From Creative District to Hub of Creativity
เผยแพร่เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
From Creative District to Hub of Creativity
‘ย่านสร้างสรรค์ (Creative District)’ ถือเป็นโมเดลยอดฮิตที่ทั่วโลกใช้ปลุกย่านและเมืองซบเซาให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งด้วยการใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงระบบนิเวศสร้างสรรค์ในการเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของพื้นที่
และอย่างที่หลายคงพอจะทราบกันมาแล้วบ้างว่า ในประเทศไทยของเราก็มีย่านสร้างสรรค์กับเขาเหมือนกัน โดยเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network : TCDN) ระบุว่า ปัจจุบันไทยมีย่านสร้างสรรค์จำนวนมากกว่า 30 พื้นที่ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘ย่านกลางเวียง (เขตเมืองเก่าคูเมืองชั้นในด้านทิศเหนือ)’ และ ‘ย่านช้างม่อย – ท่าแพ’ จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทางสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พยายามผลักดัน ค้นหาอัตลักษณ์ ควบคู่เชื่อมร้อยผู้คน ชุมชน ช่างฝีมือ นักออกแบบและผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อลุกขึ้นมาฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์และย่านเศรษฐกิจเก่าให้กลายเป็น ‘พื้นที่ย่านสร้างสรรค์ต้นแบบแห่งแรกในภูมิภาค’ สำหรับเป็นกรณีศึกษาแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์แก่เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยในภาคเหนือ พร้อมทั้งทดลองเครื่องมือขับเคลื่อนตามบริบทของย่าน ผ่านโปรเจ็กต์ทดลอง (Local City Lab) เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และจุดประกายกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ที่สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนาย่าน สินค้าและบริการให้ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงส่งท้ายปลายปี ‘เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week)’ ยังได้เนรมิตพื้นที่ย่านสร้างสรรค์ให้เป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่ทุกคนจะได้เข้ามาสัมผัสกับย่านเหล่านี้ในมุมมองที่แตกต่าง ค้นพบศักยภาพในพื้นที่ที่คุณอาจจะคาดไม่ถึง ท่ามกลางสีสันบรรยากาศรื่นรมย์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซึมซับแรงบันดาลใจจากบรรดาผู้คนในแวดวงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรมซึ่งเปิดพื้นที่ให้ชาวย่านได้เข้ามีส่วนร่วมลงขันความคิด (Co-Created) ถ่ายทอดสิ่งที่น่าสนใจหรือนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ทลายข้อจํากัดอันท้าทาย (Challenge) มากมาย
ตั้งแต่ ย่านกลางเวียง ที่ต้อนรับทุกคนด้วยโปรแกรมเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมสู่วิถีแห่งความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานออกแบบหัตถกรรมร่วมสมัย (Design Showcases) เวิร์คช็อปงานภูมิปัญญาพื้นบ้าน การออกบูธทดสอบตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ (Pop Market) การแสดงดนตรีของศิลปินท้องถิ่นสุดครื้นเครง หรือดนตรีเปิดหมวก (Busking) ที่กระจายตัวบรรเลงเสียงเพลงเพราะ ๆ ไปจนถึงหลากผลงานออกแบบแสงสว่าง (Interactive Lighting) อันตื่นตาตื่นใจให้เดินแชะและแวะชมกันอย่างเพลิดเพลิน
ส่วน ย่านช้างม่อย – ท่าแพ จะถูกเติมเต็มความสนุกปลุกพลังสร้างสรรค์ด้วยสารพัดโปรเจ็กต์ทดลองความเป็นไปได้ใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในย่านสร้างสรรค์ นานากิจกรรมพิเศษที่เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจดั้งเดิม ธุรกิจสร้างสรรค์และนักสร้างสรรค์ประจำย่านรังสรรค์มาให้จอยกันแค่ปีละครั้ง รวมทั้งโปรแกรม City Farming ไฮไลท์ของปีนี้ที่ชาวย่านรวมพลังกันสร้างพื้นที่สีเขียวกินได้ พลันเชื่อมโยงผลผลิตสู่ครัวเรือนเพื่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ พัฒนาแหล่งอาหารปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมท้องถิ่นสร้างสรรค์อีกหลายหลาก ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร งานหัตถกรรม งานออกแบบ ดนตรี และศิลปะ ให้ทุกคนได้ร่วมกันมองหาโอกาสใหม่ (New Opportunities) ในการพัฒนาระบบนิเวศน์สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นกว่าเดิม