เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

สำรวจแนวคิด Chiang Mai Design Week 2024 ผ่านมุมมองของ 4 นักสร้างสรรค์ชั้นนำ

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

SCALING LOCAL: Creativity, Technology, Sustainability คือแนวคิดหลักในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ เทศกาลที่ชวนทุกคนมาร่วมกันสำรวจศักยภาพของท้องถิ่นในภาคเหนือที่เรามี ก่อนจะหาวิธีต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) เข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อทำให้ระบบนิเวศสร้างสรรค์ในบ้านเรามีความยั่งยืน (Sustainability) พร้อมให้ผลงานจากผู้คนในท้องถิ่นเข้าถึงโอกาสในการเฉิดฉายบนเวทีโลก


ทั้งนี้ CMDW มีโอกาสพูดคุยกับเหล่าคณะกรรมการคัดเลือกผลงานทั้ง 4 ท่าน ซึ่งล้วนเป็นนักออกแบบและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ชั้นนำของเมืองไทย ไปดูมุมมองของพวกเขาเกี่ยวกับแนวคิด SCALING LOCAL ทิศทางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภาคเหนือ และภาพรวมในผลงานที่มาร่วมแสดงในเทศกาลปีนี้ไปพร้อมกัน


งานสร้างสรรค์ไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบและเทคโนโลยีก็ไม่ใช่แค่คนในแวดวง IT

วิสุทธิ์ ลิ้มอารีย์

ผู้ก่อตั้ง Asiatides Paris และเจ้าของ Wit’s Collection



“ในฐานะที่ผมทำ Asiatides ที่เป็นตัวกลางสรรหาสินค้าออกแบบระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อในเอเชียและยุโรปมาหลายสิบปี ผมตระหนักดีว่างานออกแบบของนักสร้างสรรค์ในภาคเหนือเรามีความประณีตและงดงามมาก รวมถึงงานของคนรุ่นใหม่ ๆ ในช่วงหลัง อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคืองานหลายชิ้นอาจจะยังไปไม่ถึงผู้ซื้อ ซึ่งอาจด้วยกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างทำได้จำกัด การตลาด หรือขาดตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงสินค้าถึงผู้ซื้อ แต่นั่นล่ะ เพราะมันไม่ใช่แค่ความคิดสร้างสรรค์ในการผลิต สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ เราจะขายผลงานของเราออกไปในวงกว้างยังไง …


“ในส่วนของภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมคิดว่าเราได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ประกอบการรุ่นใหม่ แต่จะดีมาก ๆ ถ้าสถาบันการศึกษาส่งเสริมให้นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยส่งผลงานมาร่วมแสดงมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่การทำบอร์ดโครงงาน แต่เป็นการนำไอเดียมาผลิตเป็นผลงานตัวอย่างจริง ๆ ให้ชม สิ่งนี้มันช่วยจุดประกายให้เด็ก ๆ ที่มาดูงานได้เยอะ เพราะเอาเข้าจริง ในเทศกาลฯ เรามีโปรแกรมพวกโชว์เคสของมืออาชีพ เวิร์กช็อป หรือ Business Matching ที่พอสนับสนุนผู้คนในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว แต่ถ้าเรามีพื้นที่แสดงผลงานจากสถาบันการศึกษาเพิ่มขึ้นมามากกว่านี้ เทศกาลฯ จะดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใช่เฉพาะแค่นักศึกษาในภาควิชาออกแบบให้มาสนใจได้ …


“ผมว่าหลายคนยังติดภาพว่าเทศกาลออกแบบมันเป็นเรื่องของคนในแวดวงงานออกแบบหรือศิลปะ ขณะที่ดีไซน์วีกในต่างประเทศ เราจะเห็นคนที่มาร่วมแสดงงานมาจากสายวิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่นักออกแบบไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร โปรแกรมเมอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และอื่น ๆ จริงอยู่ที่ชื่อมันคือ Design Week แต่ Design ในที่นี้มันไม่ใช่แค่ Designer แต่เป็นการดีไซน์อะไรก็ตาม ที่มันช่วยให้เราสามารถทำให้เราใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น มีสุนทรียะขึ้น ไปจนถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเราได้ เพราะงานสร้างสรรค์มันไม่ใช่แค่เรื่องของนักออกแบบ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เป็นแนวคิดของเทศกาลในปีนี้ มันก็ไม่ใช่แค่เรื่องของคนในแวดวง IT แต่มันหมายถึงสิ่งที่แวดล้อมวิถีชีวิตของเราทุกคน”


งานคราฟต์ + เทคโนโลยี = ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ

อมรเทพ คัชชานนท์

ผู้ก่อตั้ง AmoArte และที่ปรึกษา The Design & Objects Association (D&O)



“เท่าที่ดูภาพรวมของผู้เข้าร่วมเทศกาลปีนี้ ผมเห็นว่าทิศทางของงานสร้างสรรค์ที่เน้นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน รวมถึงการอธิบายที่มาที่ไปของการใช้วัสดุซึ่งสอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากธีมของเทศกาลปีนี้ ประเด็นด้านเทคโนโลยีอาจยังไม่ค่อยเด่นชัดเท่าใดนัก อาจจะเพราะงานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ในภาคเหนือจะเป็นงานคราฟต์ นักออกแบบเลยไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้เท่าใดนัก …


“อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า ถ้าเรานำมิติด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ อาจไม่ต้องถึงกับเทคโนโลยีขั้นสูงหรือจักรกลโรงงานอะไร แค่เป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่เข้ามาช่วยหนุนเสริมกระบวนการผลิตในบางขั้นตอน ผมว่าสิ่งนี้มันช่วยยกระดับงานคราฟต์ที่มีได้มากเลยนะ ที่พูดแบบนี้ต้องออกตัวว่า ผมไม่ได้ปฏิเสธการผลิตผลงานด้วยมือในทุกกระบวนการแบบ 100% นะ นี่คือเสน่ห์ของงานสร้างสรรค์ในเชียงใหม่และภาคเหนืออย่างไม่อาจปฏิเสธอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณมองถึงแง่มุมความยั่งยืนด้านอาชีพหรือเศรษฐกิจ ผมว่าการเปิดรับเทคโนโลยีให้มาช่วยด้วยเป็นเรื่องจำเป็น”


นวัตกรรมสร้างตัวตน

ปิยนันท์ มหานุภาพ

ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตและส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX)



“หลายปีหลังมานี้งานออกแบบที่พึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ หรืองานสร้างสรรค์แนวมัลติมีเดียได้รับความนิยมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามองมากไปกว่านั้น ถ้าเราสนใจในกระบวนการคิดและผลิตเชิงนวัตกรรมตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัตถุดิบ อาทิ เทคโนโลยีเส้นใยผ้า หรือการนำวัสดุธรรมชาติมาผสานกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างมูลค่าให้สินค้า เหล่านี้มันเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานสร้างสรรค์ของเรามีความยูนีคไม่เหมือนใคร และทำให้แบรนด์ของเรามีตัวตนที่ชัดเจน …


“ผมยกตัวอย่างแบรนด์หนึ่งที่เขานำเศษใบไม้มาต่อยอดเพื่อการผลิตเป็นวัสดุทดแทนหนัง ขณะเดียวกันเขาก็ได้นำนวัตกรรมนี้ไปจดสิทธิบัตร และนำมาผลิตเป็นสินค้า โดยชูเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญของแบรนด์ ตรงนี้แหละคือปลายทางของความยั่งยืน เพราะความยั่งยืนมันไม่ใช่เพียงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการที่แบรนด์ของคุณต้องอยู่ให้ได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญคือแบรนด์คุณต้องมีความโดดเด่น และมีทิศทางที่สอดรับไปกับกระแสของโลก มันอาจจะเริ่มจากแนวคิดเล็ก ๆ ในระดับท้องถิ่น แต่ถ้าธุรกิจคุณอยู่ได้ แบรนด์คุณก็จะเติบโต และถ้าแบรนด์คุณเติบโตโดยมีรากฐานที่ใส่ใจในความยั่งยืน ผมเชื่อว่าสิ่งนี้คือหัวใจของความสำเร็จ”


อาจไม่ใช่ผลลัพธ์ แต่การได้เห็นพัฒนาการระหว่างทางคือสิ่งสำคัญ

สุเมธ ยอดแก้ว

เจ้าของค่ายเพลง Minimal Records และอาจารย์ประจำวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



“ดีไซน์วีกปีนี้ผมดูสองส่วน คือเป็นคณะกรรมการพิจารณางานโชว์เคส กับเป็นผู้จัดงาน LABBfest. ที่เป็นอีเวนท์ด้านดนตรีของศิลปินในภาคเหนือ พูดถึงเรื่องแรกก่อน ปีนี้ ผมเห็นว่ามีผู้เข้าทำโชว์เคสหลายรายที่เคยมาร่วมแสดงกับเทศกาลในปีก่อน ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างน่าสนใจ ทั้งในเชิงการนำเสนอ การทำแบรนด์ดิ้ง ไปจนถึงวิธีคิดในการต่อยอดในเชิงธุรกิจ งานโชว์เคสหลายชิ้นมีกระบวนความคิดในเชิงงานวิจัยทางศิลปะที่เล่นล้อไปกับช่วงเวลา ฤดูกาล บริบทของพื้นที่ หรือความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่เชื่อมโยงผู้ชมให้ไปคิดต่อได้ อย่างไรก็ดี ถ้าพิจารณาในมิติด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักของเทศกาล อาจจะต้องมีการนำเสนอหรือต่อยอดให้มากกว่านี้ …


“แต่นั่นล่ะ ผมมองว่าดีไซน์วีกหรือเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์อะไรก็ตามแต่ มันไม่ใช่แค่การนำเสนอผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการได้เห็นพัฒนาการหรือกระบวนการทำงานของนักสร้างสรรค์แต่ละกลุ่มหรือแต่ละคน เพื่อเป็นบทเรียนหรือเป็นแรงบันดาลใจ การที่เราได้เห็นนักสร้างสรรค์หน้าเดิม ซึ่งมีผลงานที่มีแนวคิดต่างไปจากเดิม หรือมีพัฒนาการกว่าเดิม หรือกระทั่งจุดด้อยที่ถ้ามีการปรับแก้ หรือต้องอาศัยประสบการณ์มากกว่านี้ถึงจะสมบูรณ์ ตรงนี้แหละคือเสน่ห์ของเทศกาลฯ …


“ขณะที่งาน LABBfest. ก็เช่นกัน นอกจากในปีนี้ที่เราจะขยายสเกลให้มากขึ้น รวมถึงมีการชักชวนผู้จัดเทศกาลดนตรีในญี่ปุ่นมาดูงานแสดงของศิลปินท้องถิ่น ควบคู่ไปกับโปรโมเตอร์จากค่ายเพลงที่เราเชิญมาอยู่แล้วในงาน 3 ครั้งก่อนหน้านี้ ผมก็หวังว่านี่มันจะเป็นโอกาสให้ศิลปินในบ้านเราได้มีช่องทางเพิ่มมากขึ้น …


“ผมว่าทั้งแวดวงนักสร้างสรรค์และวงการดนตรีของเชียงใหม่มีความคล้าย ๆ กันอยู่ ตรงที่เรามีระบบนิเวศด้านพื้นที่และโอกาสค่อนข้างมาก มีคนทำงานฝีมือดี ๆ เยอะแยะ แต่สิ่งที่ขาดคือคาแรกเตอร์หรือความเฉพาะตัวที่ทำให้ผลงานของพวกเขาโดดเด่นหรือแตกต่างกว่าคนอื่น ๆ สิ่งนี้อาจต้องอาศัยประสบการณ์และการขัดเกลา และการได้เห็นผลงานของคนอื่น ๆ ที่จัดแสดงในเทศกาลหรืออีเวนท์ประมาณนี้เยอะ ๆ จะช่วยได้มาก”


แชร์