เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 2)

เผยแพร่เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว

Homecoming Creators (ตอนที่ 2)

ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่


อัจฉริยา โรจนภิรมย์

Kalm Village’s Showcases


อัจฉริยา โรจนภิรมย์ คือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Kalm Village หมู่บ้านศิลปหัตถกรรมและงานออกแบบร่วมสมัยใจกลางย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ พื้นที่อันเป็นส่วนผสมระหว่างพิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ คาเฟ่ และจุดเช็คอินท่ามกลางงานออกแบบและสถาปัตยกรรมสวยเก๋แห่งนี้ ได้ร่วมกับ CMDW ในปีที่ผ่านมา ในการจัดโชว์เคส 2 งาน ได้แก่ สีสันกับชีวิต: นิทรรศการเฟอร์นิเจอร์ โดย สุวรรณ คงขุนเทียน นำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของการสร้างสรรค์และตบแต่งเก้าอี้ให้เต็มเปี่ยมไปด้วยแง่มุมทางหัตถศิลป์ที่หลากหลาย และนิทรรศการ Adat & Alam: Weaving the Ancestral Pathway นิทรรศการที่ Kalm Village ร่วมกับ Gerimis Art นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของช่างฝีมือจากมาเลเซีย นอกจากนี้ Kalm Village ยังมีเวิร์กช็อปสนุกๆ อีกหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่งานออกแบบ งานหัตถกรรม และกาแฟ ซึ่งจัดขึ้นตลอดช่วงเทศกาล

 

“ปีนี้ (CMDW2023) เป็นปีที่สองที่ทางคาล์มวิลเลจจัดงานพร้อมกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ โดยมี 2 นิทรรศการหลัก พร้อมกับกิจกรรม talk และ workshop ที่บอกเล่าเรื่องราวทั้งในมุมมองร่วมสมัยและพื้นถิ่น ทั้งในภาคเหนือ และต่างประเทศ ซึ่งเราได้รับเกียรติจากศิลปินมาเลเซียมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและผลงาน

 

เราหวังว่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่จะเห็นคุณค่าและแรงบันดาลใจใกล้ตัวในบ้านและเรื่องราวของตนเอง รวมถึงมุมมองจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงคุณค่าที่น่าสนใจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์ในแบบฉบับของตัวเอง ทั้งในแง่มุมของความคิดที่หลากหลาย และการผสานความเก่า-ใหม่อย่างลงตัว ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป” อัจฉริยา กล่าว

 

ทำความรู้จัก Kalm Village เพิ่มเติมได้ทาง https://www.kalmvillage.com/     




สุพิชา เทศดรุณ

กิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking 


สุพิชา เทศดรุณ คือศิลปินหัวหน้าวง Suthep Band วงดนตรีจากเชียงใหม่ที่ผสานความเป็นพื้นเมืองภาคเหนือ เข้ากับดนตรีแบบลูกกรุง ลูกทุ่ง และป๊อบ-ร็อคร่วมสมัยอย่างสนุกสนาน นอกจากบทบาทของนักดนตรี เขายังเป็นผู้ก่อตั้ง Chiang Mai Original ซึ่งเป็นทั้งบาร์ดนตรีสด และกลุ่มความร่วมมือที่ขับเคลื่อนแวดวงดนตรีของคนเชียงใหม่ให้มีที่ทางในพื้นที่สาธารณะ ไปพร้อมกับสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของนักดนตรี โดยในเทศกาลฯ นี้ สุพิชาในฐานะกลุ่ม Chiang Mai Original ได้จัดกิจกรรมดนตรีเปิดหมวก Chiang Mai Busking คัดสรรศิลปินท้องถิ่นและศิลปินรับเชิญจากต่างจังหวัดกว่า 30 วง มาทำการแสดงในพื้นที่จัดงานหลักทั้ง 4 พื้นที่ ซึ่งกิจกรรมนี้ยังเป็นหนึ่งในความพยายามของสุพิชาที่จะโปรโมทผลงานเพลงของนักดนตรีท้องถิ่น ไปพร้อมกับใช้เสียงดนตรีสร้างสีสันและความสนุกในพื้นที่สาธารณะ เสริมเสน่ห์ร่วมสมัยให้กับเมืองทั้งเมือง


“ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปร่วมงาน Busking World Cup in Gwangju ซึ่งเป็นเทศกาลที่เปิดออดิชั่นนักดนตรีเปิดหมวกจากทั่วโลก มาจัดแสดงผลงานตามในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลี เทศกาลนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับนักดนตรีที่ผ่านคัดเลือกจากทั่วโลกให้มาใช้ชีวิต ท่องเที่ยว และเล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่ต่างๆ ในเมืองกวางจู เป็นการสร้างเสน่ห์ให้กับเมือง และก็ได้ประชาสัมพันธ์เมืองผ่านโซเชียลมีเดียของนักดนตรีด้วย


“ในขณะเดียวกัน ความที่ผมมีความคิดที่อยากโปรโมทวงดนตรีเชียงใหม่ที่มีผลงานเพลงของพวกเขาเองอยู่แล้ว ก็เลยนำโมเดลนี้มาเสนอกับ TCDC เชียงใหม่ จนเกิดเป็นโปรเจกต์ Chiang Mai Busking ในงานดีไซน์วีคปี 2023


“ผมมองว่าการแสดงดนตรีสดในพื้นที่สาธารณะ ถ้ามันถูกที่และถูกเวลา มันจะช่วยขับกล่อมและสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับเมืองได้ แบบเดียวกับที่ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีนักดนตรีเปิดหมวกเก่งๆ มาเล่นมากมาย และภาครัฐก็สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมแบบนี้อย่างเต็มที่ เชียงใหม่เรามีพื้นที่สาธารณะที่เป็นแลนด์มาร์คมากมาย การมีวงดนตรีที่เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่และภาคเหนือไปเล่นเนี่ย มันช่วยเสริมบรรยากาศน่าอยู่ความเป็นครีเอทีฟซิตี้ให้กับเมืองของเรา ทั้งยังส่งเสริมพื้นที่สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น และเอื้อให้เกิดการใช้พื้นที่สาธารณะอย่างสร้างสรรค์ 


“ขณะเดียวกัน ผมอยากเปลี่ยนภาพจำของคนส่วนใหญ่เกี่ยวกับนักดนตรีเปิดหมวก ว่าพวกเขาไม่ใช่คนเร่ร่อน หรือคนไร้ฝีมือที่ไม่สามารถไปเล่นดนตรีตามสถานบันเทิงหรือออกอัลบั้มได้ แต่เป็นศิลปินอาชีพจริงๆ ที่รักในความอิสระ รวมถึงสามารถเลี้ยงชีพได้จากความคิดสร้างสรรค์ และเสียงเพลง” สุพิชา กล่าว


ทำความรู้จัก Chiang Mai Original เพิ่มเติมได้ทาง https://www.facebook.com/chiangmaioriginal/?locale=th_TH 




อภิชัย เทียนวิไลรัตน์

การแสดง Len Yai: Performance Arts 


อภิชัย เทียนวิไลรัตน์ คือเจ้าของ Little Shelter บูติกโฮเทลสุดฮิปที่นำแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมล้านนามาออกแบบ จนคว้ารางวัลทางสถาปัตยกรรมระดับโลกมาแล้วมากมาย ทั้งนี้ Little Shelter ยังทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟแพลตฟอร์มสุดเก๋ ผ่านการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงแรมเป็นแกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัย ร้านจำหน่ายงานออกแบบของดีไซน์เนอร์ท้องถิ่น และการจัดกิจกรรมที่ชักชวนนักสร้างสรรค์ทั้งท้องถิ่นและต่างชาติมาผลิตผลงานสุดล้ำในพื้นที่ อาทิ การแสดงละครเวที ดนตรี เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ท ไปจนถึงการจัดปาร์ตี้ และทำอาหาร ฯลฯ 


ในเทศกาลฯ ครั้งนี้ อภิชัย ได้ร่วมกับ ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ จัดงาน Len Yai: Performance Arts ชักชวนศิลปินการแสดงทั้งไทยและต่างชาติกว่า 40 ชีวิต มาร่วมจัดการแสดงสตรีทเพอร์ฟอร์แมนซ์ที่สอดรับไปกับบริบทของพื้นที่ 8 แห่งในย่านช้างม่อยและท่าแพ ตลอด 9 วันของการจัดงาน CMDW2023


“พื้นเพผมเป็นคนจังหวัดลำปาง ทำงานด้านวิศวกรและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้างและบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงเทพฯ จนมีอยู่ช่วงหนึ่ง ผมมีเหตุให้ต้องกลับมาดูแลครอบครัวที่บ้าน เลยตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจโรงแรมที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ผมสนใจเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัยอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าถ้าจะทำโรงแรมก็น่าจะทำให้มันสอดรับกับความสนใจ และมีส่วนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศเชิงสร้างสรรค์ของเมืองได้ จึงทำ Little Shelter ที่มีพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปพร้อมกัน


“ผมสนใจเชียงใหม่ในฐานะเมืองแห่งความหลากหลาย เรามีต้นทุนของการเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมล้านนา ขณะเดียวกัน ด้วยบริบทร่วมสมัย เราก็ดึงดูดผู้คนมากมายจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวหรือพักอาศัย จนเกิดเป็นเมืองนานาชาติ และเพราะลักษณะพิเศษแบบนี้ เมืองจึงเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลายแขนง ทั้งทางด้านทัศนศิลป์ นักดนตรี หรือศิลปะการแสดง 


“Len Yai: Performance Arts เป็นโปรเจกต์ที่ผมร่วมกับพี่ชัย (ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์) สำรวจพื้นที่ต่างๆ ในย่านช้างม่อยและท่าแพ พื้นที่ที่หลายคนอาจมองข้ามหรืออาจยังไม่รู้จัก และเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเวทีการแสดงชั่วคราว เพื่อชักชวนให้ผู้คนมองเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ หรือโอกาสใหม่ๆ ของย่าน 


“และอย่างที่บอก เชียงใหม่เราเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์หลากรุ่นและหลากหลายแขนง ถ้าเรามีพื้นที่และแรงสนับสนุนให้พวกเขาเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและจริงจัง พลังสร้างสรรค์จากพวกเขาจะแปรเปลี่ยนไปสู่เสน่ห์ทางการท่องเที่ยวของเมือง ไปจนถึงแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม” อภิชัย กล่าว


ทำความรู้จัก Little Shelter เพิ่มเติมได้ทาง https://littleshelterhotel.com/

แชร์