เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

ทำตลาดชั่วคราวอย่างไรให้ยั่งยืน สำรวจแนวคิดธุรกิจหมุนเวียนใน POP MARKET

เผยแพร่เมื่อ 9 วันที่แล้ว

ไม่เพียงแค่นิทรรศการ เวิร์กช็อป และกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่นำเสนอแนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งเป็นธีมหลักในปีนี้ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ยังปรากฏในกิจกรรมออกร้านอย่าง POP Market ตลาดสุดชิคจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือ


ในขณะที่ POP Market คือตลาดนัดที่จัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตลาดชั่วคราวนี้สอดรับไปกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงสินค้าที่จำหน่าย แต่ยังรวมถึงวัสดุตั้งร้าน การประหยัดพลังงาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะ รวมถึงส่งต่อแนวคิดดังกล่าวสู่ผู้มาร่วมงานอย่างแท้จริง


ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับกลุ่มสมดุล เชียงใหม่ (Somdul Chiang Mai) จัดเวิร์กช็อป POP Market’s Vendor’s Training Program ชวนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกออกร้านใน Pop Market ปีนี้ กว่า 130 ราย (ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ แฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม) มาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กับ กมลนาถ องค์วรรณดี จาก นักออกแบบ วิทยากร และที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืนจาก CIRCO Circular Design Trainer และสิทธิชาติ สุขผลธรรม ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก CREAGY เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนตลาด POP Market ด้วยมิติของความยั่งยืนอย่างแท้จริง


โปรแกรมแบ่งออกเป็น 2 วัน ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจในธุรกิจหมุนเวียนเชิงลึก โดยมีกมลนาถมาบรรยายในหัวข้อ ‘ความสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจสร้างสรรค์ และการสื่อสารคุณค่าด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค’ และส่วนที่ 2 ‘การบัญชีคาร์บอน / การคำนวณ Carbon Footprint เบื้องต้น’ ที่สิทธิชาติชวนผู้ร่วมงานเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีคาร์บอนเบื้องต้น และทดลองให้ผู้ร่วมงานคำนวนบัญชีคาร์บอนจากธุรกิจของตัวเอง

 

กมลนาถเริ่มต้นบรรยายถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่มีทางจะหายไปง่าย ๆ แต่มันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความโดดเด่นและน่าดึงดูด รวมถึงสามารถรับมือกับการแข่งขันด้านราคากับสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในบ้านเราอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน


“ปัจจุบันการนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าผ่าน storytelling เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้สินค้าเราแตกต่างจากท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่มาของวัสดุ ความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงกระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการหลังจากสินค้าถูกใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างคุณค่าแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเราได้” กมลนาถ กล่าว

 

ขณะที่สิทธิชาติเล่าถึงความสำคัญของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หากความเข้าใจในเรื่องนี้ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถประหยัดต้นทุนการผลิต และมองเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์อย่างรอบด้าน


“การคำนวณคาร์บอน คือการคำนวณพลังงานที่เราใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งอย่าลืมว่า พลังงานคือต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า หรือค่าแก๊สหุงต้ม ถ้าเรารู้ว่าเราใช้พลังงานไปมากน้อยอย่างไร คุณก็สามารถควบคุมต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ คือไม่ถึงกับต้องเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มันประหยัดพลังทั้งหมดก็ได้ แค่พิจารณาว่าในแต่ส่วนของธุรกิจเรามันมีตรงไหนที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุบ้าง แล้วค่อย ๆ ปรับแก้กันไป” สิทธิชาติ กล่าว

 

กมลนาถยังเสริมอีกว่าในอนาคตองค์ความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการรายย่อยอีกต่อไป เพราะปัจจุบันกลไกของภาครัฐอย่าง การเก็บภาษีคาร์บอน หรือมาตรการ ESPR (ระเบียบว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป) เริ่มนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กต่อมาตามลำดับ

 

“โลกกำลังต้องการวัตถุดิบ สินค้า และบริการที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือคาร์บอนต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะกับนโยบายจัดซื้อสีเขียวของภาครัฐ ที่จะมากระตุ้นอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน

“ดังนั้นการปรับตัวนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในธุรกิจไว้ก่อนย่อมดีกว่าเพราะเมื่อโอกาสมาถึงเราจะพร้อม และยังสามารถใช้แนวทางการดำเนินกิจการด้วยความยั่งยืนเป็นแต้มต่อ ผ่านการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เป็นหัวใจของการประชาสัมพันธ์สินค้า ไปจนถึงการพาผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ตลาดสากลที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ได้ง่าย” กมลนาถ กล่าว


ควบคู่ไปกับการแนะนำแบรนด์สินค้าและบริการขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของความยั่งยืนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จจากการหาช่องว่างทางการตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ กมลนาถยังยกตัวอย่างโมเดลของการทำตลาดนัดหรือตลาดชั่วคราวที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ

 

ไม่ว่าจะเป็น Bamboo Family Market (เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. บริเวณแยกหลุยส์ อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่) ผู้จัดตลาดฯ ที่พยายามปลูกฝังสำนึกด้านความยั่งยืนผ่านผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าท้องถิ่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ กลไกการลดขยะที่คิดแต่ต้นทาง โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมทั้งมีจุดล้างภาชนะ และการแยกขยะที่ชัดเจน

  

และ Green Market (ภายในเทศกาล Cry Mate ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567) ที่ให้บริการ Ecocrew สำหรับให้ผู้ซื้อเช่าภาชนะบรรจุอาหาร เพียงลูกค้าจ่ายเงินมัดจำค่าภาชนะ 20 บาท และจ่ายค่าชาม/จานมาใช้ใส่อาหารในงานอีก 5 บาท โดยเมื่อลูกค้านำภาชนะเหล่านี้ไปซื้ออาหาร ทางร้านก็จะลดราคาให้ 5 บาท เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าเสียไปตอนต้น และเมื่อนำภาชนะกลับมาคืนที่จุดรับก็ได้เงินมัดจำ 20 บาทคืน ลูกค้าจึงไม่ต้องแบกต้นทุนค่าภาชนะ ขณะที่ โลกก็ไม่จำเป็นต้องแบกขยะที่ย่อยสลายได้ยากเพิ่มขึ้นอีกจากตลาดแห่งนี้

 

“เราว่าเชียงใหม่และหลาย ๆ เมืองในภาคเหนือมีรากฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำสินค้าหัตถกรรมจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียน การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชั้นนำ รวมถึงการเกื้อหนุนทรัพยากรภายในชุมชน เหล่านี้คือแต้มต่อที่ดีในการทำพื้นที่การขายให้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน

“แม้ตัวอย่างของการบริหารจัดการวัสดุและขยะเหลือใช้ในตลาดสองแห่งที่ยกมาอาจฟังดูยุ่งยากทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้บริโภค แต่มันก็ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตลาดเหล่านี้อย่างมาก รวมถึงยังเป็นการส่งต่อสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้แก่ผู้ซื้อออกไปอีกเช่นกัน” กมลนาถ กล่าว 


นอกจากนี้ สิทธิชาติยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับจากการกำหนดทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับความยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ประกอบการตระหนักในเรื่องนี้ ธุรกิจจะไม่ได้จำกัดผู้เล่นเพียงแค่ ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ แต่ยังให้ความสำคัญปังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดด้วย สิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองของเจ้าของกิจการ ทำให้มองเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงข้อมูลและตัวแปรอีกมากมายสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของเรา

 

“อย่าลืมว่าผู้ประกอบการรายย่อยและ ผู้บริโภค คือประชากรส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ ถ้าผู้ขายสามารถส่งต่อคุณค่าด้านความยั่งยืนให้กับผู้ซื้อได้ มันก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทุกคน ผมจึงคิดว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราเนี่ยแหละคือพลังสำคัญที่ทำให้โลกเราดีกว่านี้ได้” สิทธิชาติ กล่าวทิ้งท้าย 

เหล่านี้คือผลลัพธ์บางส่วนจากมุมมองของสองนักเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนของความคิดจะปรากฏเป็นรูปธรรมภายในงาน POP Market เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ แล้วมาพบกันที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 มาร่วมช้อปปิ้งสินค้าสร้างสรรค์ พร้อมกับส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกไปด้วยกัน



แชร์