The Potential of Local industries
เผยแพร่เมื่อ 7 months ago
ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีภูเขาและแหล่งต้นน้ำสำคัญของประเทศ ภาคเหนือจึงมีความโดดเด่นในด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของภาคเกษตรกรรม ทั้งหมดหล่อเลี้ยงและหล่อหลอมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ผลิภูมิปัญญาและรากฐานวัฒนธรรมที่สืบทอดมาช้านาน กระทั่งเสริมสร้างภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งหมุนเวียนเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร (Food) งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) การออกแบบ (Design) ศิลปะ (Art) และดนตรี (Music) ที่ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่มีศักยภาพพัฒนาเป็น ‘อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries)’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)’ ของประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ตลอดจนช่วยพลิกฟื้นเมืองน่าอยู่ที่มีชีวิตชีวา และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่สู่วิถีแห่งความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาหาร (Food)
หนึ่งในจุดแข็งของภาคเหนือคือการเป็นแหล่งอาหารอันมั่งคั่ง หลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปด้านการเกษตรที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและประเทศ ขณะเดียวกันท่ามกลางสังคมเกษตรกรรมขนาดใหญ่และมีหลากหลาย วัฒนธรรมอาหารการกินและวัตถุดิบของภาคเหนือยังมีจุดร่วมกับวัฒนธรรมอาหารนานาชาติ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวดอยกับข้าวญี่ปุ่น ชาและกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มสากล สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการขยับขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตด้วยรากฐานวัฒนธรรม
Photo Credit: Chiang Mai Design Week
ไม่เพียงเท่านั้น ภาคเหนือยังมีผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์มากมายที่หยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่า ออกแบบเมนูอาหารร่วมสมัยหลากสไตล์ รวมถึงความพยายามเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมการกินอย่างรู้ที่มา คุณค่าและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างการเกิดขึ้นของเครือข่าย Slow Food Thailand เกษตรกรรุ่นใหม่ที่จริงจังกับการทำเกษตรกรรมยั่งยืน หรือแม้แต่การทำเกษตรอัจฉริยะที่นำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับมาตรฐานการผลิตควบคู่กับรักษาความหลากหลายทางพันธุ์พืชพื้นถิ่น เพื่อให้คนในพื้นที่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ จุดประกายการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Local sustainable Living) พร้อมทั้งพัฒนาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง
งานฝีมือและหัตถกรรม (Craft)
นอกจากสะท้อนถึงวิถีชีวิต อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรื่องของอาหารยังเป็นมีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรม (Craft) ที่รังสรรค์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำมาหากินและใช้ชีวิต โดยงานฝีมือและหัตถกรรมในภาคเหนือนั้นโดดเด่นในแง่ของทักษะอันหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นงานสิ่งทอ งานเครื่องเงิน งานเครื่องจักสาน งานเครื่องโลหะ งานเครื่องเขิน งานกระดาษ งานเครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ กอปรกับเป็นภูมิภาคที่มีผู้ผลิตงานฝีมือและหัตถกรรมครอบคลุมตั้งแต่ระดับผู้ประกอบการชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปจนถึงโรงงานหัตถอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเหล่านักสร้างสรรค์ที่นำมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนา โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุโขทัย ที่ถูกประกาศเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการผลิตช่างฝีมือและแหล่งจ้างงานหลักของอุตสาหกรรมงานฝีมือและหัตถกรรมที่สำคัญของภาคเหนือ
Photo Credit: Chiang Mai Design Week
การออกแบบ (Design)
กระบวนการออกแบบ คือเครื่องมือหนึ่งที่มักถูกนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์งานฝีมือและหัตถกรรมให้ตอบโจทย์วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เหตุนี้เองการออกแบบ (Design) จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือที่มีความสำคัญและความเข้มแข็งจากการเกิดขึ้นของแบรนด์ธุรกิจใหม่ ๆ หรือแม้แต่ธุรกิจดั้งเดิมมากมายที่ทายาทคนรุ่นใหม่สนใจหันมาเชื่อมร้อยต้นทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาที่สืบทอดมาอย่างยาวนานสู่ผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วยดีไซน์และฟังก์ชั่นที่เป็นมากกว่าข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน หากยังเป็นผลิตภัณฑ์นำเสนออัตลักษณ์ที่มีคุณค่าและมนตร์เสน่ห์ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งในฐานะของฝากประทับใจ ของประดับตกแต่งโรงแรมที่มีสไตล์ หรือของใช้สร้างสุนทรียภาพบนโต๊ะอาหาร รวมถึงช่วยขับเคลื่อนภาคการส่งออกของจังหวัดให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
ศิลปะ (Art)
ทำไม ศิลปะ (Art) จึงถือเป็นอุตสาหกรรมเด่นของภาคเหนือ คำตอบของเรื่องนี้พิจารณากันไม่ยาก เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภาคเหนือเป็นภูมิภาคที่ให้กำเนิดศิลปินที่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศและนานาชาติ เช่น เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ถวัลย์ ดัชนี อินสนธิ์ วงค์สาม ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล มิตร ใจอินทร์ ฯลฯ ตลอดจนเป็นแหล่งพำนักของบรรดาศิลปินอาชีพที่เลือกย้ายมาอยู่อาศัยเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนี้ยังมีสถาบันการศึกษาซึ่งทำหน้าที่ผลิตนักศึกษาศิลปะหลากหลายสาขาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีพื้นที่ของเมือง หอศิลปวัฒนธรรมและแกลลอรี่ต่าง ๆ ที่พร้อมรองรับการจัดแสดงผลงานศิลปะ ส่งเสริมและสนับสนุนศิลปินตั้งแต่ระดับนานาชาติไปจนถึงศิลปินหน้าใหม่ และมีคอมมูนิตี้ของศิลปินรุ่นใหม่ที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยน่าจับตามองมากมาย
Photo Credit: Chiang Mai Design Week
ดนตรี (Music)
เสียงดนตรีจากภาคเหนือไม่เคยห่างหายไปจากท่วงทำนองของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทย ในช่วงหลายปีมานี้มีศิลปินจากดินแดนล้านนาแจ้งเกิดในวงการมากมายจากการร้องคัฟเวอร์และทำเพลงของตัวเอง จนสามารถขยับเข้าสู่ค่ายเพลงแถวหน้าของประเทศและร่วมเทศกาลดนตรียักษ์ใหญ่ระดับนานาชาติ
แล้วถ้าหากพูดถึงฐานทัพนักดนตรีที่สร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจแก่อุตสาหกรรมดนตรี (Music) ภาคเหนือ ก็คงหนีไม่พ้นจังหวัดเชียงใหม่ เพราะที่นี่มีจำนวนนักดนตรีและคอมมูนิตี้ที่ตื่นตัวกับการขับเคลื่อนวัฒนธรรมดนตรีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ กลุ่ม Chiangmai Original ที่พยายามผลักดันศิลปินเชียงใหม่ให้ลงมือสร้างสรรค์ผลงานเพลงของตัวเองเพื่อสร้างมูลค่าในเชิงธุรกิจอย่างยั่งยืน Minimal Records ค่ายเพลงอินดี้ที่สนับสนุนศิลปินท้องถิ่นและผลิตศิลปินออกมาอย่างต่อเนื่อง หรือ กลุ่ม World Music และ Jazz Bar ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วเมืองเพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมดนตรีกลิ่นอายร่วมสมัย มีเอกลักษณ์และความเป็นสากล จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เพียงเติมเต็มสีสันบรรยากาศเมืองให้มีชีวิตชีวา ทว่ายังเป็นพลังดึงดูดการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อมผสานผู้คนต่างวัฒนธรรมด้วยพลังแห่งความรื่นรมย์
Photo Credit: Chiang Mai Design Week
อย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!