสมัยใหม่ การเปิดเวทีโชว์เคสสนับสนุนพื้นที่แสดงตัวตนของกลุ่มศิลปินเชียงใหม่ที่สร้างสรรค์ผลงานเพลงออริจินอลของตัวเองในนาม Chiangmai Original รวมถึงศิลปินในสังกัด Summer Disc และ Minimal Records ค่ายเพลงเล็ก ๆ ลายเซ็นชัดเจนที่ผลิตศิลปินคุณภาพออกมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกิจกรรมรูปแบบ Live Concert ให้แฟนเพลงได้ร่วมสนุกและใกล้ชิดกับศิลปินที่ชื่นชอบ ตลอดจน LABBfest. โปรแกรมดนตรีเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งเปิดโอกาสให้เหล่าศิลปินในเชียงใหม่และภาคเหนือตอนบนที่มีผลงานเพลงของตัวเองได้มานำเสนอผลงาน ท่ามกลางบรรดาผู้ฟัง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดนตรี ผู้จัดเทศกาลดนตรีและโปรโมเตอร์ค่ายเพลงระดับหัวแถวของวงการที่ตั้งใจมาเสพความสดใหม่พร้อมคัดเลือกวงที่โดนใจไปทัวร์เทศกาลดนตรีชื่อดังทั่วไทยและต่างประเทศ หรือว่าจะเป็นโปรแกรมเอาใจคนรักดนตรีแจ๊สกับนานากิจกรรมเฉพาะกิจปลุกสีสันตื่นตาตื่นใจของบาร์ดนตรีแจ๊สทั่วเมืองเชียงใหม่ อาทิ North Gate Jazz Club, Moment’s Notice Jazz Club, The Mellowship, Thapae East และ Mahoree City if Music พร้อมชมการวาดลวดลายของศิลปินแจ๊สฝีมือหาตัวจับยากมากมายบนเวที Street Jazz Festival นอกจากนี้ยังมีเวทีดนตรีประจําตลาดหัตถกรรมสร้างสรรค์ (Pop Market) ให้ช็อปและชิลล์ไปกับบทเพลงจากศิลปินท้องถิ่นที่น่าติดตาม