Wit Pimkanchanapong
เขาวงกตวัดเจ็ดลิน
เขาวงกตวัดเจ็ดลิน เป็นหลักฐานถึงความเกี่ยวข้องในเชิงวัฒนธรรมของประเพณี เขาวงกตในความเชื่อและคติทางพุทธศาสนาจากชาดกเรื่องพระเวสสันดร ที่มีพบเห็นได้ในวัฒนธรรมกะเหรี่ยง (เวียกะโปว์), ไทใหญ่(หมั่งกะป่า), ลานนา(ตั้งธรรมหลวง), และ ลาว(บุญพะเหวด) นัยว่าให้คนมาร่วมงานเทศน์ได้เดินเข้าเขาวงกตไปพร้อมๆกับกันเทศน์ ซึ่งเป็นประเพณีที่ค่อยๆเสื่อมความนิยมไปตามกาลเวลา
ขยายมิติด้านการรับรู้โครงสร้างที่สลับซับซ้อนของเขาวงกตประเพณี (งานตั้งธรรมหลวง/เทศน์มหาชาติ) จากเดิมที่สัมผัสได้ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเดินเข้าไปหลง ลองผิดลองถูก มาเป็นมองเห็นมิติที่สลับซับซ้อนที่ซ่อนอยู่ได้จากภายนอก โดยไม่เฉลยเส้นทาง ด้วยการขยายความสูงของโครงสร้างภายในให้เหลื่อมกันเป็นชั้นๆ
เขาวงกตวัดเจ็ดลิน โครงสร้างทำจากไม้ไผ่ มีความสลับซับซ้อนโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ให้ผู้คนได้เดินเข้าไปค้นหา ผนังทำจากผ้าห่มพระธาตุดอยสุเทพที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ประดับตกแต่งตุง จากความร่วมใจของผู้คน ทำให้สัมผัสถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมในความเป็นชุมชนที่เหนียวแน่น มีกิจกรรมร่วมกับวัดและงานประเพณี ถึงแม้กลางเวียงเชียงใหม่ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแบบเห็นชาวต่างชาติเดินไปมาขวักไขว่เยอะกว่าคนเมืองก็ตาม แต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมเดิมก็ยังดำเนินคู่ขนานกันไป
"เขาวงกตทำให้เราหลงทาง แต่ความซับซ้อนโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ก็ทำให้เราหลงไหลได้เช่นกัน"
นักออกแบบ
- วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์