สถานที่จัดงาน
อัพเดทและเที่ยวชมงาน
ย่านสร้างสรรค์ = พื้นที่ของทุกคน
Upper Floor Project และ Green Garden เชียงใหม่ เมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของภาคเหนือ หากก็กำลังประสบกับปัญหาที่ตามมาจากการพัฒนาไม่น้อย อาทิ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น (gentrification) การขาดแคลนของพื้นที่สีเขียว ไปจนถึงปัญหาเศรษฐกิจ ในปีนี้ CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนเข้าไปขับเคลื่อนโครงการในย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองอย่าง ‘ช้างม่อย – ราชวงศ์’ เริ่มจากโครงการ Upper Floor ซึ่งเป็นการต่อยอดจากนิทรรศการชื่อเดียวกันในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เมื่อปีก่อน โครงการชี้ชวนให้คนในย่านกลับมาสำรวจพื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ของตัวเอง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่ทางธุรกิจ รวมถึงการสำรวจความต้องการถึงรูปร่างหน้าตาหรือรูปแบบของกิจการสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่แนวตั้ง รวมถึงพื้นที่ว่างในย่านที่หลายคนอาจมองข้าม จึงนำมาสู่การเปิดพื้นที่ Upper Floor 2 แห่งใหม่ (ต่อจากอาคารมัทนาที่ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการเมื่อปีที่แล้ว) ได้แก่ ‘บ้าน 2 ชั้น บนถนนช้างม่อยเก่า’ และ ‘The Goodcery Chiang Mai’ บนถนนราชวงศ์ พร้อมทั้งได้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ 4 กลุ่มที่นำร่องเข้ามาใช้พื้นที่ทั้งสอง ได้แก่ กลุ่มศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ Basement Performance Arts และแบรนด์เสื้อผ้า Longgoy Studio (ใช้พื้นที่บ้าน 2 ชั้น) กลุ่มศิลปินพำนัก 888 Studio Residency และแบรนด์เสื้อผ้า Thee (ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของ The Goodcery Chiang Mai) ซึ่งต่างเข้ามาเปลี่ยนพื้นที่ดั้งเดิมให้กลายเป็น สตูดิโอซ้อมการแสดง แกลเลอรีศิลปะ และโชว์รูมจำหน่ายสินค้าตามลำดับ ทั้งนี้ นักสร้างสรรค์ทั้ง 4 กลุ่มยังได้ทำเวิร์กช็อปร่วมกับผู้คนในย่านทุกช่วงวัย เพื่อเป็นการสร้างโอกาสไปจนถึงการเพิ่มพูนทักษะใหม่ ๆ ให้กับคนในพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับการทำย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับทุกคนอีกด้วย ไม่เพียงแค่สร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการลงทุน ในย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ ยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจอย่าง Green Garden หรือโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการทำสวนผักสำหรับคนในย่าน สวนแนวตั้ง และการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมทางให้มีความร่มรื่นส่งเสริมการเดินเท้ามากขึ้น ส่งเสริมภูมิทัศน์และบรรยากาศย่านให้น่าอยู่ตามมาอีกด้วย
17 Oct BBBB
ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังสร้างสรรค์ท้องถิ่น: สนทนากับ พิชิต วีรังคบุตร
แม้จะผ่านไปเพียงครึ่งปี หากกล่าวได้ว่าปี 2567 ถือเป็นปีที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) มีความเคลื่อนไหวในท้องถิ่นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ เพราะไม่เพียงการประกาศความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการเปิดศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ หรือ New TCDC เพิ่มอีกถึง 10 จังหวัดทั่วประเทศ CEA ยังมีส่วนสนับสนุนให้เกิดเทศกาลสร้างสรรค์จากเหนือจรดใต้ ทั้งในเชียงราย ขอนแก่น และสงขลา รวมถึงเพิ่งประกาศธีมหลักสำหรับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่จะจัดที่เชียงใหม่เดือนธันวาคมนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เท่านั้นยังไม่พอ CEA ยังได้จับมือกับเครือข่ายนักสร้างสรรค์ท้องถิ่น ร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนเมืองผ่านเครื่องมือ ‘ย่านสร้างสรรค์’ ในโครงการ ‘เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย’ (Thailand Creative District Network : TCDN) ซึ่งเริ่มขับเคลื่อนใน 5 จังหวัดในภาคเหนือ (เชียงราย ลำพูน ลำปาง น่าน และพิษณุโลก) ไปแล้ว “หนึ่งในภารกิจหลักของ CEA คือการกระจายองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สู่ส่วนภูมิภาค เราตั้งใจจะสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับท้องถิ่น กิจกรรมอันหลากหลายที่ใช้กระตุ้นองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัดจึงต้องเกิดขึ้นด้วย” พิชิต วีรังคบุตร รองผู้อำนวยการ CEA หนึ่งในหัวเรือใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนที่ว่า กล่าวSCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่เพิ่งประกาศธีมในการจัดงานในชื่อ SCALING LOCAL : Creativity, Technology and Sustainability พร้อมรายชื่อของเหล่านักสร้างสรรค์ที่เข้าร่วมเทศกาลในวันที่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 นี้ไป ในฐานะที่พิชิตคือหนึ่งในกรรมการคัดสรร และผู้ร่วมร่างแนวคิดหลักของเทศกาลในปีนี้ เราจึงชวนเขาพูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังและความคาดหวังที่จะได้เห็นเทศกาลใหญ่ในปลายปีนี้ “ตามชื่อของธีมเลยครับ SCALING LOCAL คือแนวคิดที่เราอยากเทียบสเกลของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ท้องถิ่นในภาคเหนือกับความเป็นสากล ซึ่งที่ผ่านมา เราพบว่ามีผลงานของนักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในภาคเหนือไม่ใช่น้อยที่มีมาตรฐานในระดับสากล เช่นเดียวกับการเห็นแนวโน้มศักยภาพของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถไปถึงตลาดต่างประเทศได้ “ส่วนคำว่า Creativity, Technology และ Sustainability ผมมองว่ามันเป็นองค์ประกอบของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อยู่แล้ว โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เชียงใหม่ดีไซน์วีกก็ได้ใช้องค์ประกอบนี้ในการจัดงานมาตลอด เพียงแต่ครั้งนี้ เรานำ 3 คำนี้มาไฮไลท์ให้เด่นชัดขึ้น ยิ่งเมื่อพิจารณากับบริบทของยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งเราจะยึดโยงอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือต้นทุนของความเป็นเมืองหัตถกรรมของภาคเหนืออย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยี (Technology) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่า รวมถึงการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้ผลงานสร้างสรรค์ที่ผสานกับเทคโนโลยีแล้วให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งในบริบทของสิ่งแวดล้อม และโมเดลของการทำธุรกิจ” พิชิต เล่า “ในอีกแง่มุม ผมมองว่า Scaling Local มันคือการทำห้องทดลองด้านความคิดสร้างสรรค์ด้วย เพราะอันที่จริง การคัดสรรผลงานมาจัดแสดงในเทศกาลฯ เราไม่ได้มองว่าผลงานทั้งหมดคือผลสำเร็จของนักออกแบบหรือผู้ประกอบการ แต่เป็นการทำให้ผู้ชมได้เห็นกระบวนการสร้างสรรค์ระหว่างทางที่ชวนให้ทุกคนนำไปคิดต่อยอดหรือเป็นแรงบันดาลใจ บางผลงานที่ได้จัดแสดงอาจอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา เราก็อาจช่วยเขาคิดต่อ รวมถึงการได้จัดแสดงในเทศกาลฯ ผ่านสายตาของผู้ชมที่หลากหลาย เหล่านี้มันมีผลต่อการยกระดับงานออกแบบของผู้เข้าร่วมงานอย่างเห็นได้ชัด “ซึ่งสิ่งนี้แหละคือหัวใจสำคัญ เราไม่ได้จัดดีไซน์วีกขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองความสวยงามของเมือง หรือแค่ทำนิทรรศการเท่ ๆ หรือวางประติมากรรมสวย ๆ ไว้ตามจุดต่าง แต่มันเป็นการทดลองความคิดสร้างสรรค์หรือความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผู้ที่มาร่วมแสดงงาน อย่างที่คุยเมื่อกี้ เครื่องยนต์อะไรที่มันทำงานอยู่แล้วในเมือง ก็ให้ทำงานต่อไปเถอะ หน้าที่ของเทศกาลฯ คือการเชื่อมหรือสร้างให้เกิดเครื่องยนต์ใหม่ ๆ ให้มาช่วยขับเคลื่อนเมือง “อย่าลืมว่าเทศกาลมันมีแค่ 9 วัน สิ่งสำคัญคือหลังจากนั้นต่างหากว่ามันจะไปตั้งคำถามหรือเปิดประเด็นอะไรต่อให้กับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง แต่ระหว่าง 9 วันนั้น เราก็จำเป็นต้องเปิดศักยภาพของเมืองให้เต็มที่ ให้เห็นว่าย่านไหน ซอยไหน หรือพื้นที่ไหนมันสามารถไปต่อยอดเศรษฐกิจของเมืองได้ “ยกตัวอย่างนิทรรศการ Upper Floor ปีที่แล้ว ที่ช่วยจุดประกายการรับรู้การใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ในย่านการค้า ซึ่งมันอาจมารับมือความท้าทายเรื่องค่าเช่าที่นับวันจะสูงขึ้นทุกทีในย่านการค้าซึ่งเป็นแบบนี้เหมือนกันทั่วโลก เพราะความสำคัญของเทศกาลคือเรื่องนี้ การสำรวจศักยภาพของท้องถิ่น หาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และหาวิธีหนุนเสริมด้วยปัจจัยต่าง ๆ ให้ความเป็นไปได้นั้นสามารถแก้ปัญหาของเมือง หรือทำให้ผู้คนในเมืองนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มันจึงต้องดูทำกันต่อไป และคิดกับมันต่อไป” พิชิต กล่าวทิ้งท้าย
12 Oct BBBB
เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี
เมื่อศิลปินเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองด้วยเสียงดนตรี: สนทนากับ ชา – สุพิชา เทศดรุณ Chiang Mai Originalตลอดเวลาหลายสิบปีที่แวดวงดนตรีอินดี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีความเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ๆ แล้วเกิดขึ้นมาจากการมีชายผมยาวคนนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ชา-สุพิชา เทศดรุณ หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า “ชา ฮาโม” เป็นสมญาที่มาจากชื่อวงเก่าของเขาอย่าง Harmonica Sunriseชา เป็นชายหนุ่มที่มีใจรักในเสียงเพลงจากจังหวัดนครสวรรค์ที่ย้ายเข้ามาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยที่จังหวัดเชียงใหม่ เขาฟอร์มวงกับเพื่อน ๆ ผลิตผลงานเพลงของตนเองออกสู่สายตาผู้ฟังทั้งในนามวง Harmonica Sunrise วงคณะสุเทพการบันเทิง และผลงานเดี่ยวในนาม ChaHarmo นอกจากการสร้างผลงานของตนเอง ชายังคอยเป็นคนกลางประสานจัดงานดนตรีต่าง ๆ ภายในจังหวัด และล่าสุดกับการเคลื่อนไหวในนาม Chiang Mai Original ที่มีบทบาทเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้วงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีโอกาสแสดงผลงานให้คนรู้จักการคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีมาเป็นเวลานาน และมีโอกาสได้เดินทางไปร่วมงานดนตรีในต่างประเทศ ทำให้ชาได้เห็นตัวอย่างว่า ที่ต่างประเทศเขาสามารถใช้ดนตรีเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้ และสิ่งที่เขาเห็นนี้กลายเป็นความฝันที่เขาตั้งใจว่าจะกลับมาทำกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้ดนตรีนี่แหละเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ กระทั่งเกิดเป็นงาน High HO Chiang Mai (ไฮโฮะ เชียงใหม่) ที่เขาและเพื่อน ๆ ตั้งใจจะใช้ดนตรีเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจของเชียงใหม่ในช่วงหน้าฝนที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของจังหวัด โดยนำวงดนตรีเชียงใหม่กระจายไปเล่นตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อชักชวนให้คนได้มาเที่ยวเชียงใหม่และรับชมดนตรีไปในตัว โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึง วันที่ 30 ตุลาคม 2567“ไอเดียการทำเทศกาล High Ho Chiang Mai จริง ๆ มันเริ่มต้นมาจากการที่เราเคยทํางานดนตรีเพื่ออย่างอื่นมาเยอะแล้ว คราวนี้เราอยากจะลองทําดนตรีเพื่อดนตรีดูบ้าง มันเป็นความคิดที่อยู่ในใจเรามานานแล้ว คือ ที่เชียงใหม่เรามีวงดนตรีเจ๋ง ๆ เยอะมากเลย แต่กว่าที่ผลงานของพวกเขาจะดังได้ปรากฏว่าวงพวกนี้ต้องไปอยู่ที่กรุงเทพฯ ตลอดเลยถึงจะมีโอกาส แต่เราก็จะเห็นว่า หลาย ๆ คนก็ยังอยากที่จะอยู่เชียงใหม่ ประกอบกับปัจจุบันเราเห็นว่ามีวงดนตรีเกิดขึ้นในเชียงใหม่จำนวนมากเลย งั้นเราจะทำยังไงได้บ้างถึงจะทำให้วงดนตรีเหล่านี้สามารถผลิตผลงานอยู่ที่เชียงใหม่ได้ เราก็เลยก่อตั้ง Chiang Mai Original ขึ้นมาChiang Mai Original ที่ชาก่อตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่สนับสนุนให้ธุรกิจดนตรีในเชียงใหม่เกิดความเป็นยั่งยืน โดยเข้าไปสนับสนุนและช่วยนำเสนอผลงานของนักดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ที่ผลิตผลงานของตนเอง และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเข้าไปประสานงานให้เกิดงานที่เปิดเวทีให้ศิลปินที่ผลิตผลงานเพลงของตนเองได้มีที่ได้นำเสนอผลงานของพวกเขา เช่น งาน CHIANG MAI SECRET ของ One Nimman ที่จัดเป็นประจำช่วงปลายปี ที่ชาเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดแสดงดนตรีเปิดเวทีให้ศิลปินเชียงใหม่ได้นำเสนอผลงานตนเองภายในงาน, เทศกาลดนตรี Chiangmai Ho! Fest. ที่ Chiang Mai Original รวบรวมวงดนตรีจำนวนมากจากเชียงใหม่มาแสดง ซึ่งจัดขึ้นมา 4 ปีแล้ว นอกจากนั้นชายังมีโอกาสได้ไปร่วมแข่งขันในงานเทศกาลดนตรีเปิดหมวกโลก 2024 GWANGJU BUSKING WORLDCUP FESTIVAL ที่ทางเมืองกวางจูประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นเพื่อใช้ดนตรีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของเมืองเขาทั้งนี้ การได้ไปร่วมและเห็นประโยชน์ของงานเทศกาลเปิดหมวกนี้ทำให้เมื่อกลับมาเชียงใหม่ ชาได้ร่วมมือกับทำทาง CEA Chiangmai (Creative Economy Agency) จัดงาน Chiang Mai Busking หรือ ‘เทศกาลเชียงใหม่เปิดหมวก’ ที่พานักดนตรีกระจายไปเล่นตามสถานที่ในย่านต่างๆ ของเมืองเชียงใหม่ นอกจากให้นักดนตรีได้มีที่แสดงผลงานแล้วยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้คนได้มีโอกาสไปเที่ยวในย่านต่าง ๆ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ เป็นต้นนอกจากการจัดงานต่าง ๆ ไม่นานมานี้ชากับกลุ่มพี่น้องนักดนตรียังได้รวมตัวกันเป็น เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ ขึ้นมา โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันกับทุก ๆ ฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงดนตรีเชียงใหม่ โดยประชุมกันในวาระต่าง ๆ ของแต่ละเดือนเพื่อนำข้อมูลจากทุกฝ่ายมาดูว่า อุตสาหกรรมดนตรีเชียงใหม่ตอนนี้แต่ละฝ่ายกำลังเจอปัญหาอะไร และจะสามารถร่วมกันผลักดันดนตรีเชียงใหม่ให้ดีขึ้นต่อไปได้อย่างไร ทั้งความเป็นอยู่ของศิลปิน คุณภาพงานของศิลปิน สถานที่จัดแสดงต่าง ๆ และเมื่อคนดนตรีเชียงใหม่แข็งแรงแล้ว ก็จะนำไปสู่การใช้ดนตรีช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ต่อไปได้การเกิดขึ้นของ เครือข่ายคนดนตรีเชียงใหม่ นี้ทำให้เกิดการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับแวดวงดนตรีในจังหวัดเชียงใหม่ และมีการจัดทำฐานข้อมูลศิลปินในจังหวัดเชียงใหม่ที่แต่ละวงสามารถเข้าไปลงทะเบียนและฝั่งผู้จัดสามารถเข้าไปดูข้อมูลของศิลปินได้ผ่านทางเว็บไซต์ของ Chiang Mai Original“ในช่วงหน้าฝนที่ผ่านมา เครือข่ายฯ มีการประชุมหารือกันว่า ในช่วงหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นของเชียงใหม่นั้น เราพบว่าเศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่มันซบเซา คนมาเที่ยวใช้จ่ายกันน้อย ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อตัวแวดวงดนตรีโดยตรงด้วย และช่วงฤดูฝนก็มักจะไม่ค่อยมีงานเทศกาลอะไรจัดให้นักดนตรีได้ไปเล่น ทุกคนก็ขาดรายได้ เราก็เลยคิดร่วมกันขึ้นมาว่า น่าจะลองใช้เทศกาลดนตรีเป็นตัวกระตุ้นชวนคนให้มาเที่ยวเชียงใหม่กันในฤดูกาลนี้ดูนะ ก็เลยตั้งชื่องานนี้ว่า High Ho Chiang Mai“โดยตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนของ High Ho Chiang Mai จะมีงานดนตรีกระจายกันไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อใช้ดนตรีเป็นแสงช่วยส่องให้ผู้คนได้ลองไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันนักดนตรีเชียงใหม่ก็จะได้มีงานเล่นกันในช่วงหน้าฝนนี้ด้วย“เราว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่นะ และเชียงใหม่เองก็มีชื่อเสียงจากวงดนตรีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในจังหวัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เราว่ามันเป็นจุดขายหนึ่งของจังหวัดได้เลย ถ้าเราช่วยกันทำให้ดนตรีเชียงใหม่แข็งแรง คนเชียงใหม่เป็นผู้จัดงานเทศกาลดนตรีต่าง ๆ กันเอง เราเชื่อว่าดนตรีจะช่วยดึงดูดให้คนมาที่เชียงใหม่ได้ ซึ่งเราเห็นตัวอย่างกันมาแล้วมากมายจากต่างประเทศ และเราเชื่อว่าเชียงใหม่เองมีความเป็นไปได้ เราฝันอยากจะเห็นภาพนั้นกับที่นี่” ชา กล่าวสำหรับผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารของ Chiang Mai Original สามารถติดตามได้ที่เพจ Chiang Mai Original (https://www.facebook.com/cnx.og.live) หรือ https://chiangmaioriginal.com/ และสำหรับคนที่สนใจอยากมาร่วมเทศกาลดนตรี High Ho Chiang Mai ในช่วงหน้าฝนสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง https://linktr.ee/highhofest
12 Oct BBBB
งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567
งานสัมมนาผู้ร่วมจัดงาน (Exhibitors seminar) เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 สร้างแรงบันดาลใจให้นักออกแบบเมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ จัดงานสัมมนาสุดพิเศษสำหรับผู้ร่วมจัดแสดงในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปลดล็อคพลังสร้างสรรค์: รู้ลึกกฎหมายสำหรับนักออกแบบ โดย ทีม EasyLaw” ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อนักออกแบบที่ต้องการพัฒนาผลงานของตนให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ ยังมีบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Exhibition Tips and Tricks โดย คุณอมรเทพ คัชชานนท์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ A.M.O Intergroup” ที่จะช่วยให้นักออกแบบทุกคนสามารถนำเสนอผลงานของตนได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567: ฉลองพลังสร้างสรรค์ของท้องถิ่นเตรียมพบกับเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 ภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 7-15 ธันวาคม 2567 ณ อาคาร TCDC เชียงใหม่ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมืองเชียงใหม่ มาร่วมสัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษกับผลงานสร้างสรรค์จากนักออกแบบ นักศิลปะ และชุมชนท้องถิ่น พบกับกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ นิทรรศการ งานเวิร์กช็อป การแสดง ดนตรี ศิลปะ ตลาด POP Marketติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:เว็บไซต์: https://www.chiangmaidesignweek.comเฟซบุ๊ก: Chiang Mai Design Week#ChiangMaiDesignWeek2024 #CMDW2024 #ScalingLocal
04 Oct BBBB
สิหมะ วัตถุดิบรสเปรี้ยวแห่งความยั่งยืนจากชนเผ่าอาข่า
สิหมะ คือ ผลไม้ออกผลเป็นพวงลูกเล็ก ๆ ที่ให้รสเปรี้ยวเฉพาะตัว เป็นพืชยืนต้นที่ขึ้นอยู่บนดอยสูง และเป็นพืชสำคัญทางวัฒนธรรมของ อาข่า ที่ มะเป้ง-พงษ์ศิลา คำมาก เจ้าของโปรเจกต์ Sansaicisco และหนึ่งในสมาชิกเครือข่าย Slow Food ที่ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม มะเป้งมีโอกาสไปค้นพบ สิหมะ ในหมู่บ้านอาข่า จากการไปเที่ยวหาเพื่อนของเขาอย่าง ลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟชื่อดัง Akha Ama และทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผลไม้จากดอยสูง จากข้อมูลที่มะเป้งได้รับจากเพื่อนชาวอเมริกาใต้ในเครือข่าย Slow Food เขาพบว่าตอนนี้ที่อเมริกาใต้กำลังมีการเรียกร้องทวงคืนแม่น้ำขึ้น เนื่องจากเกิดการรณรงค์ให้ปลูกอะโวคาโด ขึ้นจำนวนมากเพื่อตอบรับกับกระแสความนิยมที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งจากข้อมูลอะโวคาโด ถือเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในการปลูกเยอะมากที่สุด มากเสียยิ่งกว่า มะนาว หรือ ข้าวโพด ด้วยซ้ำ การที่อยู่ดี ๆ มีการสนับสนุนให้เกิดการปลูกอะโวคาโด ขึ้นเป็นจำนวนมากจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ปลูก และกลายเป็นปัญหาอย่างมากที่อเมริกาใต้ ซึ่งต่อมาทางประเทศไทยเองก็ได้เริ่มมีการรณรงค์ให้เกิดการปลูกผลไม้ชนิดนี้ขึ้น ซึ่งมะเป้งกลัวว่าปัญหาที่เขาได้รับรู้จากเครือข่าย Slow Food กำลังจะเกิดขึ้นที่ประเทศของเขาด้วยเช่นกัน มะเป้งจึงอยากที่จะลองมองหาทางเลือกอื่น ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงความเป็นอยู่ของผู้ปลูกได้ จนได้มาเจอกับ สิหมะ เข้า‘สิหมะ’ เป็นพืชท้องถิ่นของชาวอาข่า ที่สามารถเติบโตได้ง่ายในพื้นที่หมู่บ้านอาข่าบนดอยสูง ทุก ๆ บ้านของชาวอาข่าต่างก็มีต้นสิหมะขึ้นแทรกอยู่ร่วมกับต้นพืชผลอื่นๆ ในไร่ และเป็นพืชยืนต้นที่สามารถเก็บเกี่ยวและไม่ต้องโค่นทิ้งได้ วัฒนธรรมของชาวอาข่าเองก็ผูกพันกับสิหมะอย่างแนบชิด “ผมพบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เขาจะมีความเชี่ยวชาญในพืชทำกินตามระดับความสูงที่เขาอยู่ ปกาเกอะญอ เขาถนัดปลูกพืชไร่ อย่าง ข้าว เป็นต้น เขาก็จะอยู่ในระดับความสูงที่ไม่เกิน 900 เมตร ส่วนอาข่าสาเหตุที่เขาเชี่ยวชาญด้านกาแฟก็เพราะว่า เขาจะอยู่อาศัยกันที่ระดับความสูง 1,000 – 1,500 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ต้นกาแฟสามารถเติบโตและให้ผลคุณภาพดี ทีนี้เขาจะรู้ได้ยังไงว่าเขาอยู่ในระดับความสูงที่เขาต้องการ คำตอบก็คือ สิหมะ เพราะสิหมะเป็นต้นที่เติบโตได้ดีในระดับความสูงเดียวกันนี้ ดังนั้น ชาวอาข่าอาศัยอยู่ที่ไหนตรงนั้นต้องสามารถปลูกต้นสิหมะได้ สิหมะจึงทำหน้าที่เป็นตัวบ่งชี้ระดับความสูงของอาข่า และบรรพบุรุษของพวกเขายังได้ผูกสิหมะไว้กับวัฒนธรรมของอาข่าด้วย“เวลาคู่แต่งงานอาข่าจะไปสร้างเรือนหอของตนเอง เขาจะต้องนำสิหมะไปปลูกก่อน ถ้าสิหมะโตได้เขาจึงจะสามารถปลูกเรือนหอที่ตรงนี้ต่อไปได้ เพราะว่าเมื่อพวกเขามีลูก เขาจะต้องเด็ดใบสิหมะมาต้มน้ำและนำลูกไปอาบในน้ำต้มสิหมะ เด็กคนนั้นจึงจะถือว่าเป็นชาวอาข่าโดยสมบูรณ์ เวลามีใครป่วยไข้ในอดีตชาวอาข่าก็มีความเชื่อว่าให้เด็ดกิ่งสิหมะมาปัดตามตัวผู้ป่วย จะสามารถไล่โรคร้ายออกไปได้ นอกจากความสำคัญทางวัฒนธรรม สิหมะยังเป็นวัตถุดิบที่อาข่านำมาใช้ปรุงอาหารต่าง ๆ โดยเฉพาะนำมาหมักกับปลาก่อนนำไปห่อใบตองย่างไฟ เป็นต้น”ความผูกพันของอาข่ากับสิหมะที่อยู่คู่กันมาช้านาน ทำให้อาข่ามีความเชี่ยวชาญในการจัดการกับต้นสิหมะ และทุกบ้านก็มีต้นสิหมะของตนเองอยู่แล้ว นอกจากนั้นกระบวนการเก็บเกี่ยวสิหมะของอาข่า เขาจะนำสิหมะมาตากให้แห้งใต้ถุนบ้านก่อนนำมาใช้ ทำให้สิหมะนั้นไม่เสียง่ายเหมือนพืชผลอื่น ๆ ที่มีข้อจำกัดทางด้านเวลา และทำให้ชาวบ้านเสียเปรียบเวลาไปต่อรองขายกับพ่อค้าคนกลาง ซึ่งสิหมะไม่มีปัญหาทางด้านเวลาตรงนี้เพราะสามารถเก็บไว้ใช้ได้เป็นเวลานาน ชาวอาข่าเองก็มีความพร้อมมากอยู่แล้วถ้ามีการเข้าไปส่งเสริมให้ สิหมะเป็นที่รู้จักและถูกคนในเมืองนำไปใช้ปรุงอาหารของตนเอง ดีกว่านำพืชต่างถิ่นเข้าไปสนับสนุนและชาวบ้านต้องไถต้นไม้พืชผลเดิมของพวกเขาทิ้งเพื่อปลูก ด้วยเหตุนี้สองปีที่แล้ว มะเป้งเลยตัดสินใจเข้ามาช่วยผลักดันให้สิหมะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นมะเป้งเริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมชวนผู้คนในเมืองเดินทางไปเรียนรู้เรื่องสิหมะจากผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็คือชาวอาข่าบนดอย และเชิญเชฟลองนำสิหมะมาทดลองทำเป็นอาหารเมนูต่างๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของวัตถุดิบชนิดนี้ ก่อนที่ต่อมาเขาจะนำสิหมะไปเข้าห้องทดลองด้าน Sensory กับ ผศ. ดร.อุศมา สุนทรนฤรังษี อาจารย์ประจำคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อถอดส่วนประกอบของสิหมะออกมาว่า ให้ความเปรี้ยวแบบไหน และเหมาะที่จะนำไปปรุงกับอะไร ในอุณหภูมิเท่าไรบ้าง เพื่อที่มะเป้งจะได้นำข้อมูลชุดนี้มาทำเป็นไกด์บุ๊กเบื้องต้นสำหรับการใช้สิหมะเป็นวัตถุดิบ เพื่อที่เขาจะได้สามารถแนะนำให้กับผู้คนต่างๆ ที่สนใจจะใช้สิหมะประกอบอาหารได้ต่อมา CEA ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนร่วมกับมะเป้งในการผลักดันสิหมะให้กลายเป็นวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถสร้างเป็นมูลค่าของเชียงใหม่ได้ จนเกิดเป็นกิจกรรมชวนผู้ประกอบการด้านอาหารร้านต่าง ๆ ลองนำสิหมะไปสร้างสรรค์เป็นเมนูต่าง ๆ และนำมาวางขายในช่วงเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiangmai Design Week 2023) เพื่อให้คนทั่วไปได้ลองชิมและทำความรู้จักกับวัตถุดิบนี้ให้มากขึ้น เช่นร้าน Madae Slow Fish ร้านที่สนับสนุนปลาจากชาวประมงท้องถิ่น ได้ลองนำสิหมะมาผสมกับเกลือทาลงบนตัวปลาล่อปัดขณะย่าง ปลาที่พวกเขาได้มาจากชาวประมงท้องถิ่นที่ปัตตานีร่วมกับวัตถุดิบจากท้องถิ่นเชียงใหม่ร้าน Helo Cola ที่ทำคราฟต์โคล่า ได้ลองนำสิหมะไปใช้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบร่วมกับการทำโคล่าจนได้โคล่ากลิ่นหอมจากสิหมะ ที่มีรสและกลิ่นหอมเฉพาะตัวที่มาจากวัตถุดิบท้องถิ่นภาคเหนือ ไม่ได้ด้อยไปกว่าโค้กกลิ่นซากุระ ที่เป็นโค้กพิเศษที่ญี่ปุ่นจะผลิตขึ้นในช่วงดอกซากุระบานร้าน Adirak Pizza ที่เชี่ยวชาญได้การชูวัตุดิบผ่านเมนูพิซซ่าและชีส ได้ลองนำสิหมะมาทำเป็นเมนู Age Fresh Cheese ที่คลุกผิวนอกด้วยสิหมะเสิร์ฟพร้อมน้ำผึ้งป่าบาร์แจ๊ส อย่าง Noir ที่ได้แรงบันดาลใจขนมของชาวอาข่า นำสิหมะมาผสมผสานกับน้ำผึ้ง น้ำกะทิ และไข่ขาวทำเป็นเมนูม็อกเทล ชื่อ Ja-Rare และอีกเมนูค็อกเทลที่ลองนำ สิหมะมา Infuse กับจิน (Gin) เป็นหนึ่งในส่วนผสม เป็นเมนู Long islayBar.san ที่ลองนำสิหมะมา infuse กับโซดาก่อนผสมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำเป็นเมนู High Ball ที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวชื่อ San-Maภายหลังจากการลองนำสิหมะไปให้ร้านต่าง ๆ ได้ลองนำไปทดลองประกอบเป็นเมนูที่ทางร้านเชี่ยวชาญ ก็ได้มีการนัดประชุมกันที่ TCDC Chiang Mai เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้และปัญหาของวัตถุดิบสิหมะ เพื่อที่จะหาแนวทางดำเนินการส่งเสริมต่อไปทุกคนมองเห็นความเป็นไปได้และมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการส่งเสริมวัตถุดิบท้องถิ่นชนิดนี้ ที่สำคัญยังเป็นการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของชาวอาข่าในท้องถิ่นได้อีกด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปมะเป้งจะเชิญนักเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์หาราคากลางของ สิหมะ ดูว่าควรจะตั้งในราคาเท่าไหร่ โดยมะเป้งตั้งใจที่จะให้คนทั่วไปสามารถจับต้องได้มากที่สุด ไม่ใช่การทำให้มันเป็นวัตถุดิบหายาก ที่ถูกใช้เฉพาะในร้านอาหารแพง ๆ เท่านั้น“ผมมีความฝันว่าสิหมะจะกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่เป็นกระปุกอยู่ในครัวของผู้คน เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่คุณก็สามารถใช้ได้นะ และมันมาจากท้องถิ่นของเราด้วย ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ ซึ่งผมตั้งใจว่าโปรเจกต์การส่งเสริมนี้ ผมจะไม่เป็นคนขาย ผมตั้งใจส่งเสริมมันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าใครสนใจติดต่อมา ผมจะทำหน้าที่เป็นคนบอกแหล่งซื้อให้ ทุกคนจะได้ไปซื้อไปสนับสนุนกับชุมชนอาข่า เป็นประโยชน์กับพวกเขาโดยตรงได้เลย ผมแค่อยากเห็นพืชท้องถิ่นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ และสักวันหนึ่งถ้าเกิดพืชท้องถิ่นที่ชาวปลูกกันอยู่ในสวนอยู่แล้วสัก 10 ตัว มีคนสนับสนุน ชาวบ้านที่ปลูกก็จะมีรายได้จากพืชท้องถิ่น ชีวิตพวกเขาก็จะมั่นคงขึ้น ไม่ต้องไปไถต้นไม้เดิมๆ เพื่อเอาพืชต่างถิ่นมาปลูก ซึ่งจะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตรงนั้นที่เป็นป่าต้นน้ำด้วย อีกอย่างถ้าพืชท้องถิ่นนั้นอยู่ในวัฒนธรรมของเขา พวกเขาก็จะมีความภาคภูมิใจในตัวตนของเขา เมื่อมีคนได้เห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขามี ผมเชื่อว่า สิหมะ จะเป็นแบบนั้นได้” มะเป้ง กล่าวทิ้งท้าย
01 Oct BBBB
เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’
Residency Program: Overseas Creators Collaboration เมื่อนักสร้างสรรค์ Homecoming จับมือศิลปินต่างแดน ปั้น ‘ข้าว’กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ (Homecoming Creators and Oversea Creators Collaboration In Residency program) คือ โครงการศิลปินพำนัก ที่ CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ Japan Foundation และ Taiwan Designers’ Web ยกระดับเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่เวทีนานาชาติ ผ่านการเชิญนักสร้างสรรค์งานเซรามิกจากประเทศญี่ปุ่น และไต้หวัน มาใช้ชีวิต เรียนรู้ และพัฒนาผลงานร่วมกันกับสตูดิโอท้องถิ่นที่เชียงใหม่ พร้อมทั้งจัดแสดงผลงานที่เกิดจากการเรียนรู้ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนด้วยกัน (สิงหาคม – กันยายน 2567) ภายใต้โจทย์เรื่อง ‘Start from the Rice ’ จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และมูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) นักสร้างสรรค์จากต่างแดนที่มาร่วมโครงการมีด้วยกัน 2 คน ได้แก่ มูเนอากิ อิวาชิตะ (Muneaki Iwashita) ศิลปินเซรามิก และทายาทรุ่นที่ 6 ของ Iwashita Pottery แห่งเมืองมาชิโกะ (Mashiko) ประเทศญี่ปุ่น และ ลิเดีย (Chia, Hsun-Ning) ศิลปินเซรามิก และผู้จัดการ Nie Studio เมืองไทเป ไต้หวัน โดยทั้งสองได้พำนักที่ อินเคลย์ สตูดิโอ (In-Clay Pottery) ของ ชิ-จิรวงษ์ วงษ์ตระหง่าน และชามเริญ สตูดิโอ (Charm Learn Studio) ของ มิก-ณัฐพล วรรณาภรณ์ ตามลำดับ Chia, Hsun-Ning และ ณัฐพล วรรณาภรณ์พร้อมไปกับการแลกเปลี่ยนแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์จากญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย เจ้าบ้านอย่างมิกและชิยังรับหน้าที่เป็นไกด์อาสา พาแขกรับเชิญเยี่ยมชมย่านสร้างสรรค์และแหล่งผลิตงานเซรามิกชั้นนำในภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของเชียงใหม่ ที่หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ และพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ในย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ หมู่บ้านเหมืองกุง แหล่งผลิตน้ำต้น-เครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ของคนในภาคเหนือ รวมถึงโรงงานเซรามิกชั้นนำอย่าง โรงงานธนบดี ในจังหวัดลำปาง Earth & Fire เชียงใหม่ และสตูดิโอของศิลปินอีกมากมายทั่วเมืองไม่เพียงเท่านั้น ในโปรแกรม Residency ครั้งนี้ พวกเขาทั้ง 4 ยังได้รับโจทย์ให้สร้างสรรค์ผลงานเครื่องปั้นดินเผาชุดใหม่ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Start from the Rice’ ซึ่งจัดแสดงที่ Anantara Chiang Mai Resort เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาเริ่มจาก มูเนอากิ ที่นำความประทับใจจาก ‘ห่อตอง’ (ห่อใบตอง) ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมสำหรับใส่ข้าวเหนียวและอาหารอื่น ๆ ของคนภาคเหนือ มาพัฒนาเป็นงานเซรามิก ก่อนจะตกแต่งด้วยประติมากรรมช้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ และประติมากรรมสมเสร็จ สัตว์ที่คนญี่ปุ่นเชื่อว่าจะสามารถดูดกินฝันร้ายได้ โดยสมเสร็จยังเป็นซีรีส์งานปั้นที่ มูเนอากิได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องให้กับ Iwashita Pottery ที่บ้านเกิดของเขาอีกด้วย “ผมเพิ่งเคยได้เห็นห่อใบตองเมื่อมาที่เมืองไทยนี่แหละ มันเป็นทั้งภาชนะ และบรรจุภัณฑ์ใส่อาหารที่น่าทึ่งไม่น้อย ผมรู้สึกประทับใจในฟังก์ชั่นอันเรียบง่าย และความชาญฉลาดของคนท้องถิ่นที่ประยุกต์วัสดุธรรมชาติมาเป็นภาชนะอย่างยั่งยืน จึงทดลองนำรูปทรงของมันมาใช้กับงานปั้น โดยยังคงรักษาฟังก์ชั่นดั้งเดิมในการใส่อาหารได้อยู่ ขณะเดียวกัน ก็อยากทำให้งานชิ้นนี้มันสามารถเป็นของที่ระลึกและของตบแต่งได้ด้วย จึงใส่สัญลักษณ์ของสัตว์จากเชียงใหม่และบ้านเกิดผมเข้ามา ซึ่งก็ช่วยลดทอนความทึบและหนาของชิ้นงานหลักได้ดี” Muneaki กล่าวขณะที่ ชิ-จิรวงษ์ ผู้เปิดอินเคลย์ สตูดิโอ ให้ Muneaki พำนัก เลือกนำเสนอชุดงานเซรามิกภายใต้แนวคิด Rice Grains: Farming, Cooking and Forming (กระบวนการผลิตข้าวแบบประเพณี การจัดสำรับในมื้ออาหารที่ประกอบไปด้วยอาหารที่หลากหลาย และรูปร่างของเมล็ดและจมูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน) ปรากฏในรูปของถ้วยชามรูปทรงเมล็ดข้าวแบบผ่าครึ่งหลากหลายขนาด ซึ่งใช้กระบวนการเคลือบพื้นผิวให้มีสีขาวนวลและมันวาวเฉกเช่นกับเมล็ดข้าวของจริง “ผมสนใจกระบวนการลงแขก เก็บเกี่ยวข้าวของชาวนาที่สะท้อนความร่วมแรงร่วมใจ และความสัมพันธ์ของผู้คนในท้องถิ่น และนอกจากการจำลองรูปลักษณ์ของเมล็ดข้าว ผมยังเลือกที่จะทำภาชนะใส่อาหารหลายรูปทรง ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมการกินอาหารร่วมกันของคนไทยไปพร้อมกัน” ชิ กล่าวด้วยความประทับใจที่ได้เห็นตะกร้าพลาสติกสำหรับใส่ขนมจีน ในร้านขนมจีนริมทางที่กาดหลวง ลิเดีย นักสร้างสรรค์จากไต้หวันที่เข้าพักและผลิตผลงานที่ชามเริญ สตูดิโอ จึงนำรูปทรงดังกล่าวมาพัฒนาร่วมกับเทคนิคการทำเซรามิกสาน อันคล้ายคลึงกับผลงานสร้างชื่อของเธอเองอย่าง Fiber Ceramic ที่เธอนำเชือกมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานเครื่องปั้นดินเผา ไม่เพียงเท่านั้น ลิเดียยังนำเสนอซีรีส์งานประติมากรรมที่เกิดจากการทดลองนำเมล็ดข้าวมาเป็นวัตถุดิบร่วมในงานปั้น อาทิ ถ้วยชามที่เกิดจากการนำเมล็ดข้าวมาคลุกกับเนื้อดินก่อนขึ้นรูปและเข้าเตาเผา การนำเมล็ดข้าวมาประดับตกแต่งบนพื้นผิว และชุดงานประติมากรรมที่ใช้เมล็ดข้าวมาสร้างเลเยอร์ซ้อนทับ เป็นต้น “การใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่เกือบหนึ่งเดือน ทำให้ฉันประทับใจเสน่ห์ที่เกิดจากความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนที่นี่ รวมถึงการผสมผสานความเก่า-ใหม่ คละเคล้ากันในชิ้นงานและพื้นที่สร้างสรรค์ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง และความที่ฉันสนใจในการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากการผสมผสานวัสดุอยู่แล้ว การได้มาที่นี่ ก็ทำให้ยิ่งรู้สึกสนุกกับการทำงานมากขึ้นไปอีก” ลิเดีย กล่าวปิดท้ายที่มิก แห่ง ชามเริญ สตูดิโอ ที่นำความประทับใจจากวัฒนธรรมกินข้าวเหนียวด้วยมือของคนภาคเหนือ (และวัฒนธรรมร่วมของคนอาเซียน) มาผสานกับลูกเล่นสนุก ๆ ที่เขาประยุกต์มาจากเครื่องประดับสอดนิ้วสำหรับการฟ้อนเล็บของช่างฟ้อนล้านนา จนเกิดเป็นซีรีส์เซรามิก ‘เล่น-กิ๋น-แต้’ (Journey with Sticky Rice) ที่มิกนำเสนอชุดภาชนะสำหรับการรับประทานอาหารที่ชวนให้ผู้ใช้สอดนิ้วเข้าไป “จริง ๆ สตูดิโอของผมก็อยู่ริมทุ่งนาอยู่แล้ว แต่การได้ย้อนกลับมาสำรวจวิถีชีวิตและแวดวงศิลปวัฒนธรรมในเชียงใหม่บ้านเกิดของผมเองอีกครั้งตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผมกลับมามองวัฒนธรรมการกินข้าว โดยเฉพาะการกินข้าวเหนียวของคนเมืองในมุมใหม่ เลยอยากนำเสนอความสนุกจากการกิน และการประยุกต์รูปแบบการจัดอาหารท้องถิ่น ที่สอดคล้องกับภาชนะในจินตนาการนี้” มิก นักออกแบบที่สร้างชื่อจากการนำแรงบันดาลใจในวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย มาพัฒนาเป็นงานเซรามิกร่วมสมัย กล่าวเหล่านี้คือบางส่วนของผลลัพธ์จากนักสร้างสรรค์ 4 คน จาก 3 ประเทศ ที่เข้าร่วมโครงการ กิจกรรมส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักสร้างสรรค์คืนถิ่นและนักสร้างสรรค์ในพำนักจากต่างประเทศ โดย CEA ซึ่งแน่นอน หาใช่การได้มาแค่ผลงานชุดใหม่ ที่นักออกแบบจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นสินค้าเพื่อวางจำหน่ายต่อไป (รวมถึงจะถูกนำไปจัดแสดงใน Chiang Mai Design Week 2024 เดือนธันวาคมนี้) หากการได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานร่วมกันตลอดเกือบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ก็นับเป็นเชื้อไฟชั้นดีให้พวกเขานำไปต่อยอดเป็นผลงานในโปรเจกต์ใหม่ ๆ ต่อไป ที่สำคัญและอย่างไม่อาจปฏิเสธ กิจกรรมครั้งนี้ยังเผยให้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม และเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์บ้านเรา ค้นพบที่ทางในการนำผลงานไปเฉิดฉาย และเข้าถึงตลาดสินค้าสร้างสรรค์ระดับนานาชาติต่อไปไม่เพียงเป็นเจ้าบ้านที่ต้อนรับนักสร้างสรรค์จากต่างแดนอย่างดี ล่าสุด ผลงานบางส่วนของอินเคลย์ สตูดิโอ และชามเริญ สตูดิโอ ยังได้รับการคัดเลือกโดย MUJI ประเทศไทย ไปพัฒนาเป็นสินค้าภายใต้โครงการ Found MUJI Thailand ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในร้านสาขาของ MUJI ที่ศูนย์การค้า One Siam กรุงเทพฯ และ MUJI Flagship Store ที่ Central Chiangmai Airport เชียงใหม่ ในเดือนพฤศจิกายนนี้
20 Sep BBBB
รู้จักตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเท่าทันโลกใน Co-Creative Workshop: Academic Program
“เมื่อเป็นเจ้าของแบรนด์ คุณไม่สามารถจำกัดตัวเองว่าจะเป็นแค่นักออกแบบหรือผู้ผลิตได้อย่างเดียว คุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจทุกอย่างที่หมุนรอบธุรกิจคุณ เข้าใจตัวเอง เข้าใจลูกค้า และเข้าใจเทรนด์ของโลกว่ากำลังเคลื่อนไปทิศทางไหน คุณไม่จำเป็นต้องทำได้ทุกอย่าง แต่ถ้าเข้าใจเรื่องเหล่านี้ คุณก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปถึงจุดที่คุณอยากให้เป็นได้” เอก-ศรัณญ อยู่คงดี นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ SARAAN กล่าวข้อความข้างต้น ตัดมาจากงานเสวนา Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable” ในหัวข้อ Business Model Canvas (BMC) for Creative Industries ที่ศรัณญเป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมกับ เมย์ – ธนิดา ดลธัญพรภคภพ ผู้ก่อตั้งตั้งแบรนด์ IRA Natural Product และ ปุ๊-สมภพ ยี่จอหอ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Doister (ดำเนินรายการโดย อรช บุญ-หลง)งานเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของ Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 23 กรกฎาคม 2567 โดย CEA เชียงใหม่ ร่วมกับ เมืองงาม ครีเอชั่น ซึ่งวิทยากรทั้ง 3 ท่านได้รับเชิญให้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างแบรนด์ และการขับเคลื่อนธุรกิจของตนเองให้กับเหล่านักศึกษาและกลุ่ม startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ เพื่อสกัดแนวคิดและประสบการณ์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแบรนด์ของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ต่อไป และต่อจากนี้คือบางส่วนของเสวนากระตุ้นไฟสร้างสรรค์ดังกล่าวเรื่องเล่าคือหัวใจสำคัญของงานสร้างสรรค์เอก-ศรัณญ อยู่คงดี เป็นนักออกแบบเครื่องประดับ ผู้เคยกวาดรางวัลการออกแบบชั้นนำทั้งระดับประเทศและนานาชาติมาแล้วมากมาย เขาก่อตั้ง SARAAN ในปี 2551 และใช้เวลาไม่นานในการสร้างชื่อเสียงระดับโลก ผ่านการนำเสนอเสน่ห์ของผู้หญิงและดอกไม้พื้นถิ่นของไทยอย่างวิจิตรและร่วมสมัย ผลงานของเขาเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าเซเลบริตี้ระดับโลกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น บียอนเซ่ (Beyonce) ริฮานนา (Rihanna) ไปจนถึง อลิเชีย คีส์ (Alicia Keys) ที่เคยใส่เครื่องประดับของเขาในงานเปิดศูนย์การค้า ICONSIAM และลิซ่า–ลลิษา มโนบาล ที่ใส่เครื่องประดับของเขาเข้าฉากในมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA เป็นต้นในงานเสวนา เอกบอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจเกี่ยวกับบทบาทของผู้หญิง และการลงลึกค้นคว้าในเรื่องที่สนใจ ก่อนจะพัฒนาออกมาเป็นงานออกแบบที่สะท้อนความเป็นตัวของตัวเอง เขาเล่าว่า กระบวนการค้นคว้าเชิงลึกในแพสชั่น (passion) ของตัวเองคือสิ่งสำคัญ เพราะนั่นจะทำให้เรารู้จัก ‘เรื่องเล่า’ ที่แฝงอยู่ในสิ่งที่เราจะออกแบบ “Storytelling คือเรื่องที่เราปฏิเสธไม่ได้ ขณะที่ SARAAN นำเสนอความพิถีพิถันของงานแฮนด์เมดเพื่อสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เรื่องเล่าที่มาพร้อมกัน จะช่วยสร้างคุณค่า และทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นมากกว่าแค่สิ่งของเพื่อการใช้งาน แต่เป็นสาส์นที่ใช้สื่อสารกับผู้คนและสังคมต่อไป” เอก กล่าวภาพถ่ายจาก https://www.instagram.com/sarranofficial/ เรื่องเล่าในผลงานของศรัณญ ครอบคลุมทั้งภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย วิถีอันสง่างามของผู้หญิง ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งเหล่านี้เมื่อมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์อันสดใหม่ จึงนำมาสู่อัตลักษณ์ไทยร่วมสมัยอันเปี่ยมเสน่ห์ และไม่เกินเลยที่จะบอกว่างานของเขาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) อันหลักแหลมของไทย เมื่อมันถูกเผยแพร่ และได้รับเสียงชื่นชมบนเวทีโลก“ผมสนใจในบทบาทและความงดงามของวิถีผู้หญิงไทย โดยตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้ ผมใช้แรงบันดาลใจนี้มาสร้างสรรค์งาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์ของโลก โดยเฉพาะความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ผู้หญิงไทยในมุมมองผม จึงไม่ใช่คนที่เอาแต่สวมชุดไทยและนั่งพับเพียบเรียบร้อย แต่เป็นผู้หญิงหัวสมัยใหม่ที่เท่าทันโลก และใส่ใจในความยั่งยืน” เอกยังเสริมอีกว่าการให้ความสำคัญกับอดีต การอยู่กับปัจจุบัน และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงในอนาคต จะทำให้เรื่องเล่าในผลิตภัณฑ์ของเรามีความเข้มแข็งและไม่ตกยุค และถึงแม้ผลงานของเขาอาจไม่ใช่งานอุตสาหกรรมที่รองรับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ เขาก็ยังเชื่อว่า เมื่อผลงานถูกเผยแพร่ออกไปผ่านสื่อและการบอกต่อ มันก็มีส่วนสร้างสุนทรียะและแรงบันดาลใจให้คนหมู่มากได้ “ผมคิดว่านักออกแบบ คนทำงานศิลปะ ไปจนถึงแบรนด์สินค้าเชิงสร้างสรรค์ มันมีส่วนทำให้โลกทุกวันนี้น่าอยู่มากขึ้นนะ ถ้าคนที่สนใจแบรนด์ของเราได้ทัศนคติแง่บวกต่อไปได้ นี่จะเป็นแรงขับในการใช้ชีวิต และส่งต่อพลังบวกออกไปสู่สังคมต่อไป” เอก กล่าวทิ้งท้ายPeople – Profit – Planetเริ่มต้นจากการที่ เมย์-ธนิดา ดลธัญพรภคภพ เป็นผู้บริโภคที่ตระหนักว่าสินค้าเครื่องสำอางอย่างลิปบาล์มและอื่น ๆ สร้างภาระให้ธรรมชาติทั้งจากกระบวนการผลิตและขยะจำนวนมาก อีกทั้งเธอยังพบว่าที่ผ่านมา อุตสาหกรรมความงามได้ผลิตขยะจากบรรจุภัณฑ์มากกว่า 120,000 ล้านชิ้นต่อปี เธอจึงคิดถึงวิธีการทำธุรกิจในสิ่งที่เธอชอบอย่างเครื่องสำอาง โดยหลีกเลี่ยงการซ้ำเติมภาระให้โลกมากไปกว่านี้ นั่นทำให้เธอคิดค้นลิปบาล์มออร์แกนิก ปลอดสารเคมี 100% ที่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ และปลอดกระบวนการที่สร้างภาระให้สิ่งแวดล้อม เธอเริ่มทดลองตลาดตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย และภายหลังที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก จึงยกระดับสินค้า และทำแบรนด์ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกในราคาที่คนไทยเอื้อมถึง เข้าวงการธุรกิจอย่างจริงจังหลังเรียนจบก่อตั้งในปี 2562 แบรนด์ IRA (ไอรา) ของเมย์มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า “โลกหรือผู้ดูแลโลก” ชื่อดังกล่าวสะท้อนจุดยืนอันเข้มข้นของแบรนด์ ทั้งกระบวนการผลิต และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษย่อยสลายได้แทนพลาสติก รวมถึงการเลือกใช้พลาสติก PCR (Post-Consumer Recycled Plastic) ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่จำเป็น ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ของ IRA ครอบคลุมตั้งแต่ลิปบาล์ม ลิปสครับ แป้งพัฟแบบรีฟิลที่ไม่ผสมทัลคัม (Talcum) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจผู้ใช้ สครับผิว และสเปรย์จัดแต่งทรงผม ทั้งหมดล้วนมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ซึ่งยังรวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ อย่าง ชุดช้อนส้อมที่ผลิตจากฟางข้าวสาลี และกระเป๋าเครื่องสำอางผ้าทอที่ผลิตด้วยศิลปินที่เป็นออทิสติก โดยทั้งหมดยังสะท้อนจุดยืน 3Ps (People, Profit และ Planet) ของแบรนด์ IRA อย่างชัดเจน “IRA ดำเนินธุรกิจภายใต้หลัก 3Ps คือ ผู้คน (people) ผลกำไร (profit) และโลกที่เราอาศัย (planet) เพื่อทำให้ธุรกิจนี้มีความยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เช่น กระเป๋าเครื่องสำอางที่เราร่วมกับ พิเศษพิสุทธิ์ (Piset Pisut) แบรนด์ไทยที่นำผ้าทอซาโอริจากเชียงใหม่มาเป็นวัตถุดิบ โดยมีน้อง ๆ ที่เป็นออทิสติกเป็นคนทอผ้า ราคาของสินค้าอาจสูงกว่าโรงงานทั่วไป แต่เมย์รู้สึกว่าทุกครั้งที่เราจ่ายเงินออกจะมีใครบางคนที่ได้ประโยชน์” เมย์ กล่าวภาพถ่ายจาก https://www.iranatural.com/ นอกจากนี้ IRA ยังทำงานร่วมกับแบรนด์ กอกก (Korkok) จากจันทบุรี ซึ่งเป็นแบรนด์ผลิตเสื่อกกโดยแม่ครูอาวุโสของชุมชน ซึ่งเมย์ได้นำผลงานทอกกของชุมชนมาทำเป็นกระเป๋า อีกด้วยไม่เพียงความคิดว่าจะทำผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อห่วงโซ่ของชุมชนและสิ่งแวดล้อม การทำการตลาดที่ให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า และการสร้างคอมมูนิตี้ก็เป็นเรื่องที่เมย์ยึดมั่นเรื่อยมานับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ จึงนำมาสู่กิจกรรม One Day with Ira ที่เมย์ชวนลูกค้ามาพบปะกันเดือนละครั้ง เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของผลิตภัณฑ์ร่วมกัน “เมย์มักพูดเสมอว่าเราไม่ได้เป็นคนคิดค้นสินค้า IRA เองเลย ลูกค้าต่างหากที่คิดให้ทั้งหมด และเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ลูกค้าเราน่ารักมากที่เราสามารถโทรไปคุยเป็นชั่วโมง เพื่อรับฟังคำแนะนำอย่างจริงใจ เรียกว่าเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งเลย นั่นทำให้เรากล้าที่จะส่งตัวอย่างสินค้าที่ยังไม่วางจำหน่ายไปให้ทดลองใช้ และขอฟีดแบ็คเช่นเดียวกัน เราวางทิศทางของแบรนด์ให้เป็นเหมือนเพื่อนของผู้บริโภค แลกเปลี่ยน รับฟัง และนำไปพัฒนาต่อ อาจเป็นแนวทางหนึ่งให้คนที่สนใจทำธุรกิจนำไปปรับใช้ได้” เจ้าของแบรนด์เครื่องสำอางที่ล่าสุดเพิ่งได้รับรางวัล Marketing Leader of The Year (Silver) จาก Marketing Excellence Awards 2023 กล่าวทิ้งท้ายธุรกิจบนสะพานเชื่อมความยั่งยืนปิดท้ายที่ Doister ของ ปุ๊ – สมภพ ยี่จอหอ แบรนด์ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งนักพัฒนาและผู้ประกอบการเชื่อมคนในเมืองให้เข้าถึงคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ของชาวชาติพันธุ์บนดอย รวมถึงการท่องเที่ยวโดยชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยเชื่อว่าอัตลักษณ์จากวิถีชาติพันธุ์ก็มีความเฉียบเท่ได้ จึงนำมาสู่การตั้งกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม Doister (ดอยสเตอร์) ซึ่งเกิดจากการผสมคำระหว่าง ‘ดอย’ และ ‘ฮิปสเตอร์’ ที่เป็นนิยามเรียกกลุ่มคนทันสมัยในช่วงที่ธุรกิจนี้ก่อตั้ง (ปี 2559) ควบคู่ไปกับการสร้างแพลตฟอร์มนักสื่อสารเรื่องคนบนดอยให้คนในเมือง อีกหนึ่งโครงการที่ปุ๊นำมาแบ่งปันในงานเสวนาฯ คือธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากชาวชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากที่เขาอยากส่งเสริมผ้าทอที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชนปกาเกอะญอแห่งบ้านห้วยตองก๊อ ตำบลห้วยปูลิง (อำเภอเมือง) และชุมชนเลอเวือะแห่งบ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ (อำเภอแม่สะเรียง) ซึ่งเขาพบข้อจำกัดในการผลิตเป็นสินค้า รวมถึงรูปแบบที่ไม่ได้เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ เช่น สีย้อมผ้าเป็นสีที่สกัดจากพืชพันธุ์ในป่า ซึ่งไม่ได้มีผลผลิตเพื่อนำมาทำสีได้ทุกฤดูกาล เขาและทีมงาน Doister จึงหาวิธีผสานเทคนิคสมัยใหม่ เพื่อยกระดับสินค้าให้มีความคงทน ยั่งยืน และสอดรับกับรสนิยมของคนในเมือง พร้อมทั้งเปิดตลาดให้กับสินค้าจากสองชุมชนเข้าถึงผู้คนในเมือง โดยยังคงรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ภาพถ่ายจาก https://www.facebook.com/doisterwannabe/?locale=th_TH ทั้งนี้ Doister หาได้เพียงแต่เข้ามาช่วยชุมชนในการพัฒนาสินค้าและการทำการตลาด แต่ยังรวมถึงการยกระดับทรัพยากรบุคคล ผ่านการสนับสนุนให้ชาวบ้านในชุมชนมีบทบาทเป็นพ่อครู-แม่ครู สอนการย้อมผ้า เพื่อสืบสานภูมิปัญญาให้คนรุ่นใหม่ รวมถึงการสื่อสารเรื่องราวออกไปในวงกว้างผ่านสื่อดิจิทัลและสิ่งพิมพ์ (หนังสือภาพ) เพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และผลิตภัณฑ์ “ผมเป็นคนเจนเอ็กซ์ บางมุมมองก็อาจไม่ได้ตรงกับคนรุ่นใหม่นัก แต่ผมเชื่อว่าความต่อเนื่อง หรือ Consistency คือสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะกับงานสื่อสารและการเป็นตัวกลางของธุรกิจชุมชนที่ทำอยู่ ซึ่งต้องอาศัยการยืนระยะเพื่อสร้าง brand awareness ให้ผู้บริโภค “แน่นอน ในหลายธุรกิจ เราอาจเน้นการทำให้เร็ว ทำให้ไว แต่บางเรื่อง คุณอาจต้องอาศัยเวลาในการลองผิด ลองถูก เรียนรู้จากบทเรียนที่เราได้รับ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ ขณะเดียวกันก็พร้อมปรับตัว หรือปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพร้อมกัน” ปุ๊ กล่าวนอกจากนี้ ปุ๊ยังทิ้งท้ายว่า ถึงแม้การสร้างแบรนด์จากตัวตนของนักสร้างสรรค์เป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะเดียวกัน การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการส่งต่อบทบาทสำคัญให้คนรุ่นใหม่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม “จริงอยู่ที่ brand personal เป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภค แต่ในทางกลับกัน เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจไม่ได้ทันโลกไปเสียหมด แบรนด์จึงไม่ควรติดยึดกับตัวบุคคล แต่ต้องเชื่อมโยงกับความต้องการของยุคสมัย ผ่านภาพลักษณ์ที่ชัดเจนที่เราได้สร้างไว้ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นอีกวิธีที่จะทำให้แบรนด์ของเรามีความยั่งยืนทางธุรกิจ”Co-Creative Workshop: Academic Program กิจกรรมพัฒนาและส่งเสริมวิชาชีพแรงงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สำหรับนักศึกษาและผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น ด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน กิจกรรมประกอบด้วยการเสวนาและเวิร์กช็อปการพัฒนาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้า ร่วมกันระหว่างนักเรียน – startups รุ่นใหม่ในเชียงใหม่ กับผู้ประกอบการสร้างสรรค์มากประสบการณ์ระดับประเทศ พร้อมทั้งการเสวนา (Talk Series: “Creative, Design, Technology, and Sustainable”) ที่ช่วยกระตุ้นมุมมองของเหล่านักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ และเสริมความเข้าใจในด้านการประกอบธุรกิจ โดยผลลัพธ์ของกิจกรรมนี้ ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ การบริการ และโมเดลธุรกิจ จะถูกนำเสนอเป็นหนึ่งในนิทรรศการของเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่อาคาร TCDC เชียงใหม่
19 Sep BBBB
ทำตลาดชั่วคราวอย่างไรให้ยั่งยืน สำรวจแนวคิดธุรกิจหมุนเวียนใน POP MARKET
ไม่เพียงแค่นิทรรศการ เวิร์กช็อป และกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) ที่นำเสนอแนวคิด “SCALING LOCAL: Creativity, Technology and Sustainability” ซึ่งเป็นธีมหลักในปีนี้ แนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ยังปรากฏในกิจกรรมออกร้านอย่าง POP Market ตลาดสุดชิคจากผู้ประกอบการสร้างสรรค์ทั่วภาคเหนือ ในขณะที่ POP Market คือตลาดนัดที่จัดขึ้นปีละครั้งในช่วงเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตลาดชั่วคราวนี้สอดรับไปกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงสินค้าที่จำหน่าย แต่ยังรวมถึงวัสดุตั้งร้าน การประหยัดพลังงาน ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ และการจัดการขยะ รวมถึงส่งต่อแนวคิดดังกล่าวสู่ผู้มาร่วมงานอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา CEA เชียงใหม่ ได้ร่วมกับกลุ่มสมดุล เชียงใหม่ (Somdul Chiang Mai) จัดเวิร์กช็อป POP Market’s Vendor’s Training Program ชวนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ที่ได้รับการคัดเลือกออกร้านใน Pop Market ปีนี้ กว่า 130 ราย (ครอบคลุมตั้งแต่แบรนด์ผลิตภัณฑ์ประเภทไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน เครื่องประดับ แฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม) มาร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กับ กมลนาถ องค์วรรณดี จาก นักออกแบบ วิทยากร และที่ปรึกษาธุรกิจด้านแฟชั่นยั่งยืนจาก CIRCO Circular Design Trainer และสิทธิชาติ สุขผลธรรม ที่ปรึกษาและนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จาก CREAGY เพื่อหาแนวทางขับเคลื่อนตลาด POP Market ด้วยมิติของความยั่งยืนอย่างแท้จริง โปรแกรมแบ่งออกเป็น 2 วัน ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจในธุรกิจหมุนเวียนเชิงลึก โดยมีกมลนาถมาบรรยายในหัวข้อ ‘ความสำคัญของการออกแบบเพื่อความยั่งยืนในธุรกิจสร้างสรรค์ และการสื่อสารคุณค่าด้านความยั่งยืนสู่ผู้บริโภค’ และส่วนที่ 2 ‘การบัญชีคาร์บอน / การคำนวณ Carbon Footprint เบื้องต้น’ ที่สิทธิชาติชวนผู้ร่วมงานเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีคาร์บอนเบื้องต้น และทดลองให้ผู้ร่วมงานคำนวนบัญชีคาร์บอนจากธุรกิจของตัวเอง กมลนาถเริ่มต้นบรรยายถึงความสำคัญของการทำธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดด้านความยั่งยืน ซึ่งหาใช่เพียงเป็นเทรนด์ของโลกที่ไม่มีทางจะหายไปง่าย ๆ แต่มันยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์สินค้าของผู้ประกอบการรายย่อยให้มีความโดดเด่นและน่าดึงดูด รวมถึงสามารถรับมือกับการแข่งขันด้านราคากับสินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในบ้านเราอย่างหนักหน่วงในปัจจุบัน “ปัจจุบันการนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าผ่าน storytelling เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันทำให้สินค้าเราแตกต่างจากท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นที่มาของวัสดุ ความเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงกระบวนการผลิต การใช้งาน และการจัดการหลังจากสินค้าถูกใช้ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อโลก เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงสร้างคุณค่าแต่ยังเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเราได้” กมลนาถ กล่าว ขณะที่สิทธิชาติเล่าถึงความสำคัญของการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ไม่จำเป็นว่าเราต้องเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ หากความเข้าใจในเรื่องนี้ยังช่วยให้เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กสามารถประหยัดต้นทุนการผลิต และมองเห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนในการดำเนินธุรกิจของแบรนด์อย่างรอบด้าน “การคำนวณคาร์บอน คือการคำนวณพลังงานที่เราใช้ในการทำกิจกรรมในแต่ละวัน ซึ่งอย่าลืมว่า พลังงานคือต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าไฟฟ้า หรือค่าแก๊สหุงต้ม ถ้าเรารู้ว่าเราใช้พลังงานไปมากน้อยอย่างไร คุณก็สามารถควบคุมต้นทุนที่ไม่จำเป็นได้ คือไม่ถึงกับต้องเร่งเปลี่ยนอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มันประหยัดพลังทั้งหมดก็ได้ แค่พิจารณาว่าในแต่ส่วนของธุรกิจเรามันมีตรงไหนที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุบ้าง แล้วค่อย ๆ ปรับแก้กันไป” สิทธิชาติ กล่าว กมลนาถยังเสริมอีกว่าในอนาคตองค์ความรู้เรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้ประกอบการรายย่อยอีกต่อไป เพราะปัจจุบันกลไกของภาครัฐอย่าง การเก็บภาษีคาร์บอน หรือมาตรการ ESPR (ระเบียบว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนของสหภาพยุโรป) เริ่มนำมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งจะส่งผลถึงธุรกิจขนาดกลางและเล็กต่อมาตามลำดับ “โลกกำลังต้องการวัตถุดิบ สินค้า และบริการที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือคาร์บอนต่ำอย่างมาก โดยเฉพาะกับนโยบายจัดซื้อสีเขียวของภาครัฐ ที่จะมากระตุ้นอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืน “ดังนั้นการปรับตัวนำแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้ในธุรกิจไว้ก่อนย่อมดีกว่าเพราะเมื่อโอกาสมาถึงเราจะพร้อม และยังสามารถใช้แนวทางการดำเนินกิจการด้วยความยั่งยืนเป็นแต้มต่อ ผ่านการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เป็นหัวใจของการประชาสัมพันธ์สินค้า ไปจนถึงการพาผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ตลาดสากลที่กำลังให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้ได้ง่าย” กมลนาถ กล่าว ควบคู่ไปกับการแนะนำแบรนด์สินค้าและบริการขนาดย่อม ที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของความยั่งยืนทั้งไทยและต่างประเทศ ซึ่งต่างประสบความสำเร็จจากการหาช่องว่างทางการตลาดที่มีอยู่ในปัจจุบันได้ กมลนาถยังยกตัวอย่างโมเดลของการทำตลาดนัดหรือตลาดชั่วคราวที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น Bamboo Family Market (เปิดทุกวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. บริเวณแยกหลุยส์ อำเภอสันกำแพง เชียงใหม่) ผู้จัดตลาดฯ ที่พยายามปลูกฝังสำนึกด้านความยั่งยืนผ่านผู้ขายไปยังผู้ซื้อ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการขายสินค้าท้องถิ่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ กลไกการลดขยะที่คิดแต่ต้นทาง โดยขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมทั้งมีจุดล้างภาชนะ และการแยกขยะที่ชัดเจน และ Green Market (ภายในเทศกาล Cry Mate ที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2567) ที่ให้บริการ Ecocrew สำหรับให้ผู้ซื้อเช่าภาชนะบรรจุอาหาร เพียงลูกค้าจ่ายเงินมัดจำค่าภาชนะ 20 บาท และจ่ายค่าชาม/จานมาใช้ใส่อาหารในงานอีก 5 บาท โดยเมื่อลูกค้านำภาชนะเหล่านี้ไปซื้ออาหาร ทางร้านก็จะลดราคาให้ 5 บาท เป็นการชดเชยค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าเสียไปตอนต้น และเมื่อนำภาชนะกลับมาคืนที่จุดรับก็ได้เงินมัดจำ 20 บาทคืน ลูกค้าจึงไม่ต้องแบกต้นทุนค่าภาชนะ ขณะที่ โลกก็ไม่จำเป็นต้องแบกขยะที่ย่อยสลายได้ยากเพิ่มขึ้นอีกจากตลาดแห่งนี้ “เราว่าเชียงใหม่และหลาย ๆ เมืองในภาคเหนือมีรากฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำสินค้าหัตถกรรมจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียน การเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ชั้นนำ รวมถึงการเกื้อหนุนทรัพยากรภายในชุมชน เหล่านี้คือแต้มต่อที่ดีในการทำพื้นที่การขายให้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน“แม้ตัวอย่างของการบริหารจัดการวัสดุและขยะเหลือใช้ในตลาดสองแห่งที่ยกมาอาจฟังดูยุ่งยากทั้งในมุมของผู้ซื้อและผู้บริโภค แต่มันก็ช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับตลาดเหล่านี้อย่างมาก รวมถึงยังเป็นการส่งต่อสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้แก่ผู้ซื้อออกไปอีกเช่นกัน” กมลนาถ กล่าว นอกจากนี้ สิทธิชาติยังเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้รับจากการกำหนดทิศทางธุรกิจให้สอดรับกับความยั่งยืน โดยชี้ให้เห็นว่า เมื่อผู้ประกอบการตระหนักในเรื่องนี้ ธุรกิจจะไม่ได้จำกัดผู้เล่นเพียงแค่ ‘ผู้ซื้อ’ และ ‘ผู้ขาย’ แต่ยังให้ความสำคัญปังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดด้วย สิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองของเจ้าของกิจการ ทำให้มองเห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน รวมถึงข้อมูลและตัวแปรอีกมากมายสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจของเรา “อย่าลืมว่าผู้ประกอบการรายย่อยและ ผู้บริโภค คือประชากรส่วนใหญ่ของระบบเศรษฐกิจบนโลกใบนี้ ถ้าผู้ขายสามารถส่งต่อคุณค่าด้านความยั่งยืนให้กับผู้ซื้อได้ มันก็จะส่งผลต่อเนื่องถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทุกคน ผมจึงคิดว่าคนตัวเล็ก ๆ อย่างเราเนี่ยแหละคือพลังสำคัญที่ทำให้โลกเราดีกว่านี้ได้” สิทธิชาติ กล่าวทิ้งท้าย เหล่านี้คือผลลัพธ์บางส่วนจากมุมมองของสองนักเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน ซึ่งแน่นอนว่าบางส่วนของความคิดจะปรากฏเป็นรูปธรรมภายในงาน POP Market เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ปีนี้ แล้วมาพบกันที่ย่านกลางเวียงเชียงใหม่ 7 – 15 ธันวาคม 2567 มาร่วมช้อปปิ้งสินค้าสร้างสรรค์ พร้อมกับส่งต่อแนวคิดรักษ์โลกไปด้วยกัน
07 Sep BBBB