เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2024, 7 –15 DEC

นักสร้างสรรค์คืนถิ่น (ตอนที่ 1)

เผยแพร่เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

Homecoming Creators (ตอนที่ 1)

ทำความรู้จัก 6 นักสร้างสรรค์คืนถิ่น ผสานความเก่า-ใหม่ เปลี่ยนท้องถิ่นให้ทรงพลัง ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่


หนึ่งในหัวข้อที่ CMDW ไฮไลต์เป็นพิเศษ คือการชักชวนเหล่านักสร้างสรรค์คืนถิ่น (homecoming creators) ให้กลับมายังภูมิลำเนาในเชียงใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โปรแกรมสนุกๆ กับเหล่าช่างฝีมือ ศิลปิน และนักออกแบบท้องถิ่น เพราะเราเชื่อว่า ด้วยมุมมองและประสบการณ์ของกลุ่มนักสร้างสรรค์ที่ใช้ชีวิตและทำงานในบริบทที่ต่างออกไป เมื่อบวกรวมกับความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับพื้นที่ และความเชี่ยวชาญหลากสาขาของคนท้องถิ่น สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยหนุนเสริมพลังสร้างสรรค์ให้แก่กันและกัน แต่ยังจุดประกายความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ และนี่คือ 6 homecoming creators ที่เราอยากให้คุณรู้จัก


COTH Studio (กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยาวาทย์)

นิทรรศการหัตถกรรมร่วมรุ่น / สร้าง ผ่าน ซ่อม / ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัย


COTH Studio คือครีเอทีฟสตูดิโอที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาปนิก นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์นิทรรศการจากกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ อย่าง กวิสรา อนันต์ศฤงคาร และเฉลิมเกียรติ สมดุลยวาทย์ พวกเขาอยู่เบื้องหลังนิทรรศการด้านการออกแบบเจ๋งๆ มากมาย รวมถึงสร้างความร่วมมือกับเหล่าช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อช่วยกันยกระดับงานหัตถกรรมท้องถิ่น ด้วยแนวคิดและรสนิยมร่วมสมัยที่ตอบโจทย์กับตลาดในระดับสากล 


Photo Credit: Chiang Mai Design Week


ใน CMDW2023 ทีม COTH Studio รับหน้าที่สร้างสรรค์ 3 นิทรรศการด้วยกัน โดยทั้งหมดก็ล้วนสะท้อนแนวคิด Transforming Local ที่เป็นธีมของเทศกาลฯ ได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นแพลทฟอร์มกลาง เชื่อมนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ให้ร่วมงานกับช่างฝีมือท้องถิ่น เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สะท้อนรากเหง้าของพื้นถิ่นในบริบทที่ร่วมสมัยอย่างนิทรรศการ ‘หัตถกรรมร่วมรุ่น’ (Everyday Contem, จัดแสดงที่ TCDC เชียงใหม่) การชักชวนช่างฝีมือมาซ่อมแซมสิ่งของที่เสียหายให้กลับมามีชีวิตและฟังก์ชั่นใหม่ๆ อย่างนิทรรศการ ‘สร้าง ผ่าน ซ่อม’ (Persona of Things จัดแสดงบนชั้น 2 อาคารมัทนา ถนนช้างม่อย) และนิทรรศการ ‘ห้องสารภัณฑ์ และความช่างสมัย’ (Local Cabinets จัดแสดงที่ De Siam Warehouse อำเภอหางดง) ที่เป็นการนำบริบทของพื้นที่ต่างๆ เมืองเชียงใหม่มาเป็นโจทย์ในการยกระดับเฟอร์นิเจอร์ท้องถิ่นสู่งานศิลปะ 


“เพราะเราเห็นว่าการทำงานในฐานะดีไซเนอร์หรือศิลปินด้วยมุมมองของการเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์ เหมือนเป็น lone wolf เก่งอยู่คนเดียว หลายครั้ง ผลงานที่ออกมามันไม่เวิร์ก เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจบริบทหรือวัสดุที่ต้องใช้จริงๆ รวมถึงการใช้งานกับพื้นที่เฉพาะอย่างยั่งยืนจริงๆ เราเลยเชื่อว่าการทำงานร่วมกับผู้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวพันกับชิ้นงานนั้นๆ โดยตรง จะทำให้การออกแบบได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์การใช้งาน ทั้งยังสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของร่วม และความภาคภูมิใจให้ทั้งนักสร้างสรรค์และผู้คนในพื้นถิ่น 


พอมาในโปรเจกต์ Homecoming ในพื้นที่ต่างๆ ที่เราไปสำรวจมาทั่วภาคเหนือ เรามองว่าแต่ละพื้นที่ล้วนมีทรัพยากรที่มีศักยภาพมากมายที่รอให้เกิดการหยิบจับมาต่อยอด แต่การหยิบจับนั้นมันจะน่าสนใจก็ต่อเมื่อทุกคนทำงานร่วมกันแบบ collaboration ดังที่กล่าว พอเราตั้งใจฟังผู้คนในพื้นที่รวมถึงร่วมพัฒนาผลงานด้วยกัน ผลลัพธ์ที่ออกมา จึงไม่ได้อยู่ในรูปแบบสูตรสำเร็จของงานออกแบบที่เราคุ้นเคย แต่เป็นการได้มาซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สอดรับไปกับพื้นที่ ความเชี่ยวชาญเฉพาะของช่างฝีมือ และการใช้งานจริง เราคิดว่าการแสดงให้เห็นถึงวิธีปฏิบัติแบบนี้อาจช่วยดึงดูดอีกหลายๆ คนที่เชื่อในแนวทางนี้เหมือนกัน” COTH Studio กล่าว 


ทำความรู้จัก COTH Studio เพิ่มเติมได้ที่ https://www.cothstudio.com/ 


_______________________


ธนัชชา ไชยรินทร์ 

นิทรรศการ Transforming Local 


ธนัชชา ไชยรินทร์ เป็นศิลปิน และอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนัชชาสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์ที่หลากหลาย ทั้งงานประติมากรรม สื่อผสม และศิลปะจัดวาง โดยสนใจประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจากอดีตสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านความเป็นสมัยใหม่ (modernization) ที่มีผลกระทบต่องานหัตถกรรมพื้นบ้านดั้งเดิม 


ในเทศกาล CMDW2023 ที่ผ่านมา ธนัชชาได้ร่วมแสดงในนิทรรศการเดี่ยว Transforming Local ที่ TCDC เชียงใหม่ นำเสนอชุดประติมากรรมภายใต้แนวคิด Memento Mori หรือ ‘มรณานุสติ’ ซึ่งเป็น ประติมากรรมภาพเหมือนของสิ่งมีชีวิต ที่ครึ่งหนึ่งของมันเผยให้เห็นเนื้อหนังของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตามปกติ หากแต่อีกครึ่งเป็นการสลักเสลา ‘เนื้อใน’ ของสิ่งนั้นๆ จนเผยให้เห็นกระดูก หรือโครงสร้างภายในอย่างน่าทึ่ง 


Photo Credit: Chiang Mai Design Week


“พื้นเพเราเป็นคนเชียงใหม่ และมีโอกาสคลุกคลีกับช่างฝีมือโดยเฉพาะช่างแกะสลักไม้มาเนิ่นนาน เราเห็นคุณค่าของภูมิปัญญานี้ในฐานะทุนทางวัฒนธรรมที่มีความเฉพาะตัว เท่าๆ กับที่ตระหนักดีว่าด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนผ่าน ภูมิปัญญานี้กำลังจะสูญหายไป ในนิทรรศการนี้ เราจึงไปยังหมู่บ้านหัตถกรรมต่างๆ ในเชียงใหม่ เพื่อรวบรวมวัตถุสิ่งของและไม้แกะสลักตามหมู่บ้าน มาแกะคว้านครึ่งหนึ่งของพวกมันภายใต้แนวคิด Memento Mori ซึ่งไม่เพียงจะเป็นการอุทิศถึงคุณค่าจริงๆ ของสิ่งของเหล่านั้นในห้วงเวลาที่มันกำลังจะเลือนหายไปจากยุคสมัย แต่ยังเป็นความพยายามในการหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของงานหัตถกรรม ด้วยมุมมองแปลกต่าง แต่สอดรับกับยุคสมัย” ธนัชชา กล่าว


ทำความรู้จักธนัชชา ไชยรินทร์ เพิ่มเติมได้ทาง https://thanatchachairin.wixsite.com/website?fbclid=IwAR3t1cJtNIFvDMP9siaNeMYmOsVbgmRqHVVN7FA1e-mnB1Uq-rQdp-uX1VU 


_______________________


วิทยา จันมา 

นิทรรศการ Sound Moment


วิทยา จันมา เป็นศิลปินแนว interactive installation ที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติมากมาย เขาเป็นศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ที่ต่อยอดงานไฟน์อาร์ทสู่งานดิจิทัลอาร์ท ที่ชวนให้ผู้ชมเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับชมทั้งภาพ เสียง และสัมผัส จนสร้างชื่อในระดับสากล โดยในเทศกาลฯ นี้ วิทยามากับนิทรรศการ Sound Moment นำเสนอผลงานภาพเคลื่อนไหวพร้อมซาวด์ประกอบจากแผ่นเสียง ที่มีการสลักลวดลายเฉพาะตัวลงบนแผ่นไวนิล อันสื่อถึงบริบทของความเป็นท้องถิ่นภาคเหนือ 


Photo Credit: Chiang Mai Design Week


ทั้งนี้ วิทยายังได้เชิญชวนผู้ชมให้เลือกแผ่นเสียงที่เตรียมไว้มาเล่นในเครื่องเล่นสองเครื่อง เมื่อเครื่องเล่นทำงาน กล้องที่บันทึกภาพจานหมุนจะส่งภาพเคลื่อนไหวลงบนกำแพง พร้อมกับ sync ลวดลายและเสียงจากทั้งสองแผ่นเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นงานอนิเมชั่นที่ผู้ชมสามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง โดยนิทรรศการ Sound Moment จัดแสดงที่ชั้น 1 ธน-อาคาร (Thana-Arkarn Building) ถนนราชวงศ์ ในปีที่ผ่านมา


“ทั้งภาพที่ผมสร้างสรรค์ลงบนแผ่นไวนิล และเสียงที่ปรากฏ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเป็นท้องถิ่นของภาคเหนือที่ผมเติบโตและร่ำเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นนกหรือดอกไม้ท้องถิ่น หรือการบันทึกเสียงจากในป่า และบรรยากาศตามพื้นที่ต่างๆ 


ผมมองว่าองค์ประกอบที่ผมเลือกมา ไม่ว่าจะเป็นเสียงนก หรือเสียงฝน ล้วนเป็นสิ่งที่คนภาคเหนือคุ้นชินอยู่แล้ว แต่เรากลับมองข้ามไป เพราะมันอาจจะใกล้ตัวเราจนเกินไปจนอาจละเลยคุณค่า แต่ในทางกลับกัน องค์ประกอบที่ดูธรรมดาเหล่านี้ ก็ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่รอให้คนในท้องถิ่นหยิบจับมาสร้างสรรค์เป็นผลงานใหม่ๆ ไม่สิ้นสุด นิทรรศการ Sound Moment คือความพยายามชวนให้ทุกคนย้อนกลับมาสำรวจต้นทุนที่อยู่รอบตัวเรา และแค่เปลี่ยนมุมที่มองสิ่งเหล่านี้ไปสักนิด คุณอาจได้พบศักยภาพอะไรใหม่ๆ ที่ซึ่งภูมิภาคอื่นๆ ไม่มีก็เป็นได้ครับ” วิทยา กล่าว 


ทำความรู้จัก วิทยา จันมา เพิ่มเติมได้ทาง http://www.witayajunma.com/ 


และอย่าพลาดปลายปีนี้ เตรียมขึ้นเหนือมาร่วมเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 1 ทศวรรษ “Chiang Mai Design Week” ไปด้วยกัน กับ “เทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024) ที่ครั้งนี้ เทศกาลฯ ได้เดินทางมาถึงปีที่ 10 แล้ว ภายใต้แนวคิด “𝗦𝗖𝗔𝗟𝗜𝗡𝗚 𝗟𝗢𝗖𝗔𝗟: 𝗖𝗿𝗲𝗮𝘁𝗶𝘃𝗶𝘁𝘆, 𝗧𝗲𝗰𝗵𝗻𝗼𝗹𝗼𝗴𝘆 𝗮𝗻𝗱 𝗦𝘂𝘀𝘁𝗮𝗶𝗻𝗮𝗯𝗶𝗹𝗶𝘁𝘆” แล้วพบกันวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567!


แชร์